วันแรกเปิดสั่งอาหารผ่านแอปฯฟู้ดฯดิลิเวอรี ไม่เวิร์ก! อย่างที่รัฐบาลคาดหวัง เหตุเพราะ ก.คลัง สร้างเงื่อนปม 2 ล็อค “ล่าช้า-บังคับเลือกรายเดียว” จนร้านค้าร่วมโครงการหล่นวูบ! ยอดขายหดเยอะ? โถ! ขายรวมอาหารและเครื่องดื่มทั่วไทย ได้แค่ 11 ล้านบาทเศษ
เสียดาย! ที่รัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง...ไม่ตีเหล็กตอนร้อน! และไม่ผ่อนปรนเงื่อนไข สร้างแรงจูงใจให้มากกว่านี้? ไม่งั้น...ความสำเร็จ คงไม่มาพร้อมกับความไม่สำเร็จเป็นแน่?
มีอย่างที่ไหน? หลายคนตั้งตารอคอย เพื่อที่ตัวเองจะได้ใช้สิทธิในโครงการคนละครึ่ง ที่รัฐบาลเปิดทางให้สามารถใช้สิทธิสั่งอาหารและเครื่องดื่ม ผ่านแพลตฟอร์ม ฟู้ดเดลิเวอรี่ ประเดิมวันแรกเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 4 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา...
แต่กลับกลายเป็นว่า...ตลอดวันเต็มๆ ของแรก กลับมียอดออเดอร์สั่งอาหารและเครื่องดื่ม ผ่านแอปฯของ Grab และ LINEMAN ซึ่งเป็น 2 ผู้ประกอบการแรกที่ได้สิทธินี้ก่อนชาวบ้าน...ไม่น้อยเต็มที!
ข้อมูลที่ “โฆษกคลัง” นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยงาน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แจงไว้ น่าสนใจไม่น้อย เขาบอกว่า...
“การใช้สิทธิในโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ โดยสั่งซื้ออาหารและเครื่องดื่มจากร้านอาหารและเครื่องดื่มที่เข้าร่วมโครงการฯกว่า 47,000 ราย จากผู้ลงทะเบียน 57,000 ราย ผ่านผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์ม คือ Grab และ LINEMAN เมื่อวันที่ 4 ต.ค. ซึ่งเป็นวันแรก พบข้อมูลการใช้จ่าย ณ เวลา 16.00 น. ผ่านโครงการคนละครึ่งฯ 80,852 คน มีการใช้จ่ายประมาณ 11.67 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 5.97 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่าย 5.70 ล้านบาท ในส่วนโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้มีผู้ใช้สิทธิแล้ว 45 คน และมีการใช้จ่ายประมาณ 10,000 บาท”
หากคำนวณย้อนกลับ เพื่อหาสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ความสำเร็จของการสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์ม ฟู้ดเดลิเวอรี่ จะเห็นภาพได้ชัดเจน
จากจำนวนผู้ที่ลงทะเบียน...เฉพาะในโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 ซึ่งมีมากถึงกว่า 27 ล้านราย แต่กลับมีคนสั่งซื้ออาหารและเครื่องดื่มผ่านแอปฯฟู้ดเดลิเวอรี่ แค่เพียง 80,852 คน หรือราว 0.3% เท่านั้น
