สำนักงาน กสทช. ยกระดับมาตรการจัดการปัญหา SMS หลอกลวง เข้มลงโทษทางปกครองกับผู้ให้บริการเนื้อหาที่ปล่อยให้มี SMS หลวกลวงส่งไปยังประชาชน พร้อมส่งเรื่องให้ บช.สอท. ดำเนินคดีตามกฎหมายกับมิจฉาชีพ ส่วน ก.ดีอีเอส จะดำเนินการเอาผิดกับมิจฉาชีพตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
วันนี้ (28 ต.ค. 2564) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับสำนักงาน กสทช. ผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้ประกอบการโทรคมนาคม ได้ประชุมหารือเพื่อติดตามและกำกับดูแลกรณีมิจฉาชีพส่งข้อความสั้น (SMS) หลอกลวงประชาชน การชักชวนเล่นพนันออนไลน์ และลามกอนาจาร
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า จากการประชุมติดตามและกำกับดูแลกรณีมิจฉาชีพส่งข้อความสั้น (SMS) หลอกลวงประชาชน การชักชวนเล่นพนันออนไลน์ และลามกอนาจาร ที่ประชุมได้ข้อสรุปที่จะยกระดับมาตรการในการดำเนินการจัดการปัญหา SMS หลอกลวงเพิ่มขึ้นอีกระดับหนึ่ง โดยสำนักงาน กสทช. ได้กำหนดมาตรการเกี่ยวกับเนื้อหาของข้อความ และการกำหนดชื่อ Sender name ซึ่งจะเริ่มจากต้นทางของการส่ง SMS จากผู้ให้บริการเนื้อหา ดังนี้
1. ผู้ให้บริการเนื้อหาต้องมีระบบยืนยันตัวตนของลูกค้าที่มาซื้อ SMS ที่ชัดเจน และตรวจสอบได้
2. ข้อความใน SMS และชื่อ Sender name ต้องไม่ให้ลูกค้ากำหนดเองได้โดยอิสระแต่ต้องแจ้งผ่านผู้ให้บริการทราบก่อน
3. การกำหนด Sender name ต้องไม่มีลักษณะเป็นเลขหมายโทรศัพท์
4. หากชื่อ Sender name ตรงกับ หรือคล้ายกับ ชื่อบริษัท หน่วยงาน หรือเครื่องหมายการค้า ทางผู้ให้บริการสามารถขอเอกสารจากลูกค้าในการรับรอง หรือการได้รับความยินยอมให้ใช้ชื่อจากเจ้าของชื่อบริษัท หน่วยงาน หรือเครื่องหมายทางการค้านั้นๆ ได้
5. ข้อความไม่ควรมี link เพื่อป้องกันไม่ให้ใช้เป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกต่อการกระทำผิด
นายไตรรัตน์ กล่าวว่า สำหรับแนวปฏิบัติในการรวบรวมข้อมูล และการดำเนินการกรณีพบข้อความที่ผิดกฎหมายที่จะใช้ในการดำเนินการของผู้ให้บริการโทรคมนาคม กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และสำนักงาน กสทช. นั้น สำนักงานฯ กำหนดให้ 1. ผู้ให้บริการต้องส่งรายชื่อ Sender name ให้สำนักงาน กสทช. รวบรวม 2. หากทางตำรวจต้องการข้อมูลของผู้ส่งข้อความจาก Sender name ที่กระทำผิดกฎหมายจะได้ประสานสำนักงาน กสทช. เพื่อขอข้อมูลผู้ให้บริการที่เป็นต้นทางการส่งข้อความดังกล่าว ก่อนออกหมายฯ เพื่อขอข้อมูลส่งข้อความ ไปยังผู้ให้บริการ 3. สำนักงาน กสทช. จะแจ้งผู้ให้บริการทราบกรณีการขอหมายฯ จากตำรวจเพื่อให้ผู้ให้บริการเตรียมข้อมูล โดยเมื่อผู้ให้บริการได้รับหมายแล้ว จะต้องให้ข้อมูลแก่ตำรวจโดยไม่ชักช้า
