รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี ระบุว่า มีความก้าวหน้าการลงทุน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ (EEC Project list) ที่ปัจจุบันมีความคืบหน้า และได้ดำเนินการในด้านต่างๆ ต่อเนื่อง โดยมีรายละเอียดที่สำคัญ ๆ ดังนี้
1. รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินก้าวหน้าต่อเนื่อง ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาที่เอกชนต้องได้สินเชื่อโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (โครงการฯ) มีความก้าวหน้าตามกำหนดอย่างต่อเนื่อง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ส่งมอบพื้นที่พร้อมก่อสร้างของโครงการช่วงสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภาให้ บริษัท เอเชีย เอราวัน จำกัด (เอกชนคู่สัญญา) แล้วร้อยละ 98.11 ระยะทางประมาณ 160 กิโลเมตร คิดเป็นพื้นที่ 3,513 ไร่ 1 งาน 3 ตารางวา ซึ่งเอกชนคู่สัญญา ได้ทยอยเข้าเตรียมการก่อสร้างแล้วตั้งแต่ปลายปี 2563 ประกอบด้วย การสร้างถนนและสะพานชั่วคราวของโครงการ การสร้างโรงหล่อชิ้นส่วนทางวิ่งรถไฟ การสร้างบ้านพักคนงาน โดย รฟท. จะส่งมอบพื้นที่ที่เหลืออีกร้อยละ 1.89 ภายในเดือนมกราคม 2565 และเมื่อเอกชนคู่สัญญาตรวจรับพื้นที่แล้วเสร็จ รฟท. จะออกหนังสือแจ้งเริ่มงานก่อสร้างอย่างเป็นทางการ (Notice to Proceed, NTP) คาดว่าประมาณเดือนมีนาคม 2565
ดังนั้น ปัจจุบันยังไม่ถึงขั้นตอนที่เอกชนคู่สัญญาต้องได้สินเชื่อจากสถาบันการเงิน เพราะสัญญาร่วมลงทุนกำหนดว่าให้เอกชนคู่สัญญาทำสัญญาสินเชื่อโครงการกับสถาบันการเงิน (หรือสัญญาจัดหาเงินสนับสนุนสำหรับโครงการฯ) ภายใน 240 วัน นับจากวันที่ รฟท. ออก NTP ดังนั้นขั้นตอนการหาสินเชื่อจะแล้วเสร็จประมาณเดือน พฤศจิกายน 2565
2.แอร์พอร์ต เรลลิงก์ ประชาชนมาก่อน ทุกขั้นตอนโปร่งใส รัฐไม่เสียประโยชน์ และเป็นธรรมกับเอกชน
กรณีเอกชนเข้ารับดำเนินการแอร์พอร์ตลิงก์นั้น ปรากฏว่าสถานการณ์โควิดทำให้ผู้โดยสารลดลงจากประมาณ 7-8 หมื่นคน/วัน เหลือเพียง 1-2 หมื่น คน/วัน ซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่คาดการณ์มาก่อน ซึ่ง รฟท. รับขาดทุนมาโดยตลอด และต้องให้มีการถ่ายโอนการดำเนินการตามกำหนดจึงไม่จัดเตรียมงบประมาณไว้ล่วงหน้า
ดังนั้น คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) จึงได้ให้นโยบายว่าให้หาทางแก้ไขโดยไม่ให้กระเทือนต่อประชาชนผู้โดยสาร วันที่ 20 ตุลาคม 2564 รฟท. และเอกชนคู่สัญญา จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อให้บริหารสัญญาร่วมลงทุน ในการแก้ไขปัญหาโครงการฯ เนื่องจากผลกระทบโควิด-19 เพื่อให้เอกชนเข้ารับดำเนินการ แอร์พอร์ต เรลลิงก์ และให้มีบริการได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีรายละเอียดดังนี้
• เอกชนเข้ารับดำเนินการ แอร์พอร์ต ลิงก์ นับจากวันที่ 24 ตุลาคม 2564 ตามกำหนดการที่วางไว้
• เอกชนคู่สัญญารับผิดชอบค่าใช้จ่ายรวมถึงบุคลากรปฏิบัติงานทั้งหมด รับผิดชอบความเสี่ยงทั้งหมดที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานที่ได้รับมอบหมาย และการดำเนินการอื่นใด เพื่อทำให้การเดินรถไฟและซ่อมบำรุงรักษาระบบแอร์พอร์ต เรลลิงก์เป็นไปตามมาตรฐานดัชนีชี้วัด หรือ KPI ที่ รฟท. กำหนด ซึ่งก่อนการเข้ารับเนินการเอกชนได้ลงทุนไปแล้วกว่า 1,100 ล้านบาท ในการดำเนินการปรับปรุงระบบและบริการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ และฝึกอบรมพนักงานปฏิบัติการมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ลงนามสัญญาร่วมลงทุน จึงมีความพร้อมด้านเทคนิคและบุคคลากร
• รฟท. ยังเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสาร ไม่โอนรายได้ให้เอกชนในทันที แต่จะโอนให้เมื่อแก้ไขปัญหาแล้วเสร็จ ทั้งนี้จะให้เอกชนนำค่าโดยสารดังกล่าวไปหักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น หากกำไรต้องส่งคืน รฟท. ดังนั้น รฟท. จึงไม่ต้องรับภาระขาดทุน จากแอร์พอร์ต เรลลิงก์ อีกต่อไป ซึ่งคิดเป็นประมาณ 600 ล้านบาทในปี 2564
