ประมูลรถไฟฟ้า สายสีส้ม จ่องานเข้า หลังศาลอาญาคดีทุจริตรับฟ้องบีทีเอสฟ้อง รฟม.-กก.คัดเลือกกราวรูด นัดไต่สวน 3 นัดรวด ธันวานี้ เผยบิ๊ก รฟม.ยังลูกเล่นขอศาลห้ามฝ่ายโจทก์ให้ข่าวสื่ออ้างกลัวเสียรูปคดี วงในชี้หากผิด รบ-คมนาคมโดนหางเลขยกกระบิ ความคืบหน้ากรณี บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ บีทีเอส (BTS) ได้ยื่นฟ้องฝ่ายบริหารการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือก รวม 7 คน กรณีร่วมกันแก้ไขเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (คณะกรรมการตามมาตรา 36) และยกเลิกประกวดราคาโดยมิชอบ โดยศาลได้นัดคู่ความเพื่อตรวจเอกสารสำนวนคดี เมื่อวันที่ 25 ต.ค. ที่ผ่านมา ล่าสุด นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ บีเอสซี เปิดเผยว่า ศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบกลาง ได้รับคำฟ้องและกำหนดวันนัดไต่สวนมูลฟ้องกรณีบีทีเอสฟ้องคดีอาญาต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ เป็นเวลา 3 วัน ได้แก่ วันที่ 14, 20 และ 24 ธ.ค.64 ซึ่งหลังจากนี้ ศาลฯ จะดำเนินการไต่สวนพยาน พร้อมพิจารณาเอกสารประกอบที่ฝ่ายโจทก์และจำเลยยื่นเสนอมาว่ามีมูลหรือไม่ โดยคาดว่าการไต่สวนน่าจะไม่ยืดเยื้อ และศาลฯ จะใช้เวลาพิจารณาไม่นานนายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า คดีนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อเดือน ส.ค.63 สิ่งที่เราทำทั้งหมด ไม่ได้ฟ้องเพื่อที่จะเป็นผู้ชนะ แต่เราฟ้องเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่มีความยุติธรรม และโปร่งใส ส่วนผลที่ออกมาจากจะแพ้หรือชนะคดีก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แค่ขอให้เกิดความยุติธรรมในการต่อสู้ นี่คือสิ่งที่เราต่อสู้มาตลอดกว่า 1 ปีนายสุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า ทางจำเลยได้ร้องขอต่อศาลฯ ไม่ให้โจทก์ให้ข่าวต่อสื่อมวลชน เพราะเกรงว่าจะมีข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้อง และอาจมีผลต่อรูปคดี ซึ่งบีทีเอสก็ได้โต้แย้งว่า ที่ให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชนนั้นคือข้อเท็จจริง และไม่น่าจะกระทบต่อคดี และศาลฯ ก็เห็นด้วย และยังเห็นว่าสิ่งที่ปรากฏออกมายังไม่มีผลต่อรูปคดี ศาลฯ จึงไม่ได้ออกข้อกำหนดห้ามแต่อย่างใด แต่ได้กำชับทั้งสองฝ่ายให้ระวังเรื่องการให้ข่าว อย่าให้กระทบต่อคดีและความสงบเรียบร้อยของศาลฯสำหรับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบใหม่นั้น ทางบีทีเอสคงร่วมด้วย แต่จะขอดูรายละเอียดหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal Document : RFP) ก่อนว่าพอจะมีทางสู้ได้หรือไม่ และมีความยุติธรรมมากน้อยเพียงใดขณะที่แหล่งข่าวในวงการรับเหมาเปิดเผยว่า การที่ศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีดังกล่าว จะส่งผลต่อการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มระลอกใหม่อย่างแน่นอน ซึ่งโดยปกติหากเป็นกรณีนักการเมือง จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่และพ้นตำแหน่งในทันที และหากเป็นข้าราชการประจำที่ถูกฟ้องในลักษณะนี้จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่กรณีของ รฟม.นั้นไม่แน่ใจว่าจะมีข้อกำหนดในเรื่องดังกล่าวไว้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม การที่ศาลอาญาคดีทุจริตมีคำสั่งให้ดำเนินการไต่สวนคดีดังกล่าว ย่อมเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า การดำเนินการของฝ่ายบริหาร รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือก ที่ร่วมกันเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกในช่วงที่ผ่านมา มีมูลเหตุที่เชื่อได้ว่า น่าจะเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนบางราย และหากท้ายที่สุดผลของคดีออกมาว่า มีการทุจริตเช่นเดียวกับอดีตผู้บริหารการรถไฟในโครงการแอร์พอร์ตลิงค์ในอดีต ก็เชื่อแน่ว่าฝ่ายบริหาร รฟม.และข้าราชการที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึง รมว.คมนาคมและรัฐบาลก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย