เมื่อวันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 มีการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ครั้งที่ 1/2564 โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ณ ห้องบัญชาการยุทธศาสตร์ ชั้น 25 กระทรวงพลังงาน ได้รับทราบ และพิจารณาความก้าวหน้าการดำเนินงาน ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้
1. เดินหน้าระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) ช่วยเกษตรกรรายได้มั่นคง ผลไม้ไทยแข่งขันได้ทั่วโลก
ที่ประชุม กบอ. รับทราบ ความก้าวหน้าโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก หรือ EFC เป็นโครงการหลักของแผนพัฒนาภาคเกษตรในพื้นที่ อีอีซี โดยได้ลงนาม MOU การจัดทำระบบห้องเย็น เกิดความร่วมมือ 3 ฝ่าย คือ สกพอ. วางกลไกบริหาร ประสานเอกชน ผู้นำท้องถิ่น สหกรณ์ พร้อมพัฒนาการแปรรูป ประมูลสินค้า และการส่งออก สร้างรายได้สูงสุดตรงสู่เกษตรกร ปตท. ลงทุนระบบห้องเย็นขนาด 4,000 ตัน ด้วยเทคโนโลยีคงคุณภาพผลไม้ให้เหมือนเก็บจากสวน ยืดอายุ ไม่ต้องรีบส่งขาย และ กนอ. จัดหาพื้นที่บริเวณสมาร์ทปาร์ค มาบตาพุด โดยระบบห้องเย็น จะนำร่องด้วย ทุเรียน และผลไม้อื่น ๆ ต่อยอดไปยังอาหารทะเล ที่จะช่วยรักษาความสดใหม่ ให้เกษตรกรขายได้ตลอดปี มีรายได้มั่นคง สม่ำเสมอ ผลไม้ไทยแข่งขันได้ทั่วโลก พร้อมก้าวสู่ศูนย์กลางตลาดผลไม้โลก ขับเคลื่อน 4 แนวทาง “ศึกษาตลาด วางระบบการค้า-พัฒนาบรรจุภัณฑ์ใหม่ ห้องเย็นทันสมัย จัดระบบสมาชิก”
ทั้งนี้ การขับเคลื่อน EFC จะยกระดับภาคเกษตรไทย โดยนำเทคโนโลยีทันสมัยช่วยสนับสนุน การค้า การขนส่ง การเพาะปลูก ผลผลิตตรงความต้องการของตลาด ผ่านการขับเคลื่อนใน 4 แนวทางหลัก
1.) ศึกษาความต้องการตลาด เน้นศึกษา ความต้องการ ทุเรียน มังคุด และผลไม้ภาคตะวันออก สำรวจตลาดทั้งในและต่างประเทศ ถึงรสนิยมผู้บริโภค โดย สกพอ. อยู่ระหว่างศึกษาความต้องการตลาดทุเรียน เริ่มจากผู้บริโภคชาวจีน
2.) วางระบบการค้าสมัยใหม่ ผ่าน e-commerce และ e-Auction พัฒนาและลงทุนบรรจุภัณฑ์ ผลไม้จากภาคตะวันออก ขนส่งทางอากาศได้จำนวนมาก และสะดวก สู่ตลาดโลกได้ทันที เกษตรกรได้รับรายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง
3.) จัดทำระบบห้องเย็น ที่ทันสมัย จึงทำให้รักษาคุณภาพผลไม้สดใหม่เหมือนเก็บจากสวน ส่งขายได้ตลอดปี และมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัย โดยคาดว่าจะเปิดดำเนินการระยะแรกภายใน 12 เดือน
4.) จัดระบบสมาชิก อบจ.ระยอง จะช่วยรวบรวมสมาชิกสวนทุเรียน เพื่อนำร่องโครงการ โดยสมาชิกที่ร่วมโครงการ จะต้องใช้เทคโนโลยีพัฒนาผลผลิตที่ได้มาตรฐาน ตรงความต้องการตลาด
2. เร่งฝึกอบรมสร้างบุคลากร เสริมมาตรการเยียวยาภาครัฐ บรรเทาสถานการณ์โควิด 19
ที่ประชุม กบอ. รับทราบ ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 ต่อเศรษฐกิจในภาพรวม และในพื้นที่ อีอีซี มาตรการเยียวยาภาครัฐที่ดำเนินการไปแล้ว ครอบคลุมกว่า 1.2 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 55 ของวัยทำงานใน อีอีซี อย่างไรก็ตาม มาตรการเยียวยาภาครัฐเพิ่มเติมในระยะต่อไป มีความสำคัญและจำเป็น เช่น โครงการเราชนะ และการปรับเงื่อนไข ใน พ.ร.ก. soft loan จะเพิ่มความครอบคลุมการช่วยเหลือ ส่งผลดีต่อประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่ อีอีซี
อีอีซี ในระยะต่อไป นอกจากจะเร่งการลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตให้กับประเทศแล้ว ยังต้องทำนโยบายที่เน้น มุ่งเป้าเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบแรงจากโควิดมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมมาตรการเยียวยาภาครัฐในการฟื้นฟูและเพิ่มศักยภาพของประชากรในพื้นที่ เพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย โดยการพัฒนาทักษะบุคลากรแบบ Demand driven (EEC model) เป็นหนึ่งในกลไกเสริมมาตรการเยียวยาภาครัฐจากผลกระทบโควิด เพื่อสนับสนุนให้แรงงานมีรายได้ ช่วยสร้างแรงจูงใจให้บริษัทยังคงการจ้างงาน ซึ่งได้ดำเนินการเพิ่มเติม 3 โครงการ อีกกว่า 12,220 คน ซึ่งจะทำให้ภายในปี 2565 อีอีซี จัดการพัฒนาทักษะบุคคลากร รวมทั้งสิ้นได้กว่า 91,846 คน
3. ภาพรวมขอรับส่งเสริมการลงทุนใน อีอีซี
ที่ประชุม กบอ. รับทราบ ภาพรวมการขอรับส่งเสริมการลงทุนใน อีอีซี ในรอบปี 2563 (ม.ค.- ธ.ค 2563) ที่ผ่านมา มีทั้งสิ้น 453 โครงการ มูลค่าลงทุนสูงถึง 2.08 แสนล้านบาท คิดเป็น 43% ของมูลค่าการขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งประเทศ เป็นการลงทุนจากต่างประเทศรวม 1.15 แสนล้านบาท คิดเป็น 55% ของมูลค่าขอรับส่งเสริมทั้งหมดใน อีอีซี โดยนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น เข้ามาลงทุนใน อีอีซี สูงสุด มูลค่าการลงทุน 50,455 ล้านบาท คิดเป็น 44% และอันดับสองเป็นนักลงทุนจากจีน มูลค่าการลงทุน 21,831 ล้านบาท ด้านความคืบหน้า โครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนใน อีอีซี ในปี 2563 จาก 453 โครงการ ได้อนุมัติคำขอแล้ว 292 โครงการ คิดเป็น 64% ออกบัตรส่งเสริมแล้ว 172 โครงการ คิดเป็น 59% และได้เริ่มโครงการแล้ว 79 โครงการ คิดเป็น 46%
4. ร่วมมือพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) แหลมฉบัง ก้าวสู่ศูนย์กลางขนส่งสินค้านานาชาติ
ที่ประชุม กบอ. รับทราบ การลงนาม MOU ศึกษาการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ระหว่าง การท่าเรือฯกับ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ร่วมกันศึกษาแนวทางการลงทุน รูปแบบการให้บริการขนส่ง กำหนดแผนงานที่เหมาะสมการพัฒนาท่าเรือบก ในเขตพื้นที่ Amata Smart & Eco City ใน สปป.ลาว ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อเชื่อมต่อระบบขนส่งและโลจิสติกส์ของไทย ให้เป็นโครงข่ายการขนส่งสินค้า เปิดประตูการค้าให้ สปป. ลาว ที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล และสนับสนุนโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โดยพัฒนาท่าเรือบกให้เป็นโครงข่ายเชื่อมโยงขนส่งสินค้า จากประเทศจีน สปป.ลาว และประเทศไทย ขับเคลื่อนท่าเรือแหลมฉบังก้าวสู่ศูนย์กลางการค้า การบริการ และการลงทุนโดยเฉพาะด้านระบบโลจิสติกส์ที่จะเชื่อมโยงกับนานาชาติ โดยความร่วมมือศึกษาการพัฒนาท่าเรือบก จะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2564 นี้
5. รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เร่งรัดส่งมอบ เปิดพื้นที่ก่อสร้าง เสร็จตามแผน
ที่ประชุม กบอ. รับทราบความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งการดำเนินงานเป็นไปตามแผนคณะทำงานเร่งรัด ฯ และมีความคืบหน้าต่อเนื่องเป็นลำดับ โดยการรื้อย้ายสาธารณูปโภค เพื่อเปิดพื้นที่ก่อสร้าง พร้อมสามารถส่งมอบพื้นที่ส่วนใหญ่ได้ภายในเดือนมีนาคม 2564 และการส่งมอบพื้นที่เวนคืน อยู่ในขั้นตอนการทำสัญญาซื้อขายโดย รฟท. ซึ่งจะส่งมอบพื้นที่อย่างช้าภายในเดือนกันยายน 2564