ใครที่เคยเชื่อ...โอกาสมักแฝงอยู่ในวิกฤต! ถึงนาทีนี้ เมื่อเปลี่ยนความเชื่อไม่ทัน อาจนำมาซึ่ง “หายนะ”..เพียงเพราะอาการโลภมากเป็นเหตุ!
และคำตอบก็อยู่ที่ประกันภัยโควิดฯ ทั้งที่ใช่และไม่ใช่ “เจอจ่ายจบ” เพราะที่สุด! เจ๊งยับกันถ้วนหน้า
ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นับแต่ต้นปี 2563 ที่ยังเป็นเพียง “เชื้อโควิดฯ ต้นทาง” จากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน...การแพร่กระจายและการติดเชื้อยังไม่รุนแรง ขณะที่ทางการไทย ได้ออกมาตรการมารองรับ จนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีในระดับที่โลกให้การยอมรับ
ครั้งนั้น บริษัทประกันภัยหลายแห่ง มองเห็นโอกาสในวิกฤติ! และทำเรื่องเสนอ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อขอออก “กรมธรรมฉบับใหม่” ขึ้นมารองรับความต้องการของประชาชน ที่อยากสร้างหลักประกันคุ้มครองชีวิตและสุขภาพของตัวเองและคนที่รัก
สำนักงาน คปภ. ภายใต้การนำของ นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. เด้งรับทันควัน! ด้วยหวังจะสร้างชื่อ และพ่วงโอกาสไปกับบริษัทประกันภัยเหล่านี้ ด้วยการ “ไฟเขียว” อนุญาตให้มีการขายกรมธรรมประกันภัยโควิดฯ ทั้งที่เป็นประกันภัยปกติทั่วไปและประเภท “เจอจ่ายจบ”
การ “ไฟเขียว” ครั้งนั้น มีการตั้งข้อสังเกตว่า สำนักงาน คปภ. ไม่ได้ดูในรายละเอียดของข้อความที่ซุกซ่อนอยู่ในเนื้อหาของกรมธรรม์หรือไม่?
กระทั่ง เมื่อสายพันธุ์โควิดฯ เปลี่ยนไป...จากสายพันธุ์อู่ฮั่น เป็นอัลฟ่า (อังกฤษ) และเดลต้า (อินเดีย) ที่มีระดับความรุนแรงของเชื้อไวรัส มากขึ้นหลายเท่าทวีคูณ
ทำให้มีบริษัทประกันภัยบางแห่ง (สินมั่นคงประกันภัย) อาศัยบางข้อความในกรมธรรม์ ที่เขียนเปิดช่องให้บริษัทประกันภัย สามารถบอกเลิกสัญญาประกันภัยกับผู้เอาประกันภัยได้
ร้อนถึง สำนักงาน คปภ. ที่ต้องออกคำสั่งนายทะเบียน โดยอาศัยอำนาจของ เลขาธิการ คปภ. เพื่อหวังยุติปัญหาดังกล่าว และก็ไม่ได้ออกคำสั่งนายทะเบียน เพียงครั้งเดียว
แต่มีการออกคำสั่งนายทะเบียนหลายต่อหลายครั้ง และยังมีการจัดประชุมร่วมกันระหว่าง สำนักงาน คปภ. กับสมาคมประกันวินาศภัยฯ และสมาคมประกันชีวิตฯ เพื่อเร่งเคลียร์ปัญหาดังกล่าว ด้วยเกรงจะส่งผลกระทบต่อประชาชน
ที่สำคัญ มีสายด่วนจากทำเนียบรัฐบาล ถึงรองนายกฯ ที่ดูแลงานด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้ต่อสายไปยังกระทรวงการคลัง ต้นสังกัดของ สำนักงาน คปภ. อีกทั้ง ตัวปลัดกระทรวงการคลัง อย่าง...นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ เอง ก็มีตำแหน่งเป็น “ประธานบอร์ด คปภ.” อยู่ด้วย
การคุมเข้มเพื่อป้องกันมิให้บริษัทประกันภัย “บอกเลิกสัญญา” จึงเข้มข้น ไปพร้อมกับการบังคับให้บริษัทประกันภัยเหล่านั้น ต้องจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนในการเคลมเงินประกัยภัยโควิดฯ
คู่ขนานกันไป สำนักงาน คปภ. ยังได้จัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์เฉพาะโควิดฯ ขึ้นมาอีก นัยว่าต้องการจะ “บีบ” ให้บริษัทประกันภัย จำต้องควักจ่ายเงินค่าสินไหม “เคลมประกันภัยโควิดฯ” ให้กับประชาชน...ผู้เอาประกันภัย
บทเข้ม! ของสำนักงาน คปภ. ทำให้บริษัทประกันภัย ที่พยายาม “ยื้อจ่าย!” เงินค่าสินไหม มิอาจทำได้ถนัดนัก แม้จะมีการร้องเรียนของประชาชนอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มากเหมือนเช่นกัน
นั่นก็หมายความว่า...เริ่มมีประชาชนที่ได้รับเงิน “เคลมประกันภัยโควิดฯ” กันไปเยอะแล้ว
