พนักงานการบินไทยแห่สมัครเข้าร่วมโครงการเออร์ลี่ รีไทร์ เฉียด 5,000 คน ทำสถานะบินไทยง่อนแง่นหนัก ต้องจัดคิวจ่ายชดเชยรายคน เผยยังมีก๊อก 2 มีนาคม 64
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากการที่บริษัทได้เปิดรับสมัครโครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร พ.ศ.2563 (เออร์ลี่) ระหว่างวันที่ 19 ต.ค. - 28 ต.ค. 63 เพื่อช่วยรักษากระแสเงินสดของบริษัทให้สามารถใช้ได้ถึงเดือน เม.ย. 2564 ว่า นั่นปรากฏว่า เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการรับสมัคร วันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา มีพนักงานให้ความสนใจและร่วมกันเสียสละเข้าร่วมโครงการเกือบ 5,000 คน เป็นไปตามเป้าหมายของบริษัท ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณพนักงานทุกคนที่มีจิตอาสาและช่วยกันเสียสละเพื่อองค์กรด้วย
โดยหลังจากนี้ บริษัทจะต้องวางแผนในเรื่องของระยะเวลาและการจ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงานที่เข้าร่วมโครงการ เนื่องจากขณะนี้บริษัทมีกระแสเงินสดไม่มาก และไม่สามารถกู้ยืนเงินได้ โดยจะพิจารณาเรื่องการจัดสรรเงินสำหรับพนักงานล็อตแรกก่อน โดยจำนวนพนักงานที่จะออกต้องสอดคล้องกับกระแสเงินสดของบริษัทที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการดำเนินงานภาพรวม เพราะบริษัทต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงานตามอัตราที่กฎหมายกำหนด รวมไปถึงการจ่ายคืนเงินกองทุนบำเหน็จทั้งก้อน และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น
สำหรับจำนวนพนักงานการบินไทยในปัจจุบันนี้น มีรายงานว่ามีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1.9 หมื่นคน หลังการยื่นขอเข้าร่วมโครงการเสียสละเออร์ลี่ไป 5 พันคน จึงเหลือพนักงานอยู่ในองค์กรอีกราว 1.4 หมื่นคน
โครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร พ.ศ.2563 (เออร์ลี่) ของบริษัทการบินไทยดังกล่าว แบ่งออกเป็น 2 โครงการ คือ โครงการร่วมใจจากองค์กรแผน A โดยการสมัครใจลาออก หรือ Mutual Separation Plan A (MSP A) ซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 ธ.ค. 2563 และ 2. โครงการลาระยะยาว (LW20) เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ 1 พ.ย. 63 - 30 เม.ย. 64 โดยจ่ายเงินรายเดือนตลอดระยะเวลาในอัตรา 20% ของเงินเดือนสุดท้าย ทั้งนี้ยังคงมีรายงานว่า บริษัทการบินไทยยังคงมีแผนที่จะเปิดโครงการในลักษณะเดียวกันนี้อีกครั้งในช่วงเดือน มี.ค. 2564 เนื่องจากสถานการณ์ของบริษัทยังคงมีแนวโน้มที่จะเผชิญ ปิด ตกต่ำ เรายังไม่สามารถบอกได้ว่า จะสามารถกอบกู้วิกฤตภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการได้เมื่อไหร่
ล่าสุด ยังมีกระแสด้วยว่าแม้ หลายสายการบินจะเริ่มจัดทำ Schedule ตารางการบินในยุค New Normal แต่ในส่วนของการบินไทยเองจะประสบปัญหาการจัดทำตารางบินไป เนื่องจากจำเป็นจะต้องวางแผนการใช้เครื่องบินใหม่ทั้งหมด เพราะเครื่องบินของการบินไทยส่วนใหญ่นั้น เป็นเครื่องบินเช่าซื้อที่บรรดาเจ้าหนี้จ้องจะยึดเป็นหลักประกัน หลังจากบริษัทประกาศล้มละลาย จำเป็นต้องเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ จึงจำเป็นจะต้องสับหลีกเครื่องบินที่จะทำการบินไปยังปลายทางประเทศต่างๆ เพื่อไม่ให้ถูกเจ้าหนี้ตามยึดได้