
เรื่องของพิษ "ภาษีทรัมป์" ที่กำลังสร้างความระส่ำต่อเศรษฐกิจและทิศทางการค้าโลกอย่างรุนแรงอยู่ในขณะนี้ ยังคงเป็นที่จับตาของทุกประเทศอย่างใกล้ชิด!
….
ยิ่งใกล้กำหนดเส้นตายวันที่ 1 สิงหาคม 2568 ที่ประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์" ส่งจดหมายน้อยไปยังคู่ค้าทั่วโลกนับ 100 ประเทศ แจ้งอัตราภาษีที่จะเรียกเก็บจากสินค้าที่ส่งมาจากประเทศเหล่านั้น รวมทั้งประเทศไทย เพื่อให้ประเทศเหล่านั้นรีบเข้ามาเจรจาจัดทำความตกลงร่วมกันใหม่ หาไม่แล้วก็จะถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าสุดโหดตามที่ผู้นำสหรัฐฯ ยื่นโนติ๊สไปก่อนหน้า ก็ยิ่งทำให้ทุกประเทศต้องดิ้นรน หาทวงเจรจาให้ตนเองได้รับผลกระทบ "น้อยที่สุด"

ล่าสุด เพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างเวียดนาม และอินโดนีเซีย ต่างพกพาความสำเร็จในการเจรจา กับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ หรือ "ยูเอสทีอาร์" จนได้ข้อสรุปถึงอัตราภาษีที่จะถูกเรียกเก็บ โดยเวียดนามจะถูกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 20% แลกกับการเปิดตลาดสินค้าเกษตรให้กับอเมริกาอย่างไม่มีข้อแม้
ขณะที่อินโดนีเซียจะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 19% แลกกับการที่อินโดนีเซียต้องเปิดตลาดนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ มูลค่าไม่ต่ำกว่า 4,500 ล้านดอลลาร์ หรือ 164,250 ล้านบาท และต้องซื้อสินค้าในกลุ่มพลังงาน คิดเป็นมูลค่ากว่า 15,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 547,500 ล้านบาท
ทั้งยังต้องซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 50 ลำ จากสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่ากว่า 18,750 ล้านเหรียญ หรือกว่า 684,375 ล้านบาท รวมแล้วอินโดฯ ต้องซื้อสินค้าจากสหรัฐคิดเป็นมูลค่ารวมไม่น้อยกว่า 1,396,125 ล้านบาท
ส่วนไทยเราที่โดนสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 36% สูงที่สุดในภูมิภาคนั้น คณะทำงานเจรจาฝั่งไทยก็กำลังดิ้นสุดขั้ว เพื่อหาทางเจรจาปรับลดภาษีที่ว่านี้ลง โดยมีรายงานจนถึงขนาดที่ว่าหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทยได้ยื่นข้อเสนอที่จะเปิดตลาดและปรับลดภาษีให้แก่สินค้านับหมื่นรายการจากสหรัฐฯ กันเลยทีเดียว
ท่ามกลางกระแสคัดค้านจากภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะในภาคเกษตร ประมง และปศุสัตว์ ที่คาดว่าจะเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดหากต้องเปิดตลาดนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ
แต่ไม่ว่าเราจะ "เซย์ Yes" หรือ "เซย์ NO" ไม่รับเงื่อนไขจากสหรัฐฯ ยังไง ก็โดนหนัก "ทั้งขึ้น -ทั้งล่อง" เพราะหนทางในอันที่จะให้สหรัฐฯ ปรับลดภาษีนำเข้าให้แก่สินค้าไทยลงไปเหลืออยู่ 20-25% เช่นเพื่อนบ้านสองประเทศข้างต้น ล้วนส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ขณะที่ภาคการส่งออกที่ต้องเผชิญขีดความสามารถในการแข่งขันจากการขึ้นภาษีนั้น ไม่ว่าอัตราภาษีที่สหรัฐฯ จะเรียกเก็บในท้ายที่สุดจะเป็นเท่าใด 20-25-30-36% ไม่เพียงจะทำให้ผู้บริโภคในสหรัฐฯ เองได้รับผลกระทบจนอาจส่งผลให้ลดปริมาณการสั่งซื้อลง การแข่งขันระหว่างผู้ผลิตทั่วโลก การโดนพิษภาษีนำเข้าจากทรัมป์ข้างต้น ยังจะทำให้สินค้าเหล่านี้มีโอกาสทะลักไปยังประเทศที่ตั้งรับไม่ได้ รวมทั้งประเทศไทยเราเอง
มีการคาดการณ์กันในวงกว้างว่า อาจถึงขั้นทำให้เกษตรกรบางภาคของไทยอาจย่อยยับ ถึงขั้นต้องเลิกประกอบอาชีพเกษตรกรหรือปศุสัตว์กันไปเลยก็มี
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร พิษภาษีทรัมป์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ไทยเรามีโอกาสโดนทั้งขึ้น-ทั้งล่อง เพราะอย่างที่ทุกฝ่ายรู้สาแก่ใจ "เรากำลังเจรจากับคนบ้าดีเดือด" ที่ไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมใดๆ
หากจะถามว่า แล้วเราควรจะแสดงจุดยืนอย่างไรบนสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ จะเล่นไปตามเกมที่สหรัฐฯ ขีดเส้นให้ต้องเดินไปนี้ หรือลุกขึ้นมาแข็งขืน
อย่างที่กล่าวตั้งแต่ต้น ต่อให้เราเดินตามหมากที่สหรัฐฯ วางไว้ สุดท้ายยังไงประเทศไทยก็โดน "ทั้งขึ้น-ทั้งล่อง" อยู่ดี ภาคส่งออกยังไงก็มีแต่ "หืดจับ หายใจไม่ทั่วท้อง" หนทางที่จะกอบกู้ส่งออกให้กลับไปยืนในระดับใกล้เคียงตัวเลขส่งออกเดิมในอดีตนั้นสุดริบหรี่เต็มทน
ขณะที่การเปิดตลาดที่เราหยิบยื่นให้สหรัฐฯ ไป ก็คงจะทำให้ภาคเกษตร เกษตรแปรรูป ปศุสัตว์ และระบบห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้อง พลอย "ล้มทั้งยืน-พังครืน" กันไปเป็นแถบ