ว่ากันว่า...ยอดจ่ายเงินค่าสินไหมฯ ณ ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท และหากนับจนถึงกลางเดือนกันยายนแล้ว ตัวเลขเงินที่บริษัทประกันภัยต้องจ่ายเป็น “ค่าสินไหม” ทั้งที่เป็นประกัยภัยโควิดฯ ทั่วไป และประเภท “เจอจ่ายจบ” นั้น ไม่น่าจะต่ำกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท
รายใหญ่ๆ เช่น บมจ.ทิพยประกันภัย มีข่าวหลุดออกมาว่า...ควักจ่ายเพื่อการนี้ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งก็เหมือนกับบริษัทประกันภัยรายใหญ่อื่นๆ ที่ควักจ่ายในระดับใกล้เคียงกัน
นี่ยังไม่รวมรายเล็กๆ ที่ต้องควักจ่ายระดับ “เฉียดพันล้าน” ไปจนถึงมากกว่า “1 พันล้าน” รวมๆ กันอีกนับสิบบริษัท
อย่าแปลกใจที่เหตุใด บริษัทประกันภัยทั้งหลาย จะต้องควักจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนสูงมากขนาดนี้ นั่นก็เพราะ บริษัทประกันภัยเหล่านี้...มองเห็นโอกาสในวิกฤต โดยไม่ศึกษาถึงสิ่งที่ตัวเองทำอย่างถ่องแท้ แค่หวังจะได้มากกว่าเสีย!
สุดท้าย...มีแต่เสียกับเสีย!!!
เพราะยอดการติดเชื้อโควิดฯ พุ่งทะลุหลัก 2-3 พันรายต่อวัน ยอดรวมผู้ติดเชื้อ ณ วันนี้ เกือบ 1.5 ล้านคนไปแล้ว ลองคิดกันดู...ในกลุ่มผู้ติดเชื้อและซื้อประกันภัยโควิดฯ “เจอจ่ายจบ” จะต้องได้รับเงินค่าสินไหมทดแทน รวมๆ กันเป็นจำนวนเท่าใด?
มีตัวเลขที่หลุดออกมากจาก สำนักงาน คปภ. ว่า ณ กลางเดือนกันยายน 2564 มีกรมธรรม์ประกันภัยโควิดฯ พุ่งสูงถึงเกือบ 20 ล้านกรมธรรม์ และในจำนวนราว 40% เป็นประเภท “เจอจ่ายจบ”
เมื่อเป็นเช่นนี้...จะไม่ให้บริษัทประกันภัยที่ขายประกันภัยโควิดฯ ทั้งประเภททั่วไป และ “เจอจ่ายจบ”...เจ๊ง! กันได้อย่างไรกัน
ถึงได้มีข่าวหลุดออกมาเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน...ในทำนองมีบริษัทประกันภัยบางแห่ง “เจ๊งแล้วจ้า” เหตุผลควักจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนจากประกันภัยโควิดฯ กันเป็นจนสภาพคล่องหมดหน้าตัก! มีกระแสข่าวว่า ถึงขั้นให้ออกพนักงานบางส่วน เพื่อลดภาระรายจ่ายของบริษัทฯ
ร้อนถึง สำนักงาน คปภ. โดย นายสุทธิพล ในฐานะเลขาธิการ คปภ. จำต้องออก 3 มาตรการเร่งด่วนเพื่อสยบข่าวลือนี้ ด้วยเกรงปัญหาดังกล่าว จะกลายเป็น “ไฟลามทุ่ง” ทำลายขวัญและกำลังใจ ทั้งของประชาชนผู้เอาประกัน และพนักงานของบริษัทประกันภัยเอง
นายสุทธิพล ระบุว่า จากกรณีที่มีข่าวว่าบริษัทประกันวินาศภัยแห่งหนึ่งได้แจ้งการเลิกจ้างพนักงานของบริษัทฯ โดยสำนักงาน คปภ. ได้ติดตามและตรวจสอบสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เบื้องต้นได้รับรายงานจากบริษัทแห่งนี้ว่า กรณีดังกล่าวบริษัทฯ ได้ดำเนินการเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ ให้สามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยตามภาระผูกพันได้ และยังคงพนักงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนไว้
ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้ตระหนักถึงความกังวลของประชาชนจากกรณีข่าวของบริษัทแห่งนี้ และเพื่อกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย พร้อมทั้งดูแลคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัย ได้ดำเนินการและออกมาตรการที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว ดังนี้
1. ส่งทีมตรวจสอบเข้าไปตรวจสอบและติดตามสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว โดยบูรณาการร่วมกับสายกฎหมายและคดี และสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ยังไม่พบการเลิกประกอบกิจการของบริษัท และยังไม่พบพฤติการณ์การยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินแต่อย่างใด ซึ่งมีกลไกทางกฎหมายในการป้องกันและควบคุมในส่วนนี้อยู่ อีกทั้ง ก็ยังไม่พบว่ามีบริษัทประกันภัยอื่นมีปัญหาในลักษณะดังกล่าว
