กทม. ยังดิ้นสุดขั้ว หวังดันโครงการท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน มูลค่า 27,000 ล้านบาท อ้างยังไร้หน่วยงานเจ้าภาพที่ชัดเจน ทั้งที่บอร์ดดีอีดับฝัน โยนให้ "ดีอีเอส กสทช." และ2 รสก.ทีโอที-แคทร่วมกันจัดระเบียบสายสื่อสารทั่วประเทศไปแล้ว
โดยเว็ปไซด์ของบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) วิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้แพร่รายละเอียดโครงการท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน โดยระบุว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีระบบสาธารณูปโภคอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นทรัพย์สินของกรุงเทพมหานคร และที่เป็นของหน่วยงานสาธารณูปโภคอื่น อาทิ สายไฟฟ้า สายสื่อสาร ฯลฯ
โดยระบบสาธารณูปโภคจำพวกสายสื่อสาร มีจำนวนสายโดยรวมรกรุงรังมากมาย มีการต่อสาย และแยกสายสื่อสารอย่างไม่เป็นระเบียบ สายสื่อสารที่ไม่ได้ใช้งานแล้วยังคงถูกแขวนไว้เสมือนไม่มีมาตรฐานการติดตั้ง ส่งผลต่อภูมิทัศน์จนกลายเป็นทัศนอุจาดของเมือง ทำให้ภูมิทัศน์ถนนรกรุงรังไม่สวยงาม รวมทั้งมีผลต่อความปลอดภัยของประชาชน รวมถึงประสิทธิภาพการใช้งานสายสื่อสารทำให้เกิดความสิ้นเปลืองไม่คุ้มค่า กรุงเทพมหานคร จึงได้มอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ดำเนินภารกิจนี้ให้สำเร็จโดยเร็ว
ขณะที่ พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า กทม. ยังคงเดินหน้าโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินตามเจตนารมณ์ต่อไป เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีความชัดเจน ถึงการมีอยู่ของท่อร้อยสายสื่อสาร ทั้งจำนวนท่อร้อยสายสื่อสารว่ามีอยู่ จำนวนเท่าไร ในเส้นทางใดบ้าง และมีสภาพที่สามารถใช้งานได้หรือไม่ ที่สำคัญปัญหาสายสื่อสารไม่ได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานเจ้าของระบบสาธารณูปโภคอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ประชาชนได้รับอันตรายตามที่ปรากฏในสื่อต่างๆ ซึ่งบางครั้งรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตก็มี
ด้วยเหตุนี้ กทม. จึงได้เสนอโครงการวางท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) เพื่อพิจารณาเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2561 ซึ่งก็เห็นชอบให้ กทม. ดำเนินการก่อสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินดังกล่าว โดย กทม. ได้มอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) วิสาหกิจในกำกับเป็นผู้ดำเนินการ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 ม.ค.62 ได้รับทราบมติบอร์ดดีอีในการมอบหมายให้ กทม. เป็นผู้ดำเนินการได้ตามอำนาจหน้าที่
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคม ได้ตั้งข้อสังเกตถึงความล้มเหลวในการจัดระเบียบสายสื่อสารในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลว่า เหตุที่โครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินล่าช้า จนกลายเป็นปัญหาอิรุงตุงนังนั้น ก็เพราะ กทม. เองที่ขออนุมัติดำเนินโครงการนี้แต่แรก ไม่ได้ดำเนินการลงทุนเองตามที่ขออนุมติจากบอร์ดดีอี แต่กลับจะ "เซ็งลี้" โครงการออกไปให้บริษัทกรุงเทพธนาคม (KT) และบริษัทสื่อสารรายหนึ่งเข้ามา "กินรวบ" โครงการทั้งหมดไปให้บริการแทน แถมโขกค่าบริการสูงลิบลิ่ว จนถูกผู้ใช้บริการหรือโอปอเรเตอร์ที่ต้องถูกบีบให้มาเช่าใช้ท่อร้อยสายร้องแรกแหกกระเชอ และถูก กสทช. กระตุกเบรกหัวทิ่ม ทำให้โครงนี้ต้องคาราคาซังมากระทั่งวันนี้
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด บอร์ดดีอีที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา เพิ่งจะอนุมัติให้บริษัททีโอที เป็นผู้ดำเนินโครงการท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินในเขต กทม.และปริมณฑล เพื่อป้องกันการทุจริต ตามรายงานผลศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เห็นว่า กทม.และบริษัทกรุงเทพธนาคม ไม่มีขีดความสามารถในการลงทุนและบริหารโครงการนี้ เพราะ กทม. และกรุงเทพธนาคมยังต้องให้ กสทช. นำเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) มาสนับสนุนการก่อสร้างให้ แต่ยังคงคิดค่าบริการในอัตราที่สูงโดยไม่ยอมลดค่าบริการให้กับผู้เช่าใช้ แสดงให้เห็นว่า กทม. และกรุงเทพธนาคม ไม่มีขีดความสามารถที่จะบริหารโครงการได้ จึงเห็นว่ากระทรวงดีอีเอสและทีโอทีมีความเหมาะสมที่จะดำเนินโครงการดังกล่าว
นอกจากนี้ บอร์ดดีอียังมอบหมายให้ กระทรวงดีอีเอส และ กสทช. ร่วมกับ 2 รัฐวิสาหกิจ คือ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)และ กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ร่วมกันกำหนดแผนก่อสร้างท่อร้อยสายสื่อสาร และจัดระเบียบสายสื่อสารทั่วประเทศอีกด้วย โดยให้ กสทช. เร่งประสานกับองค์กรปกครองท้องถิ่น เพื่อกำหนดแนวทางในการอนุญาตให้ก่อสร้างท่อร้อยสายเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพท่ัวประเทศ
"มติบอร์ดดีอีชัดเจนซะขนาดนี้ ก็ไม่รู้ว่าทั้ง กทม. และ KT ยังจะดันทุรังปลุกผีโครงการก่อสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินของตนเองออกมากันไปทำไมกันอีก ยังคงคิดว่าขุมทรัพย์ใน กทม.นั้น ใครจะเข้ามาล้วงตับดำเนินการไม่ได้อย่างนั้นหรือ หรือยังคงคิดว่าจะดั้นเมฆลงทุนโครงการนี้เพื่อหวังถอนทุน หรือเซ็งลี้โครงการออกไปให้กลุ่มทุนที่จ้องจะผูกปิ่นโตอยู่เบื้องหลัง อย่าลืมว่า ท่อร้อยสายสื่อสารนั้น ถือเป็นระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เป็นกิจการที่ภาครัฐ จำเป็นต้องจัดหาให้ประชาชนได้ใช้และเข้าถึงอยู่แล้ว ตึงไม่ควรที่จะมีใครเข้ามาชุบมือเปิบดึงโครงการออกไปแสวงหาประโยชน์"