กรมการขนส่งทางราง เปิดเวทีรับฟังความเห็นชวนเอกชนร่วมลงทุนเดินรถทางราง หวังลดต้นทุนการขนส่ง ส่งเสริมการพัฒนาระบบรางให้เต็มประสิทธิภาพ
วันนี้ (10 ก.ย. 63) กรมการขนส่งทางราง (ขร.) จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อสนับสนุนภาคเอกชนเป็นผู้ร่วมให้บริการระบบราง โดยมี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้เกียรติเป็นประธาน พร้อมด้วยนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มธนาคาร กลุ่มนักลงทุน สมาคมการค้า เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมอินเตอร์ คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมมีแนวคิดในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบราง ให้เป็นระบบหลักในการเดินทางและการขนส่งของประเทศ ทั้งในระดับภูมิภาค ระดับประเทศ โดยการใช้ประโยชน์การขนส่งทางรางให้เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่มีการขนส่งทางราง 10.5 ล้านตันต่อปี ให้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 30 ภายในเวลา 3 ปี เพื่อให้มีการใช้โครงข่ายทางรางอย่างเต็มประสิทธิภาพ อันก่อให้เกิดการลดต้นทุนการเดินทางและขนส่ง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน โดยแนวทางหนึ่ง ซึ่งสามารถเพิ่มสัดส่วนการขนส่งและการเดินทาง คือ การเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเป็นผู้ร่วมให้บริการเดินรถ โดยใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ผู้ใช้บริการ ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าในประเทศและระหว่างประเทศอย่างสูงสุด ทั้งนี้ ต้องมีการวางแผน มีการกำกับดูแล และพัฒนากฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ของการให้บริการอย่างชัดเจนและเหมาะสม ในการกำกับการใช้ประโยชน์ราง และกฎระเบียบเพื่อการรองรับการขนส่งทางราง ในเส้นทางหลักของประเทศและระหว่างประเทศ จึงมอบหมายให้ ขร. ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลระบบขนส่งทางรางทั่วประเทศ ดำเนินการศึกษาการกำกับการใช้ประโยชน์รางและจัดทำกฏระเบียบ เพื่อรองรับการขนส่งทางรางเส้นทางในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์รางให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และให้ประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ
นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยเพิ่มเติมว่า การให้บริการด้วยระบบรางที่ผ่านมาจากอดีตถึงปัจจุบันในบางเส้นทางยังใช้ได้ไม่เต็มศักยภาพ ดังนั้น จึงควรเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน โดยนอกจากการจัดหาเวลาเพื่อให้เอกชนมาร่วมให้บริการระบบรางแล้ว ภาครัฐยังต้องมีการออกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อมารองรับแนวคิดดังกล่าว ซึ่ง ขร. ได้ดำเนินการศึกษารวบรวมข้อมูลสำหรับการกำกับดูแลกิจการรถไฟทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อจัดทำกฎระเบียบรองรับการขนส่ง การกำกับการใช้ประโยชน์รางเพื่อการเดินรถในเส้นทางหลักของประเทศและระหว่างประเทศ การพัฒนาการใช้ประโยชน์จากรางและมุ่งเน้นส่งเสริมให้ผู้ประกอบการภาคขนส่งหันมาสนใจเพิ่มการขนส่งทางรถไฟ ส่งผลให้การขนส่งทางรถไฟเพิ่มขึ้น โดยคาดการณ์ว่าในปี 2565 จะมีการขนส่งทางรถไฟเพิ่มขึ้นเป็น 16.8 ล้านตัน สอดคล้องตามนโยบายการเพิ่มการขนส่งทางรางร้อยละ 30 ใน 3 ปีข้างหน้า รวมทั้งจัดทำมาตรการ กฏหมาย และข้อเสนอแนะ สำหรับการจัดทำความตกลงด้านการขนส่งทางรางระหว่างประเทศ และประโยชน์ของการสนับสนุนภาคเอกชนให้เป็นผู้ร่วมบริการเดินรถ เพื่อส่งเสริมให้เกิดใช้ระบบรางอย่างเต็มประสิทธิภาพ และเกิดการแข่งขันในการให้บริการที่จะเป็นประโยชน์สำหรับประชาชนผู้ใช้บริการต่อไป
สำหรับแนวทางการศึกษารูปแบบการให้เอกชนเข้าร่วมบริการเดินรถนั้น จะเป็นการให้ภาคเอกชนเลือกเวลาที่นอกเหนือจากการให้บริการของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มาบริหารจัดการโดยให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนเอง ส่วน รฟท.จะได้ค่าเช่าใช้ทางจากภาคเอกชน ส่วนขั้นตอนแนวทางการให้เอกชนร่วมเดินรถ เริ่มจากภาคเอกชนผู้สนใจ สามารถยื่นข้อเสนอขอใช้ราง ต่อ รฟท. จากนั้น รฟท. จะพิจารณาความเหมาะสมของตารางการเดินรถ/แผนธุรกิจแล้ว จึงเปิดประมูล Time Slot ให้เข้าใช้ทาง หรือ ดำเนินการแบบไม่ใช้วิธีประมูลกับผู้ยื่นข้อเสนอ ทั้งนี้ ขร. และ รฟท. จะร่วมกำหนดแนวทางหรือเส้นทางที่มีความเหมาะสม เพื่อส่งเสริมในการเข้าใช้ทางที่มีภาคเอกชนเป็นผู้ร่วมให้บริการเดินรถ ทั้งการโดยสารและการขนส่งสินค้า ซึ่งจะช่วยลดภาระด้านงบประมาณของภาครัฐ อีกทั้งสนับสนุนให้ภาคเอกชนได้ใช้ความสามารถและประสบการณ์ในการพัฒนาระบบขนส่งทางรางของประเทศ
ทั้งนี้ ขร. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วม จึงได้จัดกิจกรรมระดมความเห็นจากทั้งภาครัฐและเอกชนทุกท่าน รวมทั้งภาคประชาชน ซึ่งจะร่วมกันพัฒนาการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทางราง ให้เป็นระบบหลักในการเดินทางและการขนส่งของประเทศ และเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ยกระดับการเดินทางและการขนส่งทางรางให้มีประสิทธิภาพ และสร้างประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนสืบต่อไป