• ในวันที่ลงนามบันทึกข้อตกลง เอกชนคู่สัญญาได้ชำระเงินจำนวน 1,067.11 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10 สิทธิร่วมลงทุนในแอร์พอร์ต เรลลิงก์ จำนวน 10,671.09 ล้านบาท ให้แก่ รฟท. เพื่อเป็นหลักประกันว่า จะดำเนินการอย่างเคร่งครัดตามบันทึกข้อตกลง
• บันทึกข้อตกลงนี้มีระยะเวลา 3 เดือน เป็นการเจรจาหาทางออกร่วมกัน โดยรัฐต้องไม่เสียประโยชน์ และเป็นธรรมกับเอกชน โดยการเจรจาจะดำเนินการโดยคณะทำงาน ที่แต่งตั้งโดย รฟท. และคณะกรรมการกำกับเพื่อนำเสนอ รฟท. กพอ. และ ครม.ต่อไป
ทั้งนี้ ทางเอกชนได้เข้าดำเนินการ ตามบันทึกข้อตกลงแล้วเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 และการดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่พบปัญหาอุปสรรคใดๆ ในการให้บริการประชาชน โดย รฟท. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดพร้อมกันนี้เอกชนได้เสนอการลงทุนพัฒนาแอร์พอร์ต เรลลิงก์ เป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท ในการจัดหาขบวนรถไฟฟ้าเพิ่มเติมเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน โดยรัฐไม่เสียประโยชน์ และเอกชนได้รับความเป็นธรรม
3. การร่วมลงทุนรัฐและเอกชนใน อีอีซี สู่ต้นแบบ รัฐประหยัดงบประมาณ ดึงเงินเอกชนร่วมพัฒนาประเทศ
โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ใน อีอีซี พร้อมเป็นตัวอย่างของการร่วมทุนรัฐและเอกชน เพื่อประหยัดงบประมาณ และนำเงินทุนภาคเอกชนมาร่วมในการพัฒนาประเทศ การร่วมทุน คือทั้ง 2 ฝ่าย รัฐและเอกชนเข้ามาร่วม “รับความเสี่ยงด้วยกัน” โดยเอกชนนำเงินทุนมาลงทุนด้วย ต่างกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ที่เอกชนรับจ้างรัฐบาล ซึ่งรัฐลงเงินจ้างเอกชนทั้งหมด และรัฐรับความเสี่ยงแต่ฝ่ายเดียวหากเกิดเหตุสุดวิสัยที่ไม่ได้คาดมาก่อนการลงนามสัญญาดังจะเห็นได้จากการที่รัฐขยายเวลาส่งมอบงานและยกเว้นค่าปรับในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทั่วไปให้กับผู้รับจ้างเมื่อเกิดโควิด-19ในการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน จึงจำเป็นต้องมี “ความเข้าใจร่วมกัน” เป็นพื้นฐานที่จะเจรจาหาทางออกในกรณีสุดวิสัยที่ไม่คาดมาก่อน และนำไปสู่การแก้ไขสัญญาภายใต้ความเข้าใจร่วมกันให้โครงการประสบความสำเร็จ โดยรัฐและเอกชนไม่เสียเปรียบซึ่งกันและกัน
กรณีโควิด-19 ซึ่งอาจเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจคาดการณ์มาก่อน เพราะรัฐบาลออกมาตรการกำหนดให้ธุรกิจและประชาชนหยุดการเดินทางเป็นระยะๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้จำนวนผู้โดยสารแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ลดลงเป็นจำนวนมาก นำไปสู่ “การเจรจาเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด” อย่างเป็นธรรมโดยไม่มีฝ่ายใดเสียเปรียบ
อย่างไรก็ตามกรณีโครงการร่วมทุนอื่นๆ ใน EEC ไม่จำเป็นต้องนำมาสู่กระบวนการแก้ไขปัญหา เช่น กรณีแอร์พอร์ต ลิงก์ เพราะโครงการท่าเรือมาบตาพุด และสนามบินอู่ตะเภา:เมืองการบินภาคตะวันออก กำลังจะเริ่มก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าเมื่อก่อสร้างเสร็จใน 4 ปี ผลกระทบจากโควิดคงหมดไปแล้ว ส่วนโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ที่กำลังจะลงนามได้พิจารณากระทบเหล่านี้ในสัญญาไว้แล้ว
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ภายใต้สัมปทานของกลุ่มทุนซีพี ได้ยื่นขอเลื่อนจ่ายค่าสัมปทานแอร์พอร์ต เรลลิงค์กว่า 10,000 ล้านบาท ที่ครบกำหนดจ่ายในวันที่ 24 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมาออกไปอีก 3 เดือน โดยอ้างว่า จำนวนผู้โดยสารแอร์พอร์ต ลิงค์ มีน้อยลง จากผลกระทบโรคระบาดโควิด 19 และล่าสุดมีกระแสข่าวว่า สถาบันการเงินหลายแห่งชะลอการพิจารณาปล่อยสินเชื่อรถไฟความเร็วสูง 170,000 ล้านบาท