“สำนักข่าวเนตรทิพย์” ถึงได้ชี้ให้เห็นประเด็น...ความสำเร็จของการเปิดให้ผู้มีสิทธิในโครงการคนละครึ่ง ใช้สั่งซื่ออาหารและเครื่องดื่มฯ เป็นครั้งแรก หลังจากที่หลายฝ่ายต่างเฝ้ารอคอยมาเป็นเวลานาน แต่ดันมาพร้อมกับความไม่ประสบความสำเร็จด้านยอดการสั่งซื้ออาหารฯมากนัก
ตรงนี้ มีประเด็น! และล้อไปกับสิ่งที่ได้เกริ่นในตอนต้นเรื่อง ที่ว่า...เพราะภาครัฐไม่ยอม “ตีเหล็กตอนร้อน” และ “ไม่ผ่อนปรนเงื่อนไขฯ”
กล่าวคือ...ก่อนหน้านี้ มีเสียงและข้อเรียกร้องกันอึงมี้ ทั้งจาก...บรรดาร้านอาหารและเครื่องดื่มทั่วประเทศ ผ่านสมาคมภัตตาคารไทย และจากผู้ประกอบการแพลตฟอร์ม ฟู้ดเดลิเวอรี่ รวมถึงลูกค้าผู้บริโภค เจ้าของสิทธิในโครงการคนละครึ่ง ส่งตรงถึง...รัฐบาลและกระทรวงการคลัง เพื่อให้เร่งรัดจัดระเบียบและเปิดให้มีการสั่งอาหารผ่านแอปฯฯฟู้ดเดลิเวอรี่
แต่เพราะ “อัตลักษณ์” ความเป็นข้าราชการไทย “ขอชัวร์เอาไว้ก่อน” ด้วยเกรงจะโดนข้อครหาว่า ร่วมสร้าง “ทฤษฎีสมรู้ร่วมคิด” กับผู้ประกอบการแพลตฟอร์ม ฟู้ดเดลิเวอรี่ หรือร้านค้ารายใหญ่ๆ
โครงการนี้ จึงถูกลากดึงมายาวนาน อย่างน้อยก็มากกว่า 2-3 เดือน และนั่น...ทำให้โครงการนี้ ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร
อีกหนึ่งปัญหาก็คือ การที่กระทรวงการคลัง ดันไปตีเส้นแห่งเงื่อนไขที่ว่า...ร้านค้าสามารถเลือกผู้ประกอบการแพลตฟอร์ม ฟู้ดเดลิเวอรี่ ได้เพียงรายเดียว
สถานการณ์นี้...หากไม่เลือก GRAB ก็ต้องเป็น LINEMAN เพราะรายอื่นๆ ยังไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาของกระทรวงการคลัง จึงทำให้ร้านค้าหลายแห่งเกิดอาการ ทั้ง “รักพี่เสียดายน้อง” และ “ตัดใจไม่ลง” เพราะหากเลือกรายหนึ่ง...อาจมีปัญหากับอีกหลายหนึ่ง เพราะทุกวันนี้...ร้านค้าก็หากินอยู่กับผู้ประกอบการแพลตฟอร์ม ฟู้ดเดลิเวอรี่ ทุกแห่งอยู่แล้ว
เมื่อเจอมาตรการ “เลือกรายเดียว” จากกระทรวงการคลัง เจ้าของร้านอาหารหลายราย เลยตัดสินใจไม่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง เพื่อใช้สิทธิสั่งซื้ออาหารมันเสียเลย
ยอดของร้านอาหารที่ควรจะเป็นหลายหมื่นปลายๆ จนถึงระดับแสนราย จึงทำได้แค่...เข้าร่วมโครงการฯกว่า 47,000 ราย จากผู้ลงทะเบียน 57,000 ราย
ทั้งนี้ คือ ความผิดพลาดในเชิงนโยบายของภาครัฐเป็นเหตุ!!!
แล้วเรื่องก็ยังไม่อยู่เพียงนี้...เนื่องจากระหว่างมีปัญหาให้ต้องตามแก้ไขกันอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น...กดคำสั่งซื้อแล้วเปลี่ยนใจ ทั้งที่ขอเปลี่ยนเมนู และยกเลิกคำสั่งซื้อไปเลย
บางราย...โอนเงินผิด โอนขาด โอนเกิน เกิดปัญหาจิปาถะ มากมาย ให้ต้องตามไปไล่ไขปัญหา...
