เครือซีพีขยับแต่ละที สะเทือนไปทั่วหล้า กับเกมรวมร่าง “ทรู-ดีแทค” ตั้ง Tech Company จะส่งผลดีผลเสียอย่างไรกับคนไทยและประเทศไทย
นับเป็นการยากอย่างยิ่ง...หากจะสกัดกั้นความคิดของคนไทย เพื่อไม่ให้ “ตีความ” เป็นอื่น? โดยฉพาะ...ปมจาก 2 ใน 3 ค่ายมือรายใหญ่ของไทย ที่กำลังจะร่วมร่างเป็น Tech Company ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
สิ่งนี้...จะไม่เป็นการสร้างเงื่อนไขที่อาจนำไปสู่พฤติการณ์ “ผูกขาดตลาด” และอาจกลายเป็นการทำลายภาวะการแข่งขันอย่างเสรีของธุรกิจโทรคมนาคมและการสื่อสารในประเทศไทยได้!!!
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ที่ตัวแทนกลุ่มทรูและดีแทค นำมายกอ้างถึงแนวคิดและแนวทางในการควบรวมกิจการระหว่างกัน เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ ให้สอดประสานกับสถานการณ์โลกที่มีวิวัฒนาการของเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว เปลี่ยนแปลงกันไปชนิดนาทีต่อนาที
มันจะไม่ใช่ภาวะ....การมีอํานาจเหนือตลาด!
แต่ก่อนจะลงลึกไปมากกว่านี้ ลองไปสำรวจคำว่า อํานาจเหนือตลาด กันสักหน่อยว่า...มันคืออะไร?
แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ให้คำนิยาม อำนาจเหนือตลาด ว่า เป็น...ความสามารถของผู้ประกอบธุรกิจ ในการขึ้นราคาสินค้าหรือบริการของตนให้สูงกว่าต้นทุนหน่วยสุดท้าย (Marginal Cost) ของสินค้าหรือบริการชนิดนั้น อย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
ผศ.ดร.วิษณุ วงศ์สินศิริกุล หนึ่งในกรรมการของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ระบุว่า...อำนาจเหนือตลาด คือ ความสามารถของผู้ประกอบธุรกิจ ในการขึ้นราคาสินค้าหรือบริการของตนให้สูงกว่าระดับราคาของการแข่งขันทางการค้า ตลอดช่วงระยะเวลาหนึ่ง
จะว่าไปแล้ว ภาพของคำว่า...อํานาจเหนือตลาด จะเป็นบวกหรือลบ? ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ของเจ้าของธุรกิจมากกว่า ว่าต้องการจะ “ผูกขาด” ด้วยการกำหนดราคาขายสินค้าหรือบริการ ที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค ซึ่งอาจถูกลดทางเลือกในการเข้าถึงสินค้าและบริการ ที่ให้ต้องเลือกจ่ายในราคาที่เหมาะสมหรือไม่? อย่างไร?
ภายใต้ พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นกฎหมายควบคุมความเป็นธรรมการแข่งขันในตลาดธุรกิจไทย มีบางมาตราที่น่าสนใจ กล่าวคือ...มาตรา 50 ซึ่งเป็นเรื่องของ การใช้อำนาจเหนือตลาดอย่างไม่เป็นธรรม และ มาตรา 51 เป็นเรื่องของ การควบรวมธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาด
ทั้งนี้ การมีอำนาจเหนือตลาดไม่ใช่สิ่งต้องห้ามหรือผิดต่อกฎหมาย หากผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาดจะไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นผลกระทบต่อราคาสินค้าหรือบริการอย่างไม่เป็นธรรม หรือสร้างเงื่อนไขใดๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม เช่น...
1. กำหนดราคาซื้อ-ขายสินค้าหรือบริการอย่างไม่เป็นธรรม 2. การกำหนดเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรม 3. ระงับ ลด จำกัดบริการ หรือกระทำการใดเพื่อให้ปริมาณสินค้าต่ำกว่าความต้องการของตลาด และ 4. แทรกแซงการประกอบธุรกิจของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันควร
พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ...หากผู้ประกอบการไม่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดใน 4 ข้อหลักข้างต้นล่ะก็...ย่อมไม่ถือเป็นการสร้างภาวะการมีอำนาจเหนือตลาดที่ไม่เป็นธรรม และไม่นับเป็นการ “ผูกขาดตลาด” ที่นำไปสู่การแข่งขันทางธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม เช่นกัน
สำหรับแผนการควบรวมกิจการของกลุ่มทรูและดีแทคเข้าไว้ด้วยกัน ย่อมตกเป็นข่าวใหญ่ข่าวดังของประเทศไทยตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา กระทั่งถูกจับตามองกันต่อไปว่า...พวกเขากำลังคิด “เล่นแร่แปรธาตุ” สร้างอำนาจเหนือตลาดที่ไม่เป็นธรรม! ต่อผู้บริโภคชาวไทยหรือไม่?
เพราะความต่อเนื่องหลังจากนี้...อาจนำไปสู่การปิดบริษัทใดบริษัทหนึ่ง หรือปิดทั้ง 2 บริษัท เพื่อจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา แน่นอนว่า...นอกจากนโยบายการลดพนักงานลงแล้ว การแข่งขั้นของผู้เล่นรายใหญ่ ที่เหลือน้อยลงไป อาจทำให้เกิดการผูกขาดด้านราคาในการให้บริการของบริษัทมือถือที่เหลือก็เป็นได้
จากพฤติกรรมในอดีต และที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีมานี้ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกลุ่มทรู นับแต่การเข้าซื้อกิจการ หรือ “เทคโอเวอร์” ห้างเทสโก้โลตัส ทั้งในประเทศไทยและในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงอย่าง มาเลเซีย รวมถึงการ “เทคโอเวอร์” ห้างแมคโครฯ ก่อนหน้านั้น
กำลังถูกตั้งคำถามและอยู่บนข้อสงสัยอย่างมาก จากกลุ่มคนไทยที่มีการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นมาสักนิด ทำนอง...พวกเขาได้สร้างภาวะอำนาจเหนือตลาดที่เป็นธรรมกับคนไทยในประเทศไทยหรือไม่?
เพราะเครือซีพีครอบคลุมการเป็นเจ้าของกิจการ ตั้งแต่...ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ห้างโลตัส ห้างแมคโคร ฯลฯ นี่ยังไม่รวมร้านค้าในเครือซีพี เช่น ซีพีเฟรซมาร์ท หรืออะไรทำนองนี้ ที่ดำเนินธุรกิจคล้ายๆ กัน
แถมยังเป็น “ต้นน้ำ” ในการผลิตวัตถุดิบอาหารรายใหญ่ของประเทศ ที่พ่วงความเป็น “กลางน้ำ” และ “ปลายน้ำ” ที่มีช่องทางการกระจายและจำหน่ายสินค้า ผ่านร้านค้าและห้างต่างๆ มากมาย
อาจเรียกได้ว่า...เครือซีพี กำลัง “กินรวบ” ธุรกิจในประเภทนี้ ได้หรือไม่?
เมื่อ “ภาพจำ” ของคนไทยเป็นเช่นนี้ มันก็เลยอดคิดกันต่อไปไม่ได้ว่า...แล้วการที่กลุ่มทรู กำลังควบรวมกิจการกับกลุ่มดีแทคในอนาคตอันใกล้นับจากนี้ มันจะไม่ใช่แผนการที่เป็นหนึ่งใน “ทฤษฎีสมรู้ร่วมคิด” เพื่อสร้างภาวะอำนาจเหนือตลาดที่ไม่เป็นธรรม!
กระทั่ง นำไปสู่การผูกขาดทางธุรกิจได้หรือไม่?
คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า หรือ กขค. เคยพูดถึงการควบรวมกิจการ ตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าฯ กันมาแล้วว่า... ส่วนแบ่งการตลาดของธุรกิจที่เกิดจากการควบรวมกิจการจะต้องไม่เกินร้อยละ 50 หรือหากจะเอากันให้ชัดๆ ก็ต้องไปดูกติกาที่ กขค. เคยออกมาพูด อ้างอิงตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ที่ว่า...กฎหมายได้กําหนดแนวปฏิบัติไว้ 2 แนวทาง คือ
1. เมื่อมีการรวมธุรกิจแล้ว อาจก่อให้เกิดการผูกขาดหรือเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งมีอํานาจเหนือตลาด คือ มีส่วนแบ่งตลาดเกิน 50% และมียอดเงินขายตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป หรือเป็นผู้ประกอบธุรกิจ 3 รายแรกในตลาดมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันเกิน 75% ต้องขออนุญาต จาก กขค. ก่อนและต้องได้รับการอนุญาตจึงจะทําการรวมธุรกิจได้
และ 2. เมื่อมีการรวมธุรกิจแล้ว อาจก่อให้เกิดการแข่งขันลดลงอย่างมีนัยสําคัญ ต้องแจ้งให้ กขค. ทราบภายใน 7 วันนับแต่วันที่รวมธุรกิจ โดย กขค.ได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า เป็นการรวมธุรกิจที่มียอดเงินขาย ในตลาดตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป และไม่ก่อให้เกิดการผูกขาด หรือ เป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอํานาจเหนือตลาด
อดีตกรรมการ กขค. อย่าง นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เคยออกมาพูดถึงกรณีการเทคโอเวอร์ของเครือซีพี ว่า...
