นายอนันต์ สุวรรณปาน ประธานกรรมการบริหารโรงเหล้าแสงจันทร์ แถลงข่าวกรณีที่มติที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เมื่อวันที่ 12 พ.ย. เลื่อนการเปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ จากวันที่ 1 ธ.ค. 2564 ออกไปเป็นวันที่ 15 ม.ค. 2565 ว่า ที่ผ่านมารัฐบาลสั่งปิดสถานบันเทิงมาแล้ว 3 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564 ผ่านมา 8 เดือน รวมครั้งที่ 1 และ 2 ปิดไปแล้ว 15 เดือน ทั้งที่พนักงานในเครือกว่า 1 พันคน จาก 8 สาขาและร้านในเครืออีก 1 ร้าน รวมทั้งนักดนตรี ไม่มีใครติดเชื้อโควิด-19 แม้แต่คนเดียว ที่ผ่านมาสถานบริการถูกเพ่งเล็งมาโดยตลอดว่าเป็นแหล่งแพร่เชื้อ เมื่อมีการฉีดวัคซีน พนักงานในร้านก็ไปฉีดกันทุกคน
กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศแผนเปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย. และวันที่ 1 ธ.ค. 2564 สถานบริการจะกลับมาเปิดทำการได้ เป็นความหวังของผู้ประกอบอาชีพในสถานบริการทุกคน ด้วยความเชื่อมั่นนายกฯ จึงเรียกผู้บริหารแสงจันทร์ทุกสาขามาประชุมเพื่อวางแผนเตรียมกลับมาเปิดอีกครั้ง พร้อมกับให้เคลียร์ค่าใช้จ่ายที่ค้างไว้ และแจ้งข่าวพนักงานที่แยกย้ายไปทำอาชีพอื่น เช่น เป็นคนงานแพกสินค้า หรืออยู่กับพ่อแม่ที่ต่างจังหวัดให้กลับมาทำงาน โดยต้องได้รับวัคซีนครบโดสแล้วเท่านั้น แต่ก็มาเจอเลื่อนอีก
นายอนันต์ ตั้งข้อสังเกตว่า ที่กลัวว่าสถานบริการเป็นที่เสี่ยงในการแพร่เชื้อนั้น ปิดมา 8 เดือน การแพร่เชื้อยังเกิด วันนี้มีผู้ติดเชื้อกว่า 7,000 คน หากย้อนหลังกลับไป เชื้อที่แพร่ไม่ได้มาจากสถานบริการ แต่เป็นวัด โรงพยาบาล โรงงาน กลับเปิดดำเนินการได้ ทุกคนทำมาหากินได้ภายใต้การฉีดวัคซีน ทั้งที่แพร่เชื้อกันหมด แต่สถานบริการทำไมถึงทำมาหากินไมได้ ที่ผ่านมารัฐบาล หรือ ศบค.ไม่เคยมีมาตรการใดๆ มาให้สถานบริการปฏิบัติ นอกจากสั่งปิดและอนุญาตให้เปิดเท่านั้น หากกลัวว่าเป็นห้องแอร์ถือเป็นจุดเสี่ยง ควรมีมาตรฐานการปรับปรุงร้านออกมาให้ปฏิบัติ หากที่ใดสามารถทำตามมาตรฐานได้ก็ให้เปิดบริการ
ทั้งนี้ การทำมาหากินตอนกลางคืนไม่ใช่สิ่งชั่วร้าย ทุกคนมีชีวิต เฉพาะร้านแสงจันทร์มีพนักงานรวมนักดนตรีพันกว่าคน พันกว่าครอบครัว ไม่เคยเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ มีแต่เฝ้ารอดูสัดส่วนการฉีดวัคซีน รอภูมิคุ้มกันหมู่ รอว่าจะเปิดได้โดยขึ้นอยู่กับวัคซีน เพื่อให้ทุกคนได้ประกอบอาชีพ แต่กลายเป็นอาชีพอื่นทำได้หมด ยกเว้นอาชีพสถานบริการ จึงต้องถามว่ายุติธรรมแล้วหรือไม่ ทั้งที่สถานบริการจะตั้งก็ต้องขออนุญาต ต้องจ่ายภาษี แต่กลับไม่มีมาตรการเตรียมพร้อมสำหรับการกลับมาเปิด ทั่วประเทศมีคนภาคบริการอยู่ประมาณ 1 ล้านคน ถ้านับครอบครัวเท่ากับ 4-5 ล้านคนที่ได้รับผลกระทบ จึงย้ำว่า ศบค.ต้องทบทวน หากคิดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงก็ต้องให้แนวทางแก้ไขปรับปรุงมา
ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ในช่วงโควิด ผู้ประกอบการต้องหางานให้พนักงานไปทำงานที่อื่น โดยบางรายยอมให้พนักงานไปทำงานเป็นพนักงานขนส่ง หารายได้ประทัง เมื่อรัฐบาลและนายกฯ ไปสัญญากับเขาว่าจะให้เปิดผับบาร์ได้แน่ ในวันที่ 1 ธันวาคม 2564 เขาก็ให้พนักงานทั้งหมดยื่นใบลาออกล่วงหน้า เพื่อกลับมาทำงานตามปกติ
แต่พอ ศบค. - กทม.ประกาศเลื่อนไปเปิด 16 มกราคม 2565 พนักงานที่เขารับกลับเข้ามาเตรียมงานแล้ว และได้ลาออกจากที่เก่าแล้วนับ 100 คน จะทำไง ก็เลยประชุมกับพรรคพวกในแวดวงคนกลางคืน ยังไงก็จะเปิด โดยจะยื่นหนังสือถึงนายกฯ อีกรอบอาทิตย์นี้ ให้ทบทวนคำสั่งเลื่อนเปิดผับบาร์ มาเป็น 1 ธันวาคม 2564 รับเคาท์ดาวน์ปีใหม่
หากรัฐบาลยังคงยืนยันจะเปิด 16 มกราคม 2565 ก็จะเดินหน้าเปิดอยู่ดี เพราะไหนๆ ก็เจ๊งแล้ว ขอไปตายเอาดาบหน้า