แฉบอร์ด ทอท.ลักไก่แก้สัมปทานอุ้ม "คิงเพาเวอร์" แหก พ.ร.บ.ร่วมทุน ชี้บอร์ดไร้อำนาจดำเนินการเองโดยพลการ ต้องให้ กก.กำกับดูแลโครงการพิจารณา ก่อนส่งเรื่องให้อัยการ-รมต.เจ้าสังกัดไฟเขียว งานนี้มีคนเตรียมเข้าคุกจากกรณีที่คณะกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทยจำกัด (มหาชน) หรือ AOT มีมติเพิ่มมาตรการเยียวยาให้แก่กลุ่มบริษัท คิงเพาวเวอร์ฯ ในสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรี จากเดิมที่อิงส่วนแบ่งรายได้และผลตอบแทนขั้นต่ำ หรือ Minimum guarantee มาเป็นการคำนวณผลตอบแทนที่อิงปริมาณผู้โดยสารที่แท้จริงเป็นหลัก ยังผลให้ที่นักวิเคราะห์และนักลงทุนพากันเทหุ้น AOT จนร่วงกราวรูดด้วยเห็นว่า ทำให้รัฐสูญเสียประโยชน์มากกว่า 1.3 แสนล้านบาทนั้นแหล่งข่าวในกระทรวงคมนาคม เปิดเผย "สำนักข่าวเนตรทิพย์ออนไลน์" ว่า มติบอร์ดของ ทอท.ข้างต้น ถือเป็นการดำเนินการที่ขัดกฎหมาย พ.ร.บ.ร่วมลงทุนปี 2562 อย่างชัดเจน จึงเป็นมติบอร์ดที่ไม่มีผลทางกฎหมาย เพราะการที่ ทอท.จะดำเนินการแก้ไขสัญญาสัมปทานระหว่างรัฐกับคู่สัญญาเอกชนได้นั้น จำเป็นจะต้องดำเนินการตามบทบัญญัติ มาตรา 46 47 ของ พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนปี 2562 ที่กำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการ เสนอเหตุผลและความจําเป็น ประเด็นที่ขอแก้ไขผลกระทบจากการแก้ไข และข้อมูลอื่นๆ ที่จําเป็นต่อคณะกรรมการกํากับดูแลตามมาตรา 43 เพื่อพิจารณาให้ความเห็น ก่อนนําส่งร่างสัญญาร่วมลงทุนฉบับแก้ไขให้สํานักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา ทั้งนี้ แม้สัมปทานดิวตี้ฟรี ระหว่าง ทอท. กับกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ฯ จะมีการเปิดประมูลก่อนที่ พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนปี 2562 จะมีผลใช้บังคับแต่หลังการลงนามในสัญญาสัมปทานดังกล่าวไปแล้วหน่วยงานเจ้าของโครงการ คือ ทอท.จำเป็นจะต้องจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลการดำเนินการตามสัญญา โดยมีผู้แทนหน่วยงานต้นสังกัด คือ กระทรวงคมนาคม เป็นประธาน และมีคณะกรรมการจากหลากหลายหน่วยงานเข้าร่วมเป็นกรรมการ เพื่อกํากับดูแลและติดตามโครงการร่วมลงทุนให้มีการดําเนินการตามที่กําหนดในสัญญา รวมทั้งพิจารณาเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการดําเนินโครงการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 43 และมาตรา44 "ไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดให้เป็นอำนาจของบอร์ด AOT ที่จะพิจารณาแก้ไขสัญญาสัมปทานได้ตามลำพัง ดังนั้น ข้ออ้างของฝ่ายบริหารและบอร์ด ทอท. ที่ระบุว่า ได้พิจารณาแก้ไขสัญญาให้แก่กลุ่มคิงเพาเวอร์ รวมทั้งสัญญาอื่นๆ โดยไม่ต้องขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น หรือหน่วยงานอื่นนั้น จึงเป็นการใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขตกฏหมายและเป็นการดำเนินการที่เข้าข่าย กระทำผิด ม.157 อย่างชัดแจ้ง"แหล่งข่าวยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า ตลอดช่วงที่ผ่านมา แม้บอร์ด AOT จะออกมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่คู่สัญญาสัมปทาน รวมทั้งการแก้ไขสัญญาสัมปทานครั้งล่าสุด ที่ส่งผลกระทบต่อสัญญาหลัก แต่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแล กฎหมาย พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โดยตรงกับไม่เคยรับรู้หรือแสดงท่าทีว่าตัวเองได้มีการกำกับดูแลกฎหมายฉบับที่ใช้อย่างใดเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าหน่วยงานดังกล่าว ไร้ประสิทธิภาพในการกำกับดูแลกฎหมายโดยสิ้นเชิง หมายเหตุเพิ่มเติม:ส่วนที่ ๓ การกํากับดูแลโครงการร่วมลงทุน มาตรา ๔๓ เมื่อได้มีการลงนามในสัญญาร่วมลงทุนแล้ว ให้รัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดแต่งตั้ง คณะกรรมการกํากับดูแลขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวงเจ้าสังกัดซึ่งเป็นข้าราชการในกระทรวงเจ้าสังกัดที่มิใช่หน่วยงานเจ้าของโครงการและมีตําแหน่งไม่ต่ํากว่าประเภทบริหารระดับต้นเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนสํานักงานอัยการสูงสุด และผู้แทนสํานักงาน เป็นกรรมการ และให้มีผู้แทนหน่วยงานเจ้าของโครงการหนึ่งคน เป็นกรรมการและเลขานุการ มาตรา ๔๔ ให้คณะกรรมการกํากับดูแลมีหน้าที่และอํานาจ ดังต่อไปนี้ (๑) กํากับดูแลและติดตามโครงการร่วมลงทุนให้มีการดําเนินการตามที่กําหนดในสัญญาร่วมลงทุน (๒) พิจารณาเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการดําเนินโครงการร่วมลงทุนตามที่กําหนดในสัญญาร่วมลงทุนต่อหน่วยงานเจ้าของโครงการ (๓) ขอให้หน่วยงานเจ้าของโครงการ เอกชนคู่สัญญา หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับโครงการ ชี้แจง แสดงความเห็น หรือจัดส่งข้อมูลหรือเอกสารที่เกี่ยวข้อง (๔) รายงานผลการดําเนินงาน ความคืบหน้า ปัญหา และแนวทางการแก้ไขในการดําเนินโครงการร่วมลงทุนตามท่ีกําหนดในสัญญาร่วมลงทุนต่อรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดเพื่อทราบ และให้ส่งสําเนารายงานและเอกสารที่เกี่ยวข้องไปยังสํานักงาน ตามระยะเวลาที่คณะกรรมการกํากับดูแลกําหนดอย่างน้อยหกเดือนต่อหนึ่งครั้ง (๕) พิจารณาให้ความเห็นประกอบการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน หน่วยงานเจ้าของโครงการอาจว่าจ้างที่ปรึกษา หรือคณะกรรมการกํากับดูแลอาจกําหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการว่าจ้างที่ปรึกษา เพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาในการดําเนินโครงการร่วมลงทุน ให้ความเห็นต่อการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน หรือสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ กํากับดูแลไว้มาตรา ๔๕ ในกรณีท่ีปรากฏว่าหน่วยงานเจ้าของโครงการละเลยหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อผูกพันของสัญญาร่วมลงทุนโดยไม่ มีเหตุอันสมควร ให้คณะกรรมการกํากับดูแลทํารายงานพร้อมด้วยความเห็นเสนอต่อรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดเพื่อสั่งการให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดําเนินการตามสัญญาร่วมลงทุนส่วนที่ ๔ การแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนและการทําสัญญาใหม่ มาตรา ๔๖ ในกรณีที่ต้องมีการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเสนอเหตุผลและความจําเป็น ประเด็นที่ขอแก้ไข ผลกระทบจากการแก้ไข และข้อมูลอื่นๆ ที่จําเป็น ต่อคณะกรรมการกํากับดูแลเพื่อพิจารณาให้ความเห็น ก่อนนําส่งร่างสัญญาร่วมลงทุนฉบับแก้ไขที่ได้เจรจากับเอกชนคู่สัญญาแล้วให้ สํานักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา ทั้งนี้ ให้สํานักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาร่างสัญญาร่วมลงทุนฉบับแก้ไขให้แล้วเสร็จและส่งกลับให้หน่วยงานเจ้าของโครงการภายใน สี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับร่างสัญญาร่วมลงทุนฉบับแก้ไข มาตรา ๔๗ ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการนําเสนอเหตุผลและความจําเป็น ประเด็นที่ขอแก้ไข ผลกระทบจากการแก้ไข ความเห็นของคณะกรรมการกํากับดูแล ร่างสัญญาร่วมลงทุนฉบับแก้ไขที่ผ่านการตรวจพิจารณาของสํานักงานอัยการสูงสุดแล้วและข้อมูลอื่นๆ ที่จําเป็น ต่อรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยเมื่อรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดให้ความเห็นชอบการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนแล้ว ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการลงนามในสัญญาร่วมลงทุนฉบับแก้ไขต่อไป ในกรณีที่รัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดไม่เห็นชอบกับการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน ให้แจ้งเหตุผลที่ไม่เห็นชอบ พร้อมทั้งกําหนดเวลาในการทบทวนการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน