ไม่เพียงร้านรวง ขายส่งเสื้อผ้าย่านประตูน้ำและแพลตตินั่ม ที่ต้องปิดตัวลง จากผลกระทบของวิกฤตไวรัสสูบนรก โควิด-19
ตรงกันข้าม หลายสิบหลายร้อยร้านค้าส่งเสื้อผ้าที่ขึ้นชื่อว่า เป็นแหล่งใหญ่สุดของภูมิภาคนี้ ต่างขึ้นป้าย "เซ้งกิจการ" หรือให้เช่ากันเป็นทิวแถว ที่สายป่านสั้นหน่อยก็จำเป็นต้องแพ็คกระเป๋ากลับบ้าน
ขณะที่กลุ่มธุรกิจการบินดูจะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบหนักสุด โดยไม่เพียงแต่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ต้อง "ล้มทั้งยืน" จนต้องสิ้นสภาพความเป็นสายการบินแห่งชาติไป โดยที่ยังคงต้องจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ-ผ่าตัดองค์กรและเลิกจ้างพนักงานกันครั้งใหญ่
อีกธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องที่ต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวเป็นหลัก ที่กำลังหืดจับหายใจไม่ทั่วท้อง นับถอยหลังจ่อเจริญรอยตามการบินไทยอยู่ในเวลานี้ก็คือ..ธุรกิจร้านปลอดภาษี Duty free ของเจ้าพ่อดิวตี้ฟรี "คิงพาวเวอร์"..
แม้ที่ผ่านมา กลุ่มคิงพาวเวอร์จะกัดฟันแจ้งต่อรัฐบาลว่า พร้อมให้ความร่วมมือกับนโยบายของ "บิ๊กตู่ - พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา" ในการดูแลพนักงาน ร้านค้าในเครือข่าย ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 อย่างเต็มกำลัง โดยจัดแพ็คเกจดูแลพนักงาน และคืนกำไรสู่สังคมนับ 10 รายการ
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่ทอดยาวมากว่า 5 เดือน และยังคงไม่มีทีท่าว่า จะคลี่คลายลงเมื่อใดนั้น ปริมาณนักท่องเที่ยวที่หายไป และโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน ซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวลูกค้าหลักของธุรกิจ duty free นั้น.. "ผลจากที่นักท่องเที่ยวหายไปตลาดเมืองไทยตลอดช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ Duty Free ของยักษ์คิงพาวเวอร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
นัยว่า เฉพาะ King Power รางน้ำอันเป็นฐานที่มั่นใหญ่ของกลุ่มที่เคยมียอดขายสูงถึงวันละ 50 ล้านบาทนั้น ในช่วงหลายเดือนมานี้ กลับมียอดขายเหลืออยู่เพียง 30,000- 50,000 บาทต่อวันเท่านั้น ส่อทำให้กลุ่มคิงพาวเวอร์ไม่อาจจะกัดฟัน ประคองธุรกิจต่อไปได้
ล่าสุดจึงมีกระแสสะพัดว่า..”ผู้บริหารคิงพาวเวอร์ได้เขิญบรรดาพันธมิตรทั้งผู้ประกอบการ รถทัวร์ และรถตู้รับ-ส่งผู้โดยสารนักท่องเที่ยวมาประชุมร่วม เพื่อแจ้งให้ทราบถึงความจำเป็นในการที่บริษัทจะต้องปิดการให้บริการร้านปลอดอากรนอกสนามบินสาขาต่างๆ อย่างไม่มีกำหนด”
ทั้ง King Power รางน้ำอันเป็นฐานที่มั่นของสำนักงานใหญ่ King Power พัทยา คิงเพาเวอร์มหานคร และโดยเฉพาะคิงพาวเวอร์ศรีวารีคอมเพล็กซ์ อภิมหาร้านปลอดภาษีที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากไม่สามารถจะแบกรับภาระได้อีกแล้วจากการที่ไร้นักท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม ทางสำนักข่าวเนตรทิพย์ยังไม่ได้รับการยืนยันถึงข่าวดังกล่าว
ผลกระทบจากการที่ยักษ์ดิวตี้ฟรีเมืองไทยต้องหยุดให้บริการร้านดิวตี้ฟรีนอกสนามบิน ยังคงเหลือแต่การให้บริการ Duty Free ภายในสนามบินเท่านั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า ย่อมต้องส่งผลกระทบในวงกว้างไปยังผลประกอบการของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ตามมาอย่างแน่นอน
แม้ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการ และฝ่ายบริหาร AOT จะประสานเสียงไฟเขียวมาตรการเยียวยา ผลกระทบจากวิกฤตไวรัส covid-19 ให้แก่กลุ่มคิงพาวเวอร์ไปตั้งแต่ไก่โห่ ยังไม่ทันที่จะได้เห็นผลกระทบในวงกว้าง
จนถูกหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตมีการเอื้อประโยชน์กันเกินไปหรือไม่?
แต่เมื่อ ธุรกิจ Duty Free ต้องมาเจอวิกฤติ "ของจริง" จากวิกฤตินักท่องเที่ยวและไวรัสโควิด 19 ที่ยังคงไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายลงในระยะ 6 เดือนถึง 1 ปีจากนี้
ก็เห็นทีมาตรการเยียวยาที่ AOT ประเคนให้ไปแต่ไก่โห่ก่อนหน้านี้ อาจจะไม่เพียงพอเสียแล้ว!!!