รฟม.ดีเดย์ชิงดำรถไฟฟ้า สายสีส้ม ให้เอกชนยื่นซองข้อเสนอไปก่อน ระหว่างรอผลอุทธรณ์ให้เพิกถอนคำสั่งทุเลาการบังคับหลักเกณฑ์คัดเลือกเจ้าปัญหา พร้อมงัดแผนแก้ลำหากศาลปกครองสูงสุดหักดิบไม่มีคำสั่งลงมา เตรียมล้มประมูลแล้วดันประมูลใหม่ตามเกณฑ์เจ้าปัญหา ด้าน BEM แต่งตัวรอยื่นศาลแต่ไก่โห่ ขนเอกสาร 8 คันรถยื่น
แม้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะยังอยู่ระหว่างรอฟังคำสั่งศาลปกครองสูงสุดกรณีที่ รฟม. ได้ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลปกครองสูงสุดเพิกถอนคำสั่งศาลปกครองกลาง กรณีมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนที่แก้ไขเพิ่มเติม และเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติม หลังจากศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ในคดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 ระหว่าง BTSC ในฐานะผู้ฟ้องคดี กับคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีมีมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มก่อนหน้านี้
แต่คณะกรรมการ ม.36 ได้มีมติให้ รฟม. ดำเนินกระบวนการคัดเลือกเอกชนไปตามกำหนดเดิม เพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง โดยกำหนดเปิดรับข้อเสนอโครงการในวันที่ 9 พ.ย.ตั้งแต่เวลา 09.00-15.00 น. โดยมีรายงานว่า ผู้บริหารบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ได้เข้ายื่นซองเอกสาร เป็นกลุ่มแรก โดยให้เจ้าหน้าที่ลำเลียงเอกสาร ประกอบการประมูลเข้ามายื่นต่อคณะกรรมการถึง 8 คันรถ ส่วน BTS ได้เข้าร่วมยื่นซองประมูลในช่วงบ่าย ในนามกลุ่ม BSR joint venture ที่ประกอบด้วย BTSC บีทีเอส โฮลดิ้งกรุ๊ป และ STECON โดยลำเลียงเอกสารเข้ายื่นประมูลถึง 400 กล่องด้วยกัน
ส่วนเกณฑ์การประเมินคัดเลือก จะยึดตามเกณฑ์พิจารณาเดิมตามเอกสารประกวดราคา (RFP) เดิมที่จะพิจารณาซองข้อเสนอด้านราคาจากเอกชนผู้ที่ผ่านข้อเสนอด้านเทคนิคแล้วเท่านั้น หรือใช้เกณฑ์ที่ปรับเปลี่ยนใหม่พิจารณาข้อเสนอด้านด้านเทคนิคและราคาควบคู่กันไป (สัดส่วน 30 : 70 คะแนน) นั้น คงต้องรอการพิจารณาจากศาลปกครองสูงสุดด้วย โดย รฟม. อ้างว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการคัดเลือกเอกชน เพราะ รฟม. มีกำหนดเปิดซองข้อเสนอที่ 1 ด้านคุณสมบัติในวันที่ 23 พ.ย. 2563 ส่วนข้อเสนอด้านเทคนิค และด้านราคาจะดำเนินการหลังจากพิจารณาซอง 1 ไปอีกราว 1 – 2 เดือน
แหล่งข่าวใน รฟม. เปิดเผยว่า ฝ่ายบริหาร รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ยังได้เตรียมแผนสำรอง กรณีที่ศาลปกครองสูงสุดไม่มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลาง ทาง รฟม. จะสั่งล้มประมูลโครงการและเปิดประมูลใหม่ โดยจะเพิ่มหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนที่แก้ไขเพิ่มเติมลงไปในเอกสารประกวดราคา (RFP) ใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้เอกชนรายใดหยิบยกมาเป็นเหตุฟ้องร้องได้อีก
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวกล่าวว่า แม้ รฟม. จะล้มประมูลและออกประกาศใช้เกณฑ์คัดเลือกใหม่ ก็เชื่อว่า ยังคงไม่พ้นจะถูกร้องเรียนและฟ้องเพิกถอนตามมาอยู่ดี เพราะหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินเอกชนเข้าร่วมลงทุนที่ รฟม. และคณะกรรมการตามมาตรา 36 ปรับเปลี่ยนไปจากหลักเกณฑ์โดยทั่วไป โดยจะให้มีการพิจารณาข้อเสนอทางด้านเทคนิคและการเงินควบคู่กันไป ในสัดส่วน 30-70 ซึ่งเป็นการลดทอนคุณสมบัติด้านเทคนิค ที่นอกจากจะย้อนแย้งกับสิ่งที่ รฟม.กล่าวอ้างว่าต้องการได้ผู้รับเหมาที่มีศักยภาพ เพราะโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม เป็นโครงการใหญ่ที่มีความซับซ้อน แต่การกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวก็ยังคงขัดกฎหมายและขัดมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)ที่ให้ยึดผลประโยชน์สูงสุดของรัฐเป็นเกณฑ์ชี้ขาดอยู่ดี
ขณะเดียวกันยังเป็นที่น่าสังเกตว่า ขณะที่ รฟม. อ้างเหตุที่ต้องยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งศาลของศาลปกครองกลาง แต่ฝ่ายบริหาร รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 กลับยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอขยายคำให้การเพิ่มเติมประกอบการตัดสินของศาลออกไปเป็นวันที่ 28 พ.ย. ซึ่งเป็นเรื่องที่ย้อนแย้งกับเหตุผลที่ รฟม. ยื่นคำร้องขออุทธรณ์ให้ศาลปกครองสูงสุดเพิกถอนคำสั่งทุเลาศาลปกครองกลางโดยสิ้นเชิง เพราะหากเป็นโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เหตุใด รฟม. ถึงไม่เร่งชี้แจงเหตุผลหรือส่งเอกสารชี้แจงเพิ่มเติมเพื่อที่ศาลจะได้เร่งพิจารณาว่า หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนเจ้าปัญหาดังกล่าวขัดแย้งกับกฎหมายหรือไม่ เพราะ รฟม. เองก็ยอมรับว่ากระบวนการในการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคและราคานั้น ยังต้องใช้เวลาอีกกว่า 2-3 เดือน
ขณะที่จากการตรวจสอบความคืบหน้าของคำร้องอุทธรณ์ของ รฟม. ที่ขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งทุเลาของศาลปกครองกลางนั้น มีรายงานว่าจนถึงช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาศาลยังไม่มีคำสั่งใด ๆ ลงมา ขณะที่มีรายงานว่า ทางตุลาการผู้เป็นเจ้าของสำนวนคดีในชั้นอุทธรณ์ได้ขอถอนตัวจากคดีนี้ และทำให้ต้องรอประธานศาลปกครองสูงสุด แต่งตั้งตุลาการเพิ่มในองค์คณะ