สตง. รุดตรวจสอบปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขอนามัยของประชาชนในจังหวัดแห่งหนึ่ง โดยสุ่มตรวจสอบโครงการก่อสร้างและปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพระบบประปาหมู่บ้านขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 10 แห่ง พบการบริหารกิจการประปาหมู่บ้านไม่มีประสิทธิภาพและไม่บรรลุผลสัมฤทธิ์ ประชาชนมีความเสี่ยงได้รับสารปนเปื้อนและใช้น้ำประปาที่ไม่ได้มาตรฐาน สตง. จึงมีหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบพร้อมข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการปรับปรุงแก้ไขต่อไปทั้งนี้ โครงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค (ประปาหมู่บ้าน) เป็นโครงการหนึ่งที่รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ชนบท และจัดให้มีน้ำสะอาดใช้ภายในครัวเรือนตลอด 24 ชั่วโมงนายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ตรวจสอบการดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค (ประปาหมู่บ้าน) ให้แก่ประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดแห่งหนึ่ง ที่ได้รับจัดสรรในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 จำนวน 82 แห่ง เป็นเงิน 236.35 ล้านบาท โดยสุ่มตรวจสอบโครงการก่อสร้างและปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพระบบประปาหมู่บ้านจำนวน 14 แห่ง ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 10 แห่ง มีข้อตรวจพบที่สำคัญ ดังนี้1. การบริหารกิจการประปาหมู่บ้านไม่มีประสิทธิภาพ จากการตรวจสอบพบว่าการก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้านส่วนหนึ่งไม่แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 และกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อวัตถุประสงค์ของโครงการและประสิทธิภาพในการบริหารงบประมาณแผ่นดิน อีกทั้งการบริหารกิจการประปาหมู่บ้านประสบสภาวะขาดทุนจำนวน 9 แห่ง จากจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สุ่มตรวจสอบทั้งหมด 10 แห่ง ส่งผลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องนำงบประมาณมาสนับสนุนกิจการประปาทำให้เสียโอกาสในการนำรายได้ไปพัฒนาด้านอื่น นอกจากนี้ ยังพบปัญหาการบริหารกิจการประปาหมู่บ้านไม่เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการบริหารกิจการและการบำรุงรักษาระบบประปาหมู่บ้าน พ.ศ. 2548 โดยเฉพาะกรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่กำกับดูแลการบริหารระบบประปาหมู่บ้านของคณะกรรมการบริหารกิจการและบำรุงรักษาระบบประปาหมู่บ้าน ซึ่งมีการบันทึกรายการไม่ครบถ้วนและไม่เป็นปัจจุบัน ไม่นำเงินรายได้จากการจัดเก็บค่าน้ำประปาฝากธนาคาร ฯลฯ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการทุจริต“ประเด็นสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขอนามัยของประชาชนในพื้นที่ก็คือ สตง. ตรวจพบว่ามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถึง 7 แห่ง จากจำนวนทั้งหมด 10 แห่ง ที่ไม่ส่งตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้านที่อยู่ในความรับผิดชอบทุกแห่ง หรือส่งตรวจสอบเพียงบางแห่ง ทำให้ประชาชนประสบปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพน้ำประปา เช่น มีสนิมเหล็ก หินปูน ฯลฯ ซึ่งมีความเสี่ยงได้รับสารปนเปื้อนหรือเชื้อโรคที่อยู่ในน้ำและใช้น้ำประปาที่ไม่ได้มาตรฐานตามที่กรมอนามัยกำหนด” ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าว2. การบริหารกิจการประปาหมู่บ้านไม่บรรลุผลสัมฤทธิ์ จากการสุ่มตรวจสอบระบบประปาหมู่บ้าน จำนวน 112 แห่ง พบว่าระบบประปาหมู่บ้านยังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาในฤดูแล้ง จำนวน 27 แห่ง ส่งผลให้ยังมีภาวะขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งและน้ำจะไหลอ่อนในบางเวลา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถให้บริการน้ำประปาได้อย่างเพียงพอและต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมงสตง. จึงมีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ พิจารณาดำเนินการ อาทิ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการบริหารกิจการและการบำรุงรักษาระบบประปาหมู่บ้าน พ.ศ. 2548 และต้องปฏิบัติหน้าที่กำกับดูแลการบริหารงานของคณะกรรมการฯ อย่างเคร่งครัด โดยนำข้อมูลรายได้ - รายจ่ายของกิจการประปาหมู่บ้าน มาวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุขาดทุน ควบคุมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดเก็บรายได้ค่าน้ำประปาให้ถูกต้องครบถ้วน ส่งตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาอย่างต่อเนื่อง บริหารกิจการประปาให้มีประสิทธิภาพ เกิดความยั่งยืนและคุณภาพน้ำประปาได้มาตรฐาน เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน นอกจากนี้ควรให้ความสำคัญในขั้นตอนการสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมในการก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้าน บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาระบบประปาที่ผลิตน้ำได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ฯลฯ