ยังคงเป็นประเด็นสุดฮอต เป็น Talk of the Town
กับเรื่องของ “กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ” หรือ “กองทุน USO” ใน กสทช.ที่มีรายได้จากค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากผู้ประกอบกิจการที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ปีละหลายหมื่นล้านบาท และที่ผ่านมาถูกวิพากษ์วิจารณ์กันมาตลอดว่า มีการใช้เงิน “มือเติบ” ราว “สามล้อถูกหวย” โดยปราศจากการตรวจสอบ
ทำให้มีการคาดการณ์กันว่า ในการพิจารณาแผนดำเนินงานของกองทุน ฉบับที่ 3 ที่จะใช้ในข่วงปี 2565-2569 นั้น คณะกรรมการบริหารกองทุน คงจะมีการทบทวนแผนการดำเนินการกองทุน โดยมีการคาดการณ์กันว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนคงจะมีการพิจารณาปรับลดค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากผู้ประกอบการโทรคมนาคมในระดับหนึ่งพอเป็นพิธี เพื่อลดแรงกดดันจากสังคม แต่ก็ยังคงมีแผนเดินหน้าผุดโครงการเพื่อใช้เงินมือเติบต่อไปอีก 5 ปี
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้ว่า กองทุน USO ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดว่ามีการถลุงงบกัน “มือเติบ” โดยปราศจากการตรวจสอบ สร้างภาระแก่ผู้ประกอบการ แต่กสทช.ก็อ้างว่า กองทุนฯ ยังคงมีภารกิจที่ต้องลงทุนขยายโครงข่ายโทรศัพท์ และบริการโทรคมนาคมในพื้นที่ห่างไกล จึงมีการผลักดันโครงการต่าง ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง และมีการตั้งข้อสังเกตุว่า ใช้งบมือเติบราว “สามล้อถูกหวย” หรือไม่ ซึ่งบางโครงการมีการลงทุนซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่ให้บริการอยู่แล้ว
อย่างโครงการให้บริการสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ในพื้นที่ชายขอบ 1,890 หมู่บ้าน หรือโครงการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 3,912 หมู่บ้าน ,โครงการศูนย์ USO Net และ โครงการพัฒนาทักษะ ICT ให้กับประชาชน ซึ่งแต่ละโครงการที่ดำเนินการไป สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ลงไปตรวจสอบเคยมีรายงานว่า เต็มไปด้วยปัญหาไม่สามารถติดตั้งอุปกรณ์ให้แล้วเสร็จตามกำหนด และไม่สามารถควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของผู้ให้บริการให้เป็นไปตามแผนดำเนินงาน หลายโครงการติดตั้งล่าช้าเป็นปี
หรืออย่างบริการโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (OLT) บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสาธารณะ Wi-Fi หมู่บ้าน, บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสำหรับหน่วยงานของรัฐในรูปแบบ Wi-Fi โรงเรียน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และศูนย์อินเทอร์เน็ต (Uso Net) ภายในโรงเรียน ก็เต็มไปด้วยปัญหา การให้บริการไม่สอดคล้องกับสภาพความจำเป็นภายในหมู่บ้าน หรือหมู่บ้านส่วนใหญ่ต่างมีบริการอินเทอร์เน็ตของเอกชนเข้าถึงพื้นที่อยู่แล้ว
“ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เสียงสะท้อนต่อโครงการลงทุนต่างๆ ของกองทุน USO ที่ถลุงเม็ดเงินไปหลายหมื่นล้าน แต่เราก็ยังคงเห็นข่าวของเด็กในพื้นที่ห่างไกล ต้องไปนั่งเรียนออนไลน์ตากแดดอย่างยากลำบาก หรือต้องเดินทางไปไกลหลายกิโล เพื่อหาสัญญาณโทรศัพท์ในการเรียนออนไลน์ ทั้งที่พื้นที่เหล่านั้นเป็นพื้นที่เป้าหมายของ กสทช. สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นผลงานที่ย่ำแย่ของโครงการ USO และส่วนหนึ่งของปัญหาก็มาจากความบกพร่องไม่ทันโลกของโครงการ USO ด้วย”
ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมหลายราย รวมทั้งภาคประชาชนต่างฝากความหวังเอาไว้ที่ กสทช.ชุดใหม่ที่วุฒิสภากำลังอยู่ระหว่างสรรหาและแต่งตั้งจะได้เข้ามาทบทวนบทบาทของกองทุน รวมทั้งปรับลดอัตราค่าธรรมเนียนมที่เรียกเก็บจากผู้ประกอบการให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ รวมทั้งเร่งสางปัญหาต่างๆ ที่ยังคงคั่งค้างอยู่ โดยเฉพาะ การใช้เม็ดเงินกองทุนที่ได้จากการรีดค่าต๋งค่าธรรมเนียมอย่างคุ้มค่า เพื่อประโยชน์ของประชาชนผู้ด้อยโอกาสอย่างแท้จริง
“ยื่งในภาวะปัจจุบัน ที่ผู้ประกอบการน้อย-ใหญ่ต่างสำลักพิษเศรษฐกิจ จากผลพวงไวรัสโควิด-19 ประกอบกับบทบาทและภารกิจหลักของกองทุนที่ได้ดำเนินการไปก่อนหน้า ยังมีหลายโครงการที่กองทุนจำเป็นต้องเคลียร์หน้าเสื่อหรือเก็บงานเป็นจำนวนมาก ขณะที่ภาระกิจหลักที่กองทุนจะต้องดำเนินการก็ลดน้อยลง หรือแทบไม่หลงเหลือกิจกรรมอื่นให้ดำเนินการแล้ว จึงไม่สมควรที่จะสร้างภาระใหม่ทับถมปัญหาเดิมจนกลายเป็นดินพอกหางหมู”
ทุกฝ่ายจึงเห็นว่า กสทช.น่าจะได้ทบทวนบทบาทของกองทุน USO ทบทวนแผนกองทุนฉบับที่ 3 ที่จะนำมาใช้ในช่วงปี 2565-69 นี้ให้มีความสอดคล้องกับยุคสมัย โดยกองทุนควรทบทวนการนำงบประมาณการสร้างศูนย์ USO Net และการใช้งบประมาณจำนวนมากเกินเหตุในการพัฒนาทักษะด้าน ICT กับประชาชน
รวมทั้งทบทวนอัตราค่าธรรมเนียมจัดเก็บเข้ากองทุน ให้เกิดความเหมาะสมสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยควรลดอัตราจัดเก็บค่าธรรมเนียมให้สอดคล้องกับภารกิจที่เหลืออยู่เท่านั้น เพื่อให้โอเปอเรเตอร์สามารถลงทุนขยายโครงข่ายอย่างเต็มกำลังความสามารถ หรือสร้างประโยชน์ด้านอื่นๆ ที่จะช่วยเหลือประชาชนได้อย่างแท้จริง