สำหรับแนวปฏิบัติในการรวบรวมข้อมูล และการดำเนินการกรณีพบข้อความที่ผิดกฎหมาย ในระหว่างที่รอหมายฯ จากตำรวจ สำนักงาน กสทช. และผู้ให้บริการจะดำเนินการระงับการส่งข้อความ (SMS) จาก Sender name นั้นโดยเร็ว และผู้ให้บริการต้องตักเตือนลูกค้าของตนให้ทราบถึงการกระทำที่ผิดกฎหมายดังกล่าว ซึ่งหากยังมีพฤติกรรมเช่นเดิมอีกจะมีมาตรการที่เข้มงวดขึ้น ในกรณีที่เป็นการส่งข้อความ (SMS) ข้ามโครงข่าย ให้ผู้ให้บริการปลายทางแจ้งผู้ให้บริการต้นทางที่ส่ง SMS รับทราบปัญหา โดยให้ผู้บริการต้นทางระงับการส่งภายใน 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ประเด็นที่สำนักงาน กสทช. ผู้ประการโทรคมนาคม จะต้องพิจารณาดำเนินการต่อไป ได้แก่ 1. แนวทางการจัดทำ White List Sender 2. แนวที่ให้ผู้ส่งข้อความให้ความยินยอมที่จะให้ตรวจข้อความที่ส่ง กรณีมีผู้ร้องเรียน 3. แนวทางการดำเนินการสำหรับข้อความที่เป็นการโฆษณา ทั้งนี้เพื่อให้การแก้ไขปัญหา SMS หลอกลวงสำเร็จได้
นายไตรรัตน์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการลงโทษสำนักงาน กสทช. จะออกคำสั่งทางปกครองกับผู้ให้บริการเนื้อหาที่ไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหา SMS หลอกลวง ที่ยังปล่อยให้มี SMS หลอกลวงส่งไปยังประชาชน โดยจะมีคำสั่ง ตักเตือน ปรับ พักใบอนุญาต จนถึงเพิกถอนใบอนุญาต ตามข้อเท็จจริง สำหรับการดำเนินคดีกับมิจฉาชีพ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญและชำนาญในเรื่องดังกล่าว จะรับผิดชอบในการดำเนินการเอาผิดและดำเนินคดีกับมิจฉาชีพ สำหรับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ก.ดีอีเอส) จะใช้พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 ในการดำเนินการกับมิจฉาชีพที่ทำการส่งข้อความ อีเมล หรือใช้วิธีการใดก็ตาม เพื่อหลอกลวงประชาชนผ่านทางออนไลน์
อย่างไรก็ตาม สำนักงานฯ ยังคงขอให้ประชาชนระมัดระวังอย่าหลงเชื่อข้อความจาก SMS โดยง่าย อย่ากรอก Username Password ที่ใช้ในการทำธุรกรรมต่างๆ กับธนาคารในลิงค์ที่ส่งมากับ SMS หรืออย่าให้ข้อมูลส่วนตัว เช่น บัตรประชาชน ไปกับคนที่โทรมาสอบถามข้อมูลทางโทรศัพท์ง่ายๆ ควรตรวจสอบที่มาของ SMS หรือหน่วยงานที่โทรศัพท์เข้ามาให้แน่ใจก่อน เพื่อระมัดระวังไม่ให้ข้อมูลเหล่านี้ตกไปอยู่ในมือมิจฉาชีพที่จะเอาข้อมูลส่วนตัวของเราไปใช้ทำธุรกรรม ขโมยเงินของเรา หรือนำไปก่อความเสียหายได้
“สำนักงานฯ มองว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ของสำนักงาน กสทช. ก.ดีอีเอส บช.สอท. และผู้ประกอบการโทรคมนาคมทุกราย ที่มุ่งมั่นในแก้ไขปัญหา SMS และโทรศัพท์หลอกลวง จะทำให้การแก้ไขปัญหามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้หากประชาชนประสบปัญหา หรือต้องการแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับ SMS และโทรศัพท์หลอกลวง สามารถแจ้งมายัง Call Center สำนักงาน กสทช. หมายเลขโทรศัพท์ 1200 (โทรฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย) หรือแจ้งไปยัง Call Center ของค่ายมือถือที่ท่านใช้บริการอยู่ หรือหมายเลขโทรศัพท์ที่แต่ละค่ายมีไว้เพื่อรับข้อมูลเรื่อง SMS และโทรศัพท์หลอกลวงโดยเฉพาะ” นายไตรรัตน์ กล่าว