“การที่ธุรกิจในเครือซีพี ควบรวมกับเทสโก้ โลตัส ซึ่งเป็นกิจการค้าขายรายใหญ่เช่นกัน ทำให้ครองส่วนแบ่งทางการตลาดค้าปลีกได้มากกว่า 60% และมีแนวโน้มที่จะขยายเพิ่มไปมีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็น 80% ได้ในอนาคตเนื่องจากธุรกิจมีการขยายมากขึ้นทั้งในเรื่องของสาขาและสินค้าที่นำเข้ามาจำหน่ายในร้าน”
แล้วยังอ้างถึงกฎเกณ์ Concentration Ratio ของสหรัฐฯ ที่กำหนดกติกาเอาไว้ชัดเจนว่า...ตามเกณฑ์ของกฎหมายต่อต้านการผูกขาดตลาด (Antitrust law) ซึ่งถือเป็นต้นแบบการป้องกันการผูกขาดที่จะกระทบกับผู้บริโภค โดยกำหนดให้กิจการค้าปลีกไม่ควรให้มีธุรกิจรายใดมีส่วนแบ่งเกินกว่า 30%
ยึดตามความเห็นของ อดีตกรรมการ กขค. น่าสนใจว่า...กรณีการเทคโอเวอร์ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งได้ทำให้เครือซีพี มีส่วนแบ่งการตลาดมากถึง 60% และอาจจะสูงเพิ่มมากกว่านี้ได้อีกนั้น
ดูเหมือนเรื่องนี้...ทั้งฝ่ายการเมืองที่กำกับดูแลงานนโยบาย รวมถึงฝ่ายข้าราชการประจำ ในระดับปฏิบัติการ อย่าง กขค. จะไม่แสดงอาการกังวลใจอะไรให้มากจนเกินไปนัก ซึ่งก็ไม่ต่างจากภาคประชาสังคม ที่ดูจะไม่เดือดร้อนอะไรมากมายกับการได้มาซึ่ง เทสโก้โลตัส ของ เครือซีพี
ตรงนี้ ต้องยอมรับว่า...ภาพลักษณ์ของ เครือซีพี ดีมากๆ ในสายตาของคนไทย ซึ่งถูกมองว่าเป็นธุรกิจของคนไทย ดังนั้น แรงต่อต้านใดๆ จึงแทบไม่มี หรืออาจจะมี แต่ก็คงมีน้อยเต็มที และเรื่องนี้...ทำท่าว่าจะเงียบลงไปแล้ว
หันกลับมาพูดถึงประเด็นการควบรวมกิจการของกลุ่มทรูและดีแทค ที่ ดูเหมือนทั้ง นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ นายซิคเว่ เบรกเก้ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเทเลนอร์ จะไม่พูดอะไรมากไปกว่า สิ่งที่ทั้ง 2 บริษัทได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไปก่อนหน้านี้
ซึ่งนั่นก็ต้องรอดูว่า...รูปแบบและวิธีการของการควบรวมกิจการจะเป็นไปในลักษณะใด กระทบต่อพนักงานในองค์กรของทั้ง 2 บริษัทมากแค่ไหน? สะเทือนไปถึงภาคประชาชน ในฐานะ “ลูกค้าผู้ใช้บริการ” อย่างไร?
สำคัญกว่านั้น สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะ “เรคกูเรเตอร์” หรือหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล จะเห็นพ้องหรือเห็นต่างไปจาก 2 ผู้บริหารระดับสูง ทั้งฟากของเครือซีพี และเทเลนอร์ หรือไม่? อย่างไร?
หรือจะมี “เซอร์ไพร้ส์” ของการผ่อนปรน เหมือนเช่น...การควบรวมกิจการในบางธุรกิจ จนกินส่วนแบ่งทางการตลาดในระดับ “ผูกขาด หรือมีอํานาจเหนือตลาด” ก่อนหน้านี้หรือไม่? อย่างไร?
ถึงตอนนั้น คนไทยก็คงจะได้รู้กันเสียทีว่า...การผูกขาดทางการตลาด มันดี-ไม่ดีอย่างไร?
แต่ที่แน่ๆ ราคาหุ้นของทั้งกลุ่มทรูและดีแทค รวมถึงค่าย AIS รายใหญ่อีกเจ้า...ต่างดาหน้าพาเหรดขยับขึ้นกันทั่วหน้า สร้างกำไรให้กับนักลงทุน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเจ้าของรายใหญ่ของทั้ง 3 บริษัทไปแล้ว