นักวิชาการดังสะท้อนมุมมองควบรวม “ทรู-ดีแทค” ย้ำชัดถอยหลังลงคลอง-ลดทอนการแข่งขัน บี้หน่วยงานกำกับ “กสทช.-กขค.”พลิกตำราตามให้ทัน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้สะท้อนความเห็นกรณีการทำควบร่วมมือในกิจการโทรคมนาคม ระหว่างกลุ่มทรูคอร์ผปอเรชั่น กับดีแทค ผ่านรายการ “ตอบโจทย์” ทาง “ไทยพีบีเอส” ว่า ไม่ว่าผู้ถือหุ้นใหญ่ของทั้ง 2 ค่ายมือถือ หรือบริษัทจะพยายามดำเนินการเพื่อไม่ให้มีอุปสรรคในข้อกฎหมาย เป็นการควบรวมในเชิงลึกอย่างไร แต่ในแง่ของผู้บริโภคนั้น ถือเป็นการควบรวมกิจการของ 2 ผู้ให้บริการชัดเจน ทั้งนี้ ตามหลักการนั้นผลของการควบรวมจะมีทั้งข้อดี-ข้อเสีย หากเป็นการควบรวมที่นำไปสู่การทำวิจัยเพื่อลดต้นทุน ลดการลงทุนซ้ำซ้อน หาหนทางและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ยังประโยชน์ต่อผู้บริโภคเข้ามาก็จะเกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค แต่หากเป็นการควบรวมกิจการที่ทำไปแล้วทำให้โครงสร้างตลาดเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางตรงข้าม ลดจำนวนผู้ให้บริการ จำนวนผู้เล่นในตลาดลงเช่นจากที่เคยมี ผู้ให้บริการ 3 ราย เหลืออยู่ 2 ราย ก็มีแนวโน้มว่าผู้บริโภคผู้ใช้บริการจะถูกเอาเปรียบในท้ายที่สุดยิ่งในอนาคตอันใกล้ที่ทุกอยู่หลอมรวมมาอยู่บนโลกดิจิทัลแพลตฟอร์ต ทุกอย่างบ่ายหน้าสู่ Internet of Thing (IOT) การที่โครงสร้างตลาดกลับมีผู้เล่นน้อยราย ย่อมกระทบเป็นลูกโซ่ไปในวงกว้าง ทั้งร้ายจำหน่ายอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ ซัพพลายเออร์ หรือในอนาคตที่ภาครัฐจะต้องเปิดประมูลคลื่น 6จี 7 จี โดยที่มีผู้เล่นน้อยรายก็จะไม่เกิดการแข่งขันรัฐเองก็ต้องสูญเสียประโยชน์ ประชาชนผู้ใช้บริการก็มีแนวโน้มจะถูกบังคับอย่างเช่นที่เคยเกิดขึ้นในอดีต “การควบรวมกิจการที่เกิดขึ้นล่าสุดนั้น สะท้อนให้เห็นถึงการถอยหลังลงคลองไปสู่อดีตช่วงที่ประเทศไทยมีมือถือใหม่ๆ และมีผู้ให้บริการในตลาดเพียง 2 ราย ทำให้แทบไม่เกิดการแข่งขัน ผู้ให้บริการฉวยโอกาสกำหนดเงื่อนไขการให้บริการบางรายล็อครหัสอีมีไม่ยอมให้ลูกค้าย้ายค่ายหรือไม่ก็บังคับทำสัญญา หรือกว่าจะลดค่าบริการลงก็ยื้อเอาไว้”ประธานทีดีอาร์ไอได้เรียกร้องให้หน่วยงานกำกับดูแล อย่าง กสทช. ต้องใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีพิจารณากรณีนี้อย่างเข้มงวด ไม่ปล่อยให้เกิดสุญญากาศ หรือเอาเปรียบผู้บริโภคได้ และต้องไม่ปล่อยให้โครงสร้างของตลาดเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเช่นนี้ หาก กสทช.ไม่สามารถจะใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่ได้ก็ต้องย้อนกลับไปดู พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า ต้องใช้กลไกตาม พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า เข้ามากำกับดูแลไม่ให้เกิดการควบรวมที่มีลักษณะลดทอนการแข่งขันเช่นนี้ได้ ด้าน นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. กล่าวว่า การควบรวมกิจการของ “กลุ่มทรูและดีแทค” นั้น มีความสลับซับซ้อนหลายชั้น ไม่ได้เป็นการควบรวมกันตามปกติของบริษัทสื่อสารที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. โดยตรง แต่เป็นการควบรวมของผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทสื่อสาร เป็นบริษัทแม่อีกชั้น คือ กลุ่มซีพีที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มทรูคอร์ป และกลุ่มเทเลนอร์ที่ถือหุ้นใหญ่ในดีแทค ขณะที่ ทั้งกลุ่มทรูและดีแทคเองก็ไม่ได้มีการรวบรวมกันโดยตรง และบริษัทลูกของทรู คือ บริษัททรูมูฟ เอช และบริษัทดีแทค ไตรเน็ต ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตจาก กสทช. โดยตรงไม่ได้มีการควบรวมกิจการกันแต่อย่างใด จึงทำให้ กสทช. เข้าไปกำกับดูแลในส่วนนี้ได้ยาก เพราะประกาศ กสทช. ที่มีอยู่นั้นไม่ได้ครอบคลุมไปถึงส่วนนี้ เราไม่มีอำนาจที่จะไปอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้เขาควบรวม มีอำนาจเพียงการกำหนดกติกาและติดตามพฤติกรรมหลังการควบรวมไม่ให้มีการเอาเปารียบผู้ใช้บริการเท่านั้น ดร.ประวิทย์ ยอมรับว่า การควบรวมกิจการทรูและดีแทคที่กำลังเกิดขึ้นนั้น คงจะส่งผลต่อจำนวนผู้ให้บริการในตลาด ซึ่งหลังจากนี้ กสทช. คงจะพยายามหาหนทางในอันที่จะเพิ่มจำนวนผู้เล่นในตลาดให้มากขึ้น โดยอาจกำหนดราคาคลื่นที่เหมาะสม หรือกำหนดส่วนของคลื่นที่นำออกประมูล เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่เข้ามา