หลังจาก “สำนักข่าวเนตรทิพย์ออนไลน์”ได้สะท้อนปัญหาพลังงาน “ลับ ลวง พราง พลังงานกับค่าโง่แสนล้านที่คนไทยรับกรรม”ไปก่อนหน้า
อ่านเพิ่มเติม :
เนตรทิพย์:Special Report
ลับ ลวง พราง พลังงาน.. กับค่าโง่แสนล้านที่คนไทยรับกรรม (ตอนที่1)
http://www.natethip.com/news.php?id=4149
เนตรทิพย์:Special Report
ลับ ลวง พราง นโยบายพลังงาน.. กับค่าโง่แสนล้านที่คนไทยรับกรรม (ตอนที่2)
http://www.natethip.com/news.php?id=4174
เนตรทิพย์:Hot Issue
กรมเชื้อเพลิงก้นรัอน..เร่งเครื่องเจรจาเปิดแหล่งก๊าซ
http://www.natethip.com/news.php?id=4175
โดยได้เตือนให้ภาครัฐได้เร่ง “ผ่าทางตัน” ปัญหานโยบายพลังงาน และแหล่งก๊าซของประเทศ ที่กำลังจะทำให้ประเทศไทยเกิด “สุญญากาศ” ด้านแหล่งก๊าซขึ้นมา
แม้กระทรวงพลังงาน จะออกมายืนยันนั่งยัน ได้เตรียมมาตรการรองรับในการจัดการกับปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะการเปิดเสรีนำเข้าก๊าซ ระยะที่ 2 ที่มีการเปิดให้ผู้ค้าก๊าซนำเข้า LNG จากต่างประเทศ เพื่อลดการผูกขาดเพิ่มการแข่งขัน และน่าจะเป็นหลักประกันให้ประชาชนคนไทยได้สบายใจได้ว่า ไทยจะไม่มีปัญหาเรื่องของแหล่งพลังงาน เรื่องของราคาก๊าซ จนสะท้อนลงไปยังราคาค่าไฟฟ้าในมือประชาชน
แต่วันนี้ กระทรวงพลังงานเริ่มส่งสัญญาณให้เห็นแล้วว่า ความกังวลที่ทุกฝ่ายจับตามาโดยตลอด กำลังเดินมาถึงจุดดังกล่าวแล้ว การเปิดเสรีนำเข้า LNG นอกจากจะไม่เกิดขึ้นจริงแล้ว ในส่วนของแหล่งก๊าซแหล่งสัมปทานที่จะต้องเปลี่ยนผ่านมาจาก “เชฟรอน” สู่มือของ ปตท.สผ. ก็ทำท่าจะลากยาวเป็นมหากาพย์อีกเรื่อง!
และทั้งหลายทั้งปวง ยังจะทำให้ประชาชนคนไทย กลายเป็นผู้รับเคราะห์กรรม ซ้ำเติมวิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤตโควิด-19 เข้าไปอีก!