เห็นได้จาก คำอธิบายของ “โฆษกกระทรวงการคลัง” ที่ระบุว่า...กรณีที่มีการยกเลิกคำสั่งซื้อประชาชนจะได้รับเงินคืน โดยมีรายละเอียดดังนี้
โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 จะได้รับเงินคืนใน g-Wallet และวงเงินสิทธิของโครงการคืนประมาณ 30 - 60 นาที
โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ จะได้รับเงินคืนใน g-Wallet และวงเงินสิทธิ e-Voucher คืนประมาณ 30 - 60 นาที
หรือ ค่าส่งที่ได้ชำระให้กับผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์ม จะได้รับคืนประมาณ 30 - 60 นาที
ส่วนประชาชนที่สนใจจะใช้จ่ายในโครงการฯนี้ สามารถจะใช้จ่ายได้จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. และประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 ยังสามารถลงทะเบียนอย่างต่อเนื่องได้ตั้งแต่เวลา 06.00 – 22.00 น. ของทุกวัน จนกว่าจะครบ 28 ล้านสิทธิ ผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com หรือผ่าน g-Wallet บนแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง”
สำหรับ โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ สามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.ยิ่งใช้ยิ่งได้.com หรือผ่าน g-Wallet บนแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” จนกว่าจะครบ 1 ล้านสิทธิ โดยประชาชนสามารถใช้บริการ เวลา 06.00 – 20.00 น. ของทุกวัน ตามขั้นตอนดังนี้
1) เข้าแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” กดแถบแบนเนอร์ (Banner) ฟู้ดเดลิเวอรี่ในหน้าแรก หรือสามารถเข้าผ่าน g-Wallet กด Banner โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 หรือโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ แล้วจึงกด Banner ฟู้ดเดลิเวอรี่
2) กด “สั่งผ่านฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์ม” บนแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” แล้วจึงเลือกผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มที่ต้องการใช้งาน หรือสามารถกด “ค้นหาเมนูหรือร้านอาหาร” เพื่อเลือกซื้ออาหาร/เครื่องดื่มได้
3) หลังจากเลือกตามข้อ 2 ระบบจะเชื่อมไปที่แอปพลิเคชันฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มเพื่อสั่งอาหาร/เครื่องดื่มจากร้านอาหาร/เครื่องดื่มที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยประชาชนจะต้องชำระค่าส่งที่แอปพลิเคชันฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มก่อน
และ 4) ประชาชนจะได้รับการแจ้งเตือนให้ชำระค่าอาหาร/เครื่องดื่มบน g-Wallet และกดปุ่มชำระค่าอาหาร/เครื่องดื่มพร้อมใช้สิทธิผ่าน g-Wallet โดยต้องชำระเงินภายใน 5 นาท
“รัฐจะสนับสนุนเงินในส่วนค่าอาหารและ/หรือเครื่องดื่มเท่านั้น ไม่รวมถึงค่าจัดส่งหรือค่าใช้จ่ายอื่นใด โดยผู้ประกอบการร้านอาหารและเครื่องดื่มในโครงการฯ ที่ประสงค์จะขายอาหารและเครื่องดื่มผ่านผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มสามารถสมัครผ่านแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ได้อย่างต่อเนื่อง โดยสามารถเลือกเชื่อมต่อกับ ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มเพื่อขายอาหารและเครื่องดื่มตามโครงการฯ ได้เพียงรายเดียว” โฆษกกระทรวงการคลัง ย้ำและว่า สามารถตรวจสอบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขได้ที่ www.คนละครึ่ง.com และ www.ยิ่งใช้ยิ่งได้.com
อนึ่ง ข้อมูล ณ วันที่ 3 ต.ค. พบว่า โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 มีผู้ใช้สิทธิสะสมจำนวน 24.52 ล้านราย จากผู้เข้าร่วมโครงการรวม 27.31 ล้านราย โดยมียอดการใช้จ่ายสะสมรวม 72,726 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่ายสะสม 37,004.3 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 35,721.7 ล้านบาท และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ มีประชาชนผู้ใช้สิทธิจำนวน 78,451 คน จากจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ 496,336 ราย โดยมียอดใช้จ่ายสะสมรวมทั้งหมด 2,444 ล้านบาท โดยมีมูลค่าการใช้จ่ายสะสมที่นำมาคำนวณสิทธิ e-Voucher 1,911 ล้านบาท และคิดเป็นมูลค่าสะสม e-Voucher ทั้งสิ้นกว่า 208 ล้านบาท และมูลค่าการใช้จ่ายส่วน e-Voucher 102 ล้านบาท