แล้วเหตุใดเราจึงไม่เลือกยืนบนชะตากรรมตนเอง เลือกรับแรงกระแทกเพียงด้านใดด้านหนึ่ง ส่งจดหมายน้อยตอบกลับไปยังสหรัฐฯ ชี้แจงกลับไปว่า รัฐบาลไทยได้ดำเนินมาตรการอย่างถึงที่สุดให้แก่สหรัฐฯ ตามที่เรียกร้องแล้ว เราได้ยื่นข้อเสนอที่แทบจะทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้ ประเทศแทบจะลุกเป็นไฟแล้ว
หากท้ายที่สุดมหามิตรสหรัฐฯ ยังคงยืนกรานที่จะจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในอัตรา 36% อยู่ต่อไป ไทยเราก็คงได้แต่ "น้อมรับ" ในชะตากรรมที่ได้รับจากมหามิตร และคงได้แต่แสดงความเสียใจในสิ่งที่พันธมิตรและมหามิตรมะกันปฏิบัติต่อไทยเรา ทั้งที่เรามีความสัมพันธ์ต่อกันมาอย่างเนิ่นนาน
และเราคงจะพิจารณาทบทวนบรรดาข้อตกลงทางการค้า และความร่วมมือด้านต่างๆ ที่เคยมีอยู่กับสหรัฐฯ ทั้งหมด เพื่อหาทางคลี่คลายความเดือดร้อนที่ภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการของไทยได้รับ
และหากจะมีมิตรประเทศใดหยิบยื่นโอกาส และความร่วมมือทางการค้า การลงทุนที่ดีต่อประเทศไทยเช่นที่สหรัฐฯ เคยให้แก่ไทยเรา เราก็คงพร้อมที่จะบ่ายหน้าร่วมจัดทำข้อตกลงทางการค้า การลงทุนกับมิตรประเทศ หรือคู่ค้าดังกล่าวโดยไม่รีรอ
และควรระบุไปเลยว่า ไทยเราจะเฝ้ารอจนถึงวินาทีสุดท้ายว่า มหามิตรสหรัฐฯ จะไม่เหลือเยื่อใยอะไรต่อไทยแล้วจริงๆ หรือไม่?
และหากท้ายที่สุดสินค้าจากประเทศจะต้องถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูงลิ่วถึง 36% อยู่ต่อไปในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ ไทยเราคงต้องขอแจ้งมายังมหามิตรมะกันว่า เราคงต้องพิจารณาทบทวน อัตราภาษีนำเข้าสินค้าต่างๆ จากสหรัฐฯ ตามความจำเป็นที่จะพึงมี....อะไรก็ว่าไป

มันต้องเดินหมากไปหนทางนี้เท่านั้นครับ แบบที่ประเทศจีน บราซิล สหภาพยุโรป หรืออินเดีย และอีกหลายประเทศที่ต่างแสดงจุดยืนอันแข็งกร้าวกันไปแล้ว โดยทุกประเทศเหล่านี้ต่างพร้อมที่จะยืนเคียงบ่าเคียงไหล่และหันไปทำความตกลงทางการค้าระหว่างกันในโอกาสต่อไปแทน หากท้ายที่สุดถูกมหามิตรมะกันหักหลัง
ไหนๆ ก็ต้อง "ตายหยังเขียด" กันอยู่แล้ว ก็ต้องพร้อมลุกขึ้นซัดกลับและเปลี่ยนขั้วเปลี่ยนข้างกันไปเลย จริงไม่จริง!!!!
แก่งหิน เพิง