เปิดเสรีนำเข้าก๊าซยังไม่ตอบโจทย์
แม้ว่าก่อนหน้านี้รัฐบาลจะป่าวประกาศนโยบายเปิดเสรีก๊าซตามมติ กพช.เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 และ 4 สิงหาคม 2564 โดยเปิดเสรีก๊าซระยะที่ 2 ให้ผู้ค้าส่งก๊าซหรือประกอบการภาคเอกชน นำเข้า LNG จากต่างประเทศเพิ่มเติมจากที่ ปตท.นำเข้า ด้วยหวังจะเพิ่มจำนวน Shipper รายใหม่ เข้ามาแข่งขันกับรายเดิม คือ ปตท. เพื่อลดการผูกขาด
โดย กบง. และ กพช. กำหนดโควต้านำเข้า LNG ในปี 2564 ไว้จำนวน 4.8 แสนตัน ปี 2565 จำนวน 1.74 ล้านตัน และปี 2566 จำนวน 3.02 ล้านตัน โดยให้สิทธิ์ Shipper รายใหม่นำเข้า LNG ได้ก่อนเป็นอันดับแรก
แต่กลับปรากฏว่า เอาเข้าจริง กลับไม่มีผู้ค้าก๊าซรายใดนำเข้า LNG จากต่างประเทศ เนื่องจากราคา LNG ในตลาดโลกในช่วงที่ผ่านมาทะยานขึ้นมาสูงมากถึง 13-17 เหรียญ/ล้านบีทียู เมื่อเทียบกับราคา LNG ตามระบบพูลเดิมที่ ปตท.นำเข้าอยู่และสัญญาส่งต่อให้กับบรรดาโรงไฟฟ้าทั้งหลาย จึงมีโอกาสสูงที่ท้ายที่สุดแล้วโควตานำเข้าเหล่านี้ ก็คงจะถูกโยกกลับไปให้ ปตท.นำเข้าตามระบบพูลเดิม และนำมาเฉลี่ยกับราคาตามสัญญาจัดหาที่ ปตท.มีอยู่
จนก่อให้เกิดคำถามนโยบายเปิดเสรีนำเข้าก๊าซเอื้อประโยชน์ต่อใครกันแน่ เป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า หรือผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า หรือเอื้อประโยชน์ต่อบรรดา Shipper กันแน่
เพราะกลายเป็นว่า Shipper เอกชนที่จ้องแต่จะนำเข้า LNG เฉพาะในช่วงที่ Spot LNG ราคาถูก เพราะโรงไฟฟ้าตัวเองจะได้ประโยชน์ แต่พอ LNG ราคาแพงขึ้นก็ซื้อเวลา ไม่อยากนำเข้าและรับภาระแทนผู้ใช้ไฟฟ้า โยนไปให้ ปตท.รับเผือกร้อนนำเข้าไปแทน
เตรียมรับมือค่าไฟฟ้าพุ่งปี 65!
ความล้มเหลวในการเปิดเสรีก๊าซระยะที่ 2 ที่ทุกฝ่ายคาดหวังจะเห็นการแข่งขัน แก้ลำการผูกขาดที่ทุกฝ่ายเรียกร้องมาตลอดนั้น ในปี 64 นี้อาจไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าใด ๆ เนื่องจากปริมาณการนำเข้าที่เหลืออยู่ของปีนี้มีเพียง 4 แสนตันเท่านั้น และ ปตท. เองยังคงสามารถแบกรับภาระรับมือกับการนำเข้าก๊าซ LNG ส่วนที่เหลือได้อยู่ โดยนำมาเฉลี่ยกับต้นทุนราคา LNG ในระบบพูลที่มีอยู่เดิม ทำให้ราคาพลังงานที่ส่งผ่านไปยังโรงไฟฟ้า และราคาค่าไฟในมือประชาชนนั้น ไม่ได้รับผลกระทบหรือได้รับผลกระทบน้อย
แต่ในปี 2565-66 อันเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านสัมปทานปิโตรเลียมจากมือเชฟรอน มายัง ปตท.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์จำกัด (ปตท..สผ.อีดี) บริษัทย่อยที่ชนะประมูลสัมปทานในแหล่ง G1 ที่คงจะล่าช้าไปจากกำหนดเดิมไม่ต่ำกว่า 2-3 ปีจากนี้
ทำให้มีการคาดการณ์กันว่า “จะเกิดปัญหาขาดแคลนก๊าชในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ไม่ต่ำกว่าวันละ 200-300 ล้านลูกบาศก์ฟุต และต้องไปอาศัยการนำเข้า LNG จากต่างประเทศเป็นหลัก”
โดย กกพ. และ กบง. ได้กำหนดโควตานำเข้า LNG ในช่วงปี 2565-66 เอาไว้ที่ 1.74 ล้านตัน และ 3.02 ล้านตัน มากกว่าที่ปตท.นำเข้าในปัจจุบันเป็นเท่าตัว ซึ่งหากพิจารณาแนวโน้มราคา LNG ในตลาดโลกที่ยังคงพุ่งทะยานดังเช่นปัจจุบัน ก็คงเป็นที่คาดการณ์ได้ว่าบรรดา Shipper ทั้งหลายที่ตั้งแท่นจะนำเข้า LNG แข่งกับ ปตท.ก่อนหน้านั้น ก็คงจะโบกมือลา โยนไปให้ ปตท.บริหารการนำเข้าตามระบบเดิมต่อไปอีก
แน่นอนด้วยสนนราคา LNG ในตลาดโลกที่สูงลิ่วเช่นนี้ ไม่ว่า ปตท.จะใช้ระบบพูลนำเข้ามาอย่างไร ราคาก๊าซที่ส่งผ่านไปยังโรงไฟฟ้า และค่าไฟฟ้าในมือประชาชน ก็คงสูงกว่าที่เป็นอยู่นี้แน่ เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าต้องหันไปพึ่งแหล่งก๊าซจากต่างประเทศเป็นหลัก
ขณะที่ “แหล่งก๊าซสัมปทาน G1 ที่รัฐบาล และ ปตท.สผ. จะต้องเร่งปลดล็อคกันไปตั้งแต่ปีมะโว้ และเริ่มผลิตก๊าซป้อนเข้าสู่ระบบในราคาที่ต่ำติดดิน 4 เหรียญ/ล้านบีทียูนั้น จนถึงวันนี้ก็ยังคงลูกผีลูกคน ไม่รู้ว่ากระทรวงพลังงานและปตท.จะสางปัญหาการเข้าพื้นที่แหล่งก๊าซสัมปทานที่ว่าได้เมื่อใด”
หากปัญหายังคาราคาซัง ย่อมแน่ชัดว่า ราคาพลังงานและค่าไฟฟ้าที่กำลังจะถล่มประชาชนคนไทย ซ้ำเติมวิกฤตไวรัสโควิด-19 และวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คงไม่สามารถจะปฏิเสธความรับผิดชอบไปได้ว่า..นี่คือ..ความล้มเหลวด้านพลังงานของประเทศ นี่คือความไร้วิชั่น ไร้กึ๋นของรัฐมนตรีพลังงานและรัฐบาลหรือไม่ โดยไม่อาจจะโยนปัญหานี้ไปให้รัฐบาลอื่นใดได้อีก
รวมไปถึงคำถามคำโตที่จะเกิดขึ้นตามมาถึง “เชฟร่อน” จะร่วมรับผิดชอบจากกรณีที่ยังไม่ปลดล็อคแหล่งก๊าชเอราวัณ จนส่งผลให้ประชาชนจ่อแบกภาระจ่ายค่าไฟฟ้าอ่วมในอนาคตอันใกล้นี้ด้วยหรือไม่?
หากถึงเวลานั้น รัฐบาลหรือกรมเชื้อเพลิงพลังงาน ที่ทำหน้าที่เจรจากับเชฟรอน รวมถึง “เชฟรอน กับ ปตท.สผ.” เอง ที่กำลังเล่นเกมต่อรองผลประโยชน์จากหลุมก๊าชเอราวัณ โดยจับเอาประชาชนเป็นตัวประกัน จนยังไม่สามารถ “ผ่าทางตันปัญหาค่าไฟฟ้าและพลังงานได้”
คงหนีไม่พ้นที่รัฐบาล จะใช้วิธีแก้ปัญหาแบบเดิมๆ โดยยังคงหันไปกู้แล้วกู้อีก เพื่อเอาเงินกู้มาชดเชยราคาก๊าซ ราคาค่าไฟฟ้าในมือประชาชนคนไทย และแน่นอนว่า รัฐบาลก็คงจะถูกผู้คนในสังคมถล่มในความล้มเหลวในการบริหารจัดการด้านพลังงานอยู่ดี
นับถอยหลังกันเอาไว้ ไม่เกิน 6 เดือนจากนี้ ได้ช็อคซีนีมากันทั้งประเทศแน่!