ประชาชนคนไทยเรามีความเชื่อมาโดยตลอดว่า ขึ้นชื่อว่าผู้พิพากษาไม่ว่าจะศาลไหน จะผู้พิพากษาศาลแพ่ง ศาลอาญา ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา ศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ หรือแม้แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
จะศาลไหนๆ ก็ "ซื้อไม่ได้"ทั้งนั้น!
เพราะผู้พิพากษานั้น ถือเป็น "ฐานันดร 4" ถือเป็นผู้ทรงเกียรติสูงสุด เป็นสถาบันที่ผู้คนให้ความเคาพนอบน้อม ให้การนับหน้าถือตา เรียก "ท่าน" ทุกถ้อยคำ
แม้จะเคยได้ยินข่าวแว่วเข้าหูหลายต่อหลายครั้งว่า เจ้าสัวใหญ่ นายทุนคนนั้นคนนี้ นักการเมือง ผู้หลักผู้ใหญ่ลูกท่านหลานเธอคนนั้นคนนี้ ใช้เงินฟาดหัวตำรวจ อัยการ หรือแม้แต่ผู้พิพากษาเพื่อบิดสำนวนคดี ทำให้คดีนั้นคดีนี้หลุดรอดเงื้อมมือกฎหมายบ้านเมืองมานักต่อนักแล้ว
หรือแม้จะเคยเห็นราชกิจจานุเบกษาที่เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่ให้ข้าราชการตุลาการ/ผู้พิพากษาพ้นจากตำแหน่ง และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ให้เห็นกันอยู่เนืองๆ
อย่างวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ราชกิจจานุเบกษา ก็เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีให้ นายชาญชัย ศรีแสงทรัพย์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลแพ่ง พ้นจากตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย.63 เนื่องจากกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงต้องพ้นจากตำแหน่ง ตามมาตรา 32(7) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 ประกอบมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พ.ศ.2560
หรือประกาศสำนักนายกฯ เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2557 ให้ข้าราชการตุลาการ 3 รายพ้นจากตําแหน่งและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ประกอบด้วย 1.นายเอกวิโรจน์ มณีธนวรรณ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ 2.นายประโลม คเชนทร์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ และ3. นายชูวงศ์ ละอองศิริวงศ์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลจังหวัดมีนบุรี
แต่จิตใต้สำนึกทั้งหลายทั้งปวงของเรา ก็ยังคงเชื่อว่า ไม่มีทางที่ใครหน้าไหนจะติดสินบาทคาดสินบน ซื้อตัวผู้พิพากษาเพื่อให้ตัดสินคดีความไปตามความต้องการของตนได้แน่ เราเชื่ออย่างนั้นจริงๆ และคิดว่าประชาชนคนไทยเองก็คงเชื่ออย่างนั้นเช่นกัน
จนมาเห็นคดีที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2563 ก่อนสิ้นปีให้เพิกถอนคําชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และให้ยกคําร้องเพื่อขอบังคับตามคําชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ในคดีที่บริษัท ทีโอที จํากัด (มหาชน) ได้ยื่นคําเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการที่เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2548 ระบุว่าคู่สัญญาฝ่ายเอกชน คือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) ได้ละเมิดข้อตกลงในสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนขยายบริการโทรศัพท์ โดยให้บริการ หรือยินยอมให้ผู้อื่น นําอุปกรณ์ในระบบไปให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (ADSL)และเรียกค่าเสียหายจากการขาดรายได้ จากการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (ADSL)
ก่อนที่คณะอนุญาโตตุลาการ จะมีคำวินิจฉัยชี้ขาดเมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2561 ให้บริษัท ทรูชำระเงินค่าผิดสัญญาให้แก่ทีโอทีรวมกว่า 9.4 หมื่นล้านบาทโดยแยกความเสียหายออกเป็น 2 ส่วน คือ ความเสียหายตั้งแต่เดือนก.ย. 2544 ถึงส.ค.2558 จำนวน 76,000 ล้านบาท และตั้งแต่เดือน ต.ค.2558 ถึง ธ.ค. 2560 อีก ไม่ต่ำกว่า 18,200 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 9.4 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย
อย่างไรก็ตาม บริษัททรูฯ ไม่เห็นพ้องกับคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการข้างต้น จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2561 ก่อนที่ศาลปกครองกลางจะมีคำพิพากษาล่าสุด เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2563 ให้เพิกถอนคําชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และยกคําร้องเพื่อขอบังคับตามคําชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในที่สุด ทําให้บริษัททรูฯไม่มีภาระผูกพันในการชําระเงินตามคําชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ
คำพิพากษาของศาลปกครองกลางที่ออกมา ที่ทำเอาบริษัททีโอทีช็อกตาตั้ง ที่ฝันค้างมาแรมปีต้องพังทลายลงนั้นได้สร้างความกังวลระคนข้อกังขาให้แก่ผู้คนไปทั่วก็คือ
มีเหตุผลกลใดหรือที่ทำให้ศาลยกคำร้องขอบังคับคดีและเพิกถอนคำชี้ขาดของ คณะอนุญาโตตุลาการ เพราะกรณีนี้น่าจะถือเป็น "เคสแรกในประวัติศาสตร์" ที่ศาลปกครองมีคำสั่งชี้ขาดไม่ให้เอกชนคู่สัญญาจ่ายชดเชยความเสียหายแก่รัฐจากการทำละเมิด/ผิดสัญญาร่วมการงาน โดยไม่มีมาตรการเยียวยาอะไรให้แก่คู่สัญญาฝ่ายรัฐ
หากตรวจสอบมูลเหตุที่ศาลจะเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตฯ ตามมาตรา 40 แห่ง พรบ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 นั้นมีเพียง 3-4 กรณีคือ (1) สัญญาไม่มีผลตามกฏหมาย หรือการแต่งตั้งอนุญาโตเป็นไปโดยมิขอบ ไม่มีการแจ้งให้คู่พิพาทรับทราบล่วงหน้า หรือคำชี้ขาดเกินไปกว่าขอบเขตของสัญญาและข้อพิพาทที่มีต่อกัน หรือ(2)มีกรณีที่ปรากฎต่อศาลอย่างชัดแจ้งว่า คำชี้ขาดไม่ชอบด้วยกฏหมายเพราะขัดต่อความสงบเรียบร้อย(ก) และศีลธรรมอันดีของประชาชน(ข)
คำสั่งของศาลปกครองต่อกรณี ชี้ขาดไม่ต้องให้บริษัททรูฯคู่สัญญาทีโอที จ่ายชดเชยความเสียหายจากการละเมิดสัญญาหรือยินยอมให้ผู้อื่นเข้ามาใช้โครงข่าย ADSL ที่มีอยู่กับทีโอที ร่วมแสนล้านนั้น เข้าข่ายข้อไหนอย่างไร เป็นเรื่องที่สาธุชนและแวดวงวิชาการด้านกฏหมายคงต้องไปพิจารณากันเอง
แต่หากย้อนไปพิจารณาคำพิพากษาของศาลปกครองหรือศาลปกครองสูงสุดในคดีพิพาทลักษณะเดียวกันในอดีตนั้น มีกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งชี้ขาดที่แตกต่างไปจากคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ 2-3 กรณี ให้ได้ศึกษา
อาทิ กรณีพิพาททางด่วนบูรพาวิถี ระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทยและกิจการร่วมค้า บีบีซีดีและกลุ่ม ช.การช่างที่ คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยขี้ขาดให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐคือ กทพ. จ่ายชดเชยความเสียหายแก่เอกชน เป็นวงเงินรวมกว่า 6,400 ล้านบาท แต่สุดท้ายศาลสั่งเพิกถอนคำชี้ขาด
หรือกรณีค่าโง่บ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ที่ศาลปกครองสูงสุดเคยมีคำพิพากษาเมื่อ 21 พ.ย.2557 ให้บังคับตามคำวิริจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโดตุลาการที่ให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ชำระเงินค่าจ้างและค่าเสียหาย 9,600 ล้านพร้อมดอกเบี้ย 7.5 %ต่อปีให้กับกลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG และภายหลังศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาเมื่อ 21 มี.ค.2561 ให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ที่ให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) จ่ายค่าโง่ในการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน หลังจาก คพ.ยื่นขอให้พิจารณาคดีใหม่ เพราะมีคำพิพากษาคดีอาญาในศาลต่างๆ ว่าผู้เกี่ยวข้องกับการผลักดันโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านนี้ มีพฤติการณ์ทุจริต
ยังไม่เคยมีกรณีที่ศาลปกครองมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ที่ชี้ขาดให้คู่สัญญาเอกชนต้องจ่ายเงินชดเชยความเสียหายจากการทำละเมิดคู่สัญญาฝ่ายรัฐ แต่สุดท้ายกลับไม่มีพันธะต้องจ่ายขดเชยความเสียหายใดๆ ให้แก่คู่สัญญาฝ่ายรัฐแม้แต่น้อย นอกจากคดีนี้!
ทำให้สิ่งที่เราฝังอยู่ในมโนสำนึกโดยตลอดนั้น ต้องกลับไปถามตัวเราเองว่า ต้องคิดใหม่หรือไม่?
ต้องรอดูว่า ที่สุดแล้วบริษัททีโอที จะยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลางข้างต้นหรือไม่อย่างไรใน 39 วันนับจากวันที่มีคำพิพากษา
เพราะหากท้ายที่สุดแล้ว TOT ต้องชวดเงินชดเชยจากการทำละเมิดของคู่สัญญาเอกชน โดยไม่ได้รับการชดเชยความเสียหายใดๆ นับแสนล้านบาทแล้ว กรณีนี้ก็จะกลายเป็น "น้ำผึ้งหยดเดียว" ที่อาจทำให้บริษัทสื่อสารโทรคมนาคมอื่นๆเจริญรอยตามเอาได้
เช่นเดียวกับกรณีที่ กสทช. เคย Rubber stamp กรณีบริษัทสื่อสารเอกชนจัดสร้างโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม 3 จี ให้บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เช่าใช้ในอดีต โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภทที่ 3 ที่ทำให้รัฐเสียประโยชน์จากค่าธรรมเนียมรายปี และเงินเข้ากองทุน กทปส.ไปนับพันล้านนั่นแหล่ะ
สุดท้ายได้กลายมาเป็นหนามยอกอกที่ทำให้ กสท. แทบจะไปไม่เป็นจนวันนี้
หมายเหตุอ้างอิงข้อมูลข่าว: https://www.prachachat.net/ict/news-584910