แม้จะได้ชื่อว่าเป็นยักษ์รับเหมาก่อสร้างสุด “บิ๊กบึ้ม”ของเมืองไทย และเคยได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของโครงข่ายทางด่วนทั้งในและนอกเมือง รวมไปถึงโครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ที่ล้วนอยู่ใต้อุ้งของกลุ่มทุนรายนี้
แถมยังถูกหวย “แจ๊คพ็อต” ชุดใหญ่ไปนับแสนล้านจากการที่รัฐบาล คสช. ยอมขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนไปให้ถึง 12-15 ปี เพื่อแลกกับการยุติคดีฟ้องร้องค่าโง่สุดอิรุงตุงนังทั้งหลายแหล่
แต่ระยะหลังมานี้ กลุ่มทุนรับเหมายักษ์รายนี้กลับต้อง “ชวด” และ "จั่วลม" งานประมูลก่อสร้างและสัมปทานโครงการรัฐไปหลายต่อหลายโครงการ
ไล่ดะมาตั้งแต่การประมูลสัมปทานบริหารและซ่อมบำรุง (O&M) โครงการมอเตอร์เวย์ 2 สายมูลค่ากว่า 60,000 ล้าน โครงการขยายท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 และล่าสุดโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน มูลค่ากว่า 2.9 แสนล้าน ที่กลุ่มทุนรายนี้เข้าไปร่วมชิงดำด้วย แต่เพราะไปจับมือกันพันธมิตรผิดก๊วนผิดฝั่งผิดฝา จึงล้วนถูกทุนรับเหมารายอื่นปาดหน้าเค้กชิงไปเรียบวุธ
ทำเอานักลงทุนที่เป็นแฟนคลับหุ้นของทุนรับเหมารายนี้ต่างผิดหวังไปตาม ๆ กัน ราคาหุ้นของกลุ่มที่ต้อง “ชวด” เมกะโปรเจ็กต์ไปครั้งแล้วครั้งเล่า ถึงได้สาละวันเตี้ยลงๆ จนน่าใจหาย
ก็คงจะด้วยเหตุนี้ เมื่อการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เตรียมเปิดประมูลสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี) ระยะทางกว่า 35.9 กม. เพื่อจัดหาเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ทั้งในส่วนของงานโยธา สายสีส้มส่วนตะวันตกที่ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง พ่วงสัมปทานงานระบบรถไฟฟ้า และบริหารรถไฟฟ้าทั้งโครงการที่จะผูกปิ่นโตไปยาวถึง 30-35 ปี ที่ถือเป็นอภิโครงการรถไฟฟ้าที่ทั้งใหญ่ทั้งยาวที่สุด จึงทำให้กลุ่มทุนรายนี้นั่งไม่ติด
เพราะในฐานะ “เจ้าถิ่น” ผู้เป็นเจ้าของโครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีน้ำเงินส่วนขยาย และสายสีม่วง แถมยังเป็นที่โจษขานกันให้แซ่ดว่า ตัวผู้บริหารองค์กรเจ้าของสัมปทานก็ใช่ใครอื่น แต่เป็นคน “กากี่นั๊ง” ที่รู้จักมักจี่ หากจะต้องชวดสัมปทานโครงการดังกล่าวไปอีก ก็มีหวังโครงข่ายทางด่วนและรถไฟฟ้าที่มีอยู่ในมือคงระส่ำแน่!
ก็คงจะด้วยเหตุนี้ จึงมีกระแสข่าวสะพัดในแวดวงรับเหมามาโดยตลอดว่า ในการจัดทำร่างประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงข่ายรถไฟฟ้า สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรีระยะทาง 35.9 กม. มูลค่า 1.4 แสนล้าน นอกจากจะมีรายการ "ล็อคสเปค" ตีกันรับเหมาต่างชาติ ไม่ให้เข้ามาแย่งเค้กสุดกำลัง ชนิดหากจะเข้ามาต้องฝ่าด่าน 16 อรหันต์กันหืดจับแล้ว
ยังมีความพยายามจะ "ปรับเปลี่ยน" รูปแบบการประมูลกันเสียใหม่ จากเดิมที่ยึดถือเกณฑ์ผู้เสนอราคา หรือผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดเป็นเกณฑ์ มาเป็นการพิจารณาข้อเสนอทางเทคนิคและราคาประกอบกัน โดย รฟม. จะมีการวางเกณฑ์และประเมินข้อเสนอของเอกชนใหม่ ที่ผนวกเอาข้อเสนอด้านเทคนิคและราคาประกอบกัน และจะพิจารณาชี้ขาดจากข้อเสนอที่ยังประโยชน์ต่อองค์กรสูงสุด โดยไม่อิงจากผู้เสนอผลประโยชน์ทางการเงินสูงสุดเป็นเกณฑ์
พูดให้ง่ายก็แบบเดียวกับการประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรีในสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินภูมิภาคของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย ก่อนหน้า ที่ตั้งเกณฑ์พิจารณาข้อมูลด้านเทคนิค ประสบการณ์ และการบริหารเอาไว้ถึง 70-80% นั่นแหล่ะ เรียกได้ว่า ต่อให้ใครเสนอผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดแบบทิ้งห่างคู่แข่งไม่เห็นฝุ่น ก็อย่าได้วางใจว่าจะคว้าสัมปทานเสมอไป
ล่าสุด ประเด็นที่ใครต่อใครวิพากษ์วิจารณ์กันมาโดยตลอดก็เป็นจริงขึ้นมา หลัง รฟม. ทำคลอดทีโออาร์ออกมา และคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (คณะกรรมการตามมาตรา 36 พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ) ได้ "แบไต๋" ออกมาชัดเจนแล้วว่า จะมีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการนี้ โดยพิจารณาจ่กข้อเสนอด้านเทคนิคและการเงินประกอบกัน
แม้หลายฝ่ายจะดาหน้าออกมาทักท้วง เนื่องจากเป็นการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการประมูล ที่อาจก่อให้เกิดการทุจริตเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนบางราย และยังผิดแผกแตกต่างไปจากการประมูล Mega Project อื่นๆ อีกด้วย
แม้แต่การประมูลหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) วงเงิน 60,000 ล้าน และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) วงเงินกว่า 60,000 ล้านบาท ที่ รฟม. เปิดประมูลไปก่อนหน้า ที่กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) คว้าสัมปทานไปนั้น ก็ยังไม่กล้าแหกหลักเกณฑ์กันแบบ "โจ๋งครึ่ม" ขนาดนี้!
ก็คงปูเสื่อรอดูฝ่ายบริหาร รฟม. และกระทรวงคมนาคม จะชิ่งหนีเผือกร้อนนี้กันอย่างไร แต่กระแสวิพากษ์ที่วงการรับเหมาได้ยินได้ฟังมา จนทำเอาทุกฝ่ายได้แต่ “อึ้งกิมกี่” จากความพยายามจะปรับเปลี่ยนรูปแบบการประมูลสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มหนนี้ นัยว่า ทั้งหลายทั้งปวงนั้นก็เพื่อเป็นหลักประกัน “ช.กันชวด” นั่นแหล่ะ !
เท็จจริงประการใด ปูเสื่อรอไม่เกินขวบเดือนจากนี้ทุกฝ่ายคงได้เห็นกันอย่างแน่นอน!!