เมื่อวันที่วันที่ 15 ธันวาคม 2564 บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ได้ทำหนังสือถึงกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง แจ้งผลคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเรื่องการประมูลโครงการโรงไฟฟ้าผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้า 5,300 เมกะวัตต์ ของบริษัทฯ
โดยระบุว่า บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) ขอแจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทราบว่า ตามที่บริษัท อินดิเพนเดนท์ เพาเวอร์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (“IPD”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทฯ ถือหุ้นร้อยละ 70ได้เข้าร่วมประมูลคัดเลือกผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนรายใหญ่ประจำปี 2555 (“โครงการ IPP”) ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 5,300 เมกะวัตต์ และเป็นผู้ชนะการประมูล โดย IPD ได้ดำเนินการให้บริษัท กัลฟ์ เอสอาร์ซี จำกัด (“GSRC”) และบริษัท กัลฟ์ พีดี จำกัด (“GPD”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ IPD ถือหุ้นทั้งหมด เข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (“กฟผ.”) ต่อมาในปี 2557 คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (“คตร.”) ได้มีมติให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (“กกพ.”) เข้าตรวจสอบผลการประมูลของโครงการ IPP เนื่องจากมีการร้องเรียนว่าขั้นตอนการประมูลคัดเลือกโครงการ IPP ไม่เป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ระเบียบของ กกพ. และเอกสารข้อกำหนดในการเสนอราคา (RFP) ในการนี้ กกพ. ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบ เพื่อทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงและรายงานผล รวมถึงส่งผลการตรวจสอบดังกล่าวให้ คตร. ทราบ ซึ่งต่อมา คตร. ได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติม
โดยกระทรวงพลังงานได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการดำเนินการประมูลโครงการ IPP และได้เชิญบริษัทฯ เข้าประชุมเพื่อขอเจรจายกเลิกโครงการโรงไฟฟ้า GPD ที่ชนะการประมูลและได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. แล้ว อีกทั้ง ยังได้มีหนังสือแจ้งไปยังคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (“คณะกรรมการ BOI”) ให้ชะลอการสนับสนุนการส่งเสริมการลงทุนของโครงการโรงไฟฟ้าของ GSRC และ GPD ที่ชนะการประมูลทั้งสองโครงการ
ต่อมาเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2558 IPD GSRC และ GPD (รวมเรียกว่า “ผู้ฟ้องคดี”) ได้ยื่นฟ้อง (1) กกพ. (2) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) (3) กระทรวงพลังงาน และ (4) คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง (รวมเรียกว่า “ผู้ถูกฟ้องคดี”) ต่อศาลปกครองกลาง เนื่องจากผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การตรวจสอบการประมูลคัดเลือกโครงการ IPP ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบเป็นบุคคลผู้มีส่วนได้เสีย และข้อมูลที่นำมาใช้ประกอบการตรวจสอบพิจารณานั้น เป็นข้อมูลที่ถูกบิดเบือนจากความจริง การตรวจสอบดังกล่าวทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายจากการที่มีอุปสรรค ไม่สามารถดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าต่อไปได้ ทั้งนี้ ผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งห้ามผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการตรวจสอบหรือนำผลการตรวจสอบการ ประมูลโครงการ IPP ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นไปใช้หรืออ้างอิง
วันที่ 8 ธันวาคม 2559 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาว่า ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจดำเนินการตรวจสอบตามกฎหมาย แต่ได้กระทำนอกเหนือเกินขอบเขตอำนาจในการใช้ผลการตรวจสอบดังกล่าว จนเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย และให้กระทรวงพลังงานแจ้งยกเลิกหนังสือที่ส่งไปถึง คณะกรรมการ BOI เกี่ยวกับการชะลอการพิจารณาอนุมัติการส่งเสริมการลงทุน โดยเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2560 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้อนุมัติการส่งเสริมการลงทุนแก่ผู้ฟ้องคดีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2560 กระทรวงพลังงานได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง เนื่องจากกระทรวงพลังงานเห็นว่าการกระทำของกระทรวงพลังงานไม่ได้เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี และผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำแก้ อุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดในวันที่ 20 มิถุนายน 2560
ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาว่า การกระทำของกระทรวงพลังงานทั้งในส่วนของการส่งหนังสือถึงคณะกรรมการ BOI หรือการเรียกผู้ฟ้องคดีเข้าไปเพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้านั้น เป็นการกระทำที่ละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ดังