กบง. สั่งปรับสเปคน้ำดีเซลเหลือ บี7 ชนิดเดียว ค่าการตลาดไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร มีผลตั้งแต่ 1 ธ.ค. 64 – 31 มี.ค. 65 ชี้มาถูกทางต้องทำไปตลอดการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่มีการปรับขึ้นราคา สาเหตุมาจากความต้องการใช้พลังงานทั่วโลกเพิ่มขึ้นหลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด 19 รวมถึงค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง โดยปัจจุบันกระทรวงพลังงานได้ใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ 4,000 ล้านบาทต่อเดือน ในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศ ทั้งยังร่วมมือกับทุกหน่วยงาน ผู้ประกอบการในการดูแลค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิง การดูแลเกษตรกรผู้ผลิตปาล์มน้ำมัน และให้คงราคาก๊าซหุงต้ม เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชนผู้บริโภคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งแม้ว่ากระทรวงพลังงานได้ดำเนินการแล้วแต่การปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลในประเทศบางประเภทสูงขึ้นจนส่งผลกระทบกับการดำรงชีพของประชาชนวันนี้ ที่ประชุม กบง. จึงมีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบเพิ่มเติมของน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่ปรับตัวสูงขึ้นของกระทรวงพลังงาน โดยมีแนวทางดำเนินการในเดือนธันวาคม 2564 - เดือนมีนาคม 2565 คือ ปรับลดสัดส่วนผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วจากเดิมมีการผสมอยู่ 3 สัดส่วน คือ ร้อยละ 7 (บี7) ร้อยละ 10 (บี10) และร้อยละ 20 (บี20) ให้มีสัดส่วนผสมเดียว คือ ร้อยละ 7 (บี7) นอกจากนั้นจะขอให้ผู้ค้าน้ำมันคงค่าการตลาดกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร และกรมธุรกิจพลังงานออกประกาศ เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล พ.ศ. …. ใหม่ ที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซลร้อยละ 7 และให้กองทุนน้ำมันฯ ชดเชยราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ให้สอดคล้องกับมาตรการบรรเทาผลกระทบฯ โดยยังคอยดูแลราคาขายปลีกกลุ่มน้ำมันดีเซลให้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ทั้งนี้ในระหว่างนี้จะมีการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและกำหนดมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพประชาชนในระยะต่อไป ทั้งนี้ เพจ Energy Guru ระบุในวันเดียวกันว่า การปรับสเปคไบโอดีเซล เหลือ B7 ควรทำไปตลอด ซึ่งถามกระทรวงพลังงานให้ชัดว่า ถึงวันนี้บอกได้มั๊ยว่า ประเทศไทยปลูกปาล์มน้ำมันกันกี่ไร่ ผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบแต่ละฤดูกาลย้อนหลังไป 5 ปี มีออกมาจำนวนเท่าไหร่ เฉลี่ยต้นทุนลิตรละเท่าไหร่ ถ้ายังตอบคำถามไม่ได้ การจะใช้วิธีเอาน้ำมันปาล์มไปเผาทิ้งเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า แล้วให้ประชาชนมารับภาระต้นทุนส่วนเกิน หรือการเอาน้ำมันปาล์มมาทำเป็นไบโอดีเซล แล้วให้ผู้ใช้เบนซินมาแบกภาระเหมือนเช่นตอนนี้ ล้วนแต่เป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ เกาไม่ถูกที่คัน ยิ่งส่งเสริมก็ยิ่งบิดเบือน ยิ่งเปิดช่องให้มีการลักลอบเอาน้ำมันปาล์มต่างประเทศมากินส่วนต่าง ถึงตอนนี้ คนในกระทรวงพลังงานใครตอบได้ว่า ในน้ำมันปาล์มบริสุทธ์ หรือ B100 ที่ขายกันเกินลิตรละ 40 บาทมานานนั้น เกษตรกรชาวสวนปาล์มได้กันจริงๆ ลิตรละกี่บาท ถ้ายังตอบไม่ได้ ก็ไม่ควรตะบี้ตะบันส่งเสริม จาก B3 เป็น B5 ปรับขึ้นเป็น B7 B10 และ B20 โดยที่โยนภาระให้ผู้ใช้น้ำมันอีกกลุ่มแบบไม่ยุติธรรมข้อดีข้อเดียวที่เห็นด้วยในการส่งเสริมไบโอดีเซล คือ ผลิตได้ในประเทศ 1 ลิตร ก็ช่วยลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศได้ 1 ลิตร แต่ถ้าไม่มีกลไกโครงสร้างราคาไบโอดีเซลที่เป็นธรรมกว่านี้ ปล่อยให้บรรดาพ่อค้ามาฉกฉวยโอกาสปั่นราคา ทั้งยังมีขบวนการลักลอบนำเข้ากินส่วนต่าง ก็ลดๆ สัดส่วนการเติมลงมาให้เหมือนในอดีตที่ผสมอยู่ 3-5% ก็ถือว่าเป็นการส่งเสริมแล้วผลประชุม กบง. วันนี้ 24 พ.ย. 64 ที่เห็นชอบปรับลดสัดส่วนผสมไบโอดีเซลจาก B20 และ B10 ลงมาให้เป็น ดีเซล B7 สเปคเดียว ในเดือนธันวาคม 2564 – เดือนมีนาคม 2565 ถือว่ามาถูกทางแล้ว แต่ถ้าจะให้ดีสุดกว่านี้ คือต้องทำต่อเนื่องไปตลอด อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันที่อิ่มพุงปลิ้นบนความเดือดร้อนผู้ใช้น้ำมันตอนนี้ จะได้ปรับตัวเสียที