ปฏิเสธไม่ได้ว่า"น้ำ" เป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของการดำรงชีวิต และในทุกกิจกรรมบนโลก โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรมปัญหาน้ำท่วม ปัญหาน้ำแล้ง และน้ำเน่าเสีย ถือเป็นภัยคุกคามที่สร้างความเสียหายแก่การทำเกษตรกรรม การจัดการเพื่ออนุรักษ์น้ำจึงเป็นสิ่งจำเป็น
การพัฒนาและอนุรักษ์แหล่งน้ำ จึงถือเป็นเรื่องสำคัญในลำดับต้น ๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานแนวทางการดำเนินการเอาไว้ ความว่า
"...การพัฒนาแหล่งน้ำนั้น ในหลักใหญ่ก็คือการควบคุมน้ำให้ได้ดังประสงค์ ทั้งปริมาณและคุณภาพ กล่าวคือเมื่อมีปริมาณน้ำมากเกินไป ก็ต้องหาทางระบายออกให้ทันการณ์ ไม่ปล่อยให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายได้ และในขณะ ที่เกิดภาวะขาดแคลน ก็จะต้องมีน้ำกักเก็บไว้ใช้อย่างเพียงพอ ทั้งมีคุณภาพเหมาะสม แก่การเกษตร การอุตสาหกรรม และการอุปโภคบริโภค ปัญหาอยู่ที่ว่า การพัฒนาแหล่งน้ำนั้นอาจมีผลกระทบกระเทือนต่อสิ่งแวดล้อมบ้าง แต่ถ้าไม่มีการควบคุมน้ำที่ดีพอแล้ว เมื่อเกิดภัยธรรมชาติขึ้นก็จะก่อให้เกิดความเดือดร้อนสูญเสีย ทั้งในด้านเศรษฐกิจและในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งส่งผลกระทบกระเทือนแก่สิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง..." พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันที่ 11 ธันวาคม 2538
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี ทรงตั้งพระราชปณิธานในอันที่จะสืบสาน รักษาและต่อยอดพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงได้พระราชทานโรงเรียนจิตอาสาพระราชทานและ ศูนย์ฝึกจิตอาสา 904 ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ในเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการเกษตรทฤษฎีใหม่ การอยู่รอด และช่วยเหลือผู้อื่นในช่วงสถานการณ์วิกฤต สามารถเอาตัวรอดจากภัยธรรมชาติได้ และสามารถดำรงชีวิตด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้
ศูนย์ฝึกจิตอาสา 904 โรงเรียนจิตอาสาพระราชทานนั้นตั้งอยู่ในกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ถนนพหลโยธิน จะเป็นแหล่งเรียนรู้ฝึกอบรมบุคลากรจิตอาสาที่จะออกไปให้ความรู้และให้คำแนะนำประชาชนให้ได้รู้จักกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ สามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆที่จะยังประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยรวม
องค์ความรู้หนึ่งที่มีการฝึกปฏิบัติในศูนย์ฝึกแห่งนี้ก็คือการจัดการเพื่ออนุรักษ์น้ำ เป็นการแก้ไขปัญหาต่างๆในทุกรูปแบบในฐาน "คนรักษ์น้ำ" อาทิ การทำฝายดักตะกอนและชะลอน้ำที่ใช้วัสดุธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น ก้อนหินและไม้ ไปขวางร่องน้ำหรือห้วยเล็กๆ เพื่อทำหน้าที่ตัดกระแสน้ำไว้ให้ไหลช้าลง และให้น้ำสามารถซึมลงใต้ดินเพื่อสร้างความชุ่มชื้นในบริเวณนั้น อีกทั้งยังช่วยดักตะกอนดินและทรายไม่ให้ไหลลงไปสู่เบื้องล่าง
หรือการปลูกหญ้าแฝก เพื่อช่วยชะลอความชุ่มชื้นไว้ในดิน และช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน การทำคอกผักตบชวาในแหล่งน้ำเพื่อช่วยบำบัดน้ำเสีย การใช้น้ำดีไล่น้ำเสียเพื่อช่วยลดปัญหาน้ำเน่าเสีย การทำน้ำหมักชีวภาพเพื่อช่วยย่อยสลายจุลินทรีย์ในแหล่งน้ำ รวมทั้งบำรุงพืชพันธ์ต่างๆ และการบำบัดน้ำโดยใช้จุลินทรีย์ การทำระเบิดจุลินทรีย์เพื่อนำไปบำบัดและฟื้นฟูแหล่งน้ำเสียจากอาหารบ้านเรือน โรงงานอุตสาหกรรมให้มีคุณภาพ เป็นต้น
นอกเหนือจากการอบรมผู้นำจิตอาสาพระราชทานแล้วจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนหลากหลายอาชีพ หลายคนต้องหยุดงาน ไม่มีรายได้ ขาดปัจจัยช่วยในการดำรงชีวิต เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนรายได้ของประชาชนช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้พระราชทานโครงการฟาร์มตัวอย่างต้านภัยโควิด-19 มาใช้สนับสนุนการจ้างงานเพื่อให้มีอาชีพเลี้ยงครอบครัว
นอกจากเป็นการจ้างงานห้วงวิกฤตการณ์ Covid-19 แล้ว ยังมีการอบรมความรู้ทางการเกษตร เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนมีการวางแผนให้ได้มาซึ่งผลผลิต อีกทั้งเสริมสร้างการเรียนรู้ ให้แก่เยาวชนภายในฟาร์มซึ่งเป็นบุตรหลานของผู้ที่เข้าร่วมโครงการ หรือเยาวชนในพื้นที่รอบๆ ฟาร์มตัวอย่างอีกด้วย
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนิกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานแนวทางในการดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ ให้แก่มวลมนุษยชาติ ซึ่งโรงเรียนจิตอาสาพระราชทาน และศูนย์ฝึกจิตอาสา 904 ได้น้อมนำพระราชดำรัสดังกล่าวมาศึกษาอย่างละเอียดและปฏิบัติตาม รวมทั้งถ่ายทอดให้กับผู้นำจิตอาสาพระราชทาน เพื่อเป็นแบบอย่างในการออกไปให้คำแนะนำแก่ประชาชน เพื่อให้สมกับพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”