ทั้งนี้ การเลิกประกอบกิจการ ต้องมีขั้นตอนการดำเนินการ โดยต้องยื่นขออนุญาตต่อคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการยื่นเข้ามาแต่อย่างใด
2. จะเชิญคณะกรรมการและผู้บริหารบริษัทฯ เพื่อทราบเจตจำนงและชี้แจงในกรณีดังกล่าวเพิ่มเติม พร้อมทั้ง ให้กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย
3. ได้กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นไว้อย่างเป็นระบบและขั้นตอน โดยจะเริ่มจากมาตรการเบาไปหาหนัก ทั้งนี้ หากพบว่าบริษัทฯ มีพฤติการณ์ที่เป็นเหตุก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน จะเร่งใช้มาตรการทางกฎหมายโดยเคร่งครัดอย่างรวดเร็ว เพื่อมิให้ปัญหาลุกลามบานปลาย
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ต้องมีสภาพคล่องเพียงพอเพื่อเร่งจ่ายเคลมประกันภัยโควิด-19 ให้เป็นไปตามคำสั่งสำนักงาน คปภ. เรื่อง ให้แก้ไขเพิ่มเติมคู่มือ ระบบงาน และกระบวนการดำเนินการพิจารณาและจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2564 ซึ่ง บริษัทฯ สามารถเข้าร่วมมาตรการผ่อนปรน ตามที่ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ได้เห็นชอบมาตรการสำหรับบริษัทประกันวินาศภัยที่มีค่าสินไหมทดแทน COVID-19 ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
“สำนักงาน คปภ. จะติดตามการดำเนินการของบริษัทฯ และบริษัทประกันภัยอื่น ๆ อย่างใกล้ชิดและทันที หากมีกรณีที่จะกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของประชาชน จะดำเนินการทุกมาตรการที่เกี่ยวข้องควบคู่กับมาตรการทางกฎหมาย เพื่อปกป้องอย่างเต็มความสามารถไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน พร้อมทั้งได้แจ้งเตือนไปยังบริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยโควิด-19 ให้ดำเนินการต่าง ๆ อย่างรอบคอบและระมัดระวัง โดยคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ของประชาชน และคำถึงถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงขอให้ประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนกกับสถานการณ์ดังกล่าว สำหรับบริษัทที่มีปัญหาด้านสภาพคล่อง สำนักงาน คปภ. ได้ออกมาตรการผ่อนปรนรองรับไว้แล้ว เพื่อดูแลและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนอย่างเต็มที่และเต็มความสามารถในทุกมิติ ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
ถึงตรงนี้ สิ่งที่ “สำนักข่าวเนตรทิพย์” ได้เขียนเตือนมาตลอด 1-2 เดือนที่ผ่าน ถึงปัญหา “ซุกใต้พรม” ที่สำนักงาน คปภ. สั่งสมเอา ก็เริ่มปรากฏผลให้ได้เห็นเป็นรูปธรรมบ้างแล้ว
แม้ สำนักงาน คปภ. จะระบุว่า ณ ขณะนี้ ยังไม่พบบริษัทประกันภัยที่มีปัญหา แต่จากออกอาการรนราน...ออก 3 มาตรการ และประกาศจะติดตามเรื่องนี้อย่างเข้มงวดและลงลึก ย่อมส่อไปในทิศทางที่ทำให้เชื่อได้ว่า... ปัญหาบริษัทประกันภัยเจ๊ง! เพราะต้องควักจ่ายเงินค่าสินไหมฯ “เคลมประกันภัยโควิดฯ” มีอยู่จริง! และตัวเลขที่จะต้องควักจ่ายในระดับมากกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท ก็เป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงความเป็นจริง
เมื่อเป็นเช่นนี้ จะไม่ให้สังคมไทย พลอยคิดกันต่อไปได้ยังไงว่า...บริษัทประกันภัยเหล่านั้น จะไม่เจ๊ง! เพราะพิษประกันภัยโควิด ทั้งที่ใช่และไม่ใช่ “เจอจ่ายจบ”
หากจะมองว่า...ปรากฏการณ์นี้ มีทฤษฎี “เจอจ่ายเจ๊งและจบ!” มาอธิบายความหมาย ก็ไม่ไกลจนเกินเลยไปสักเท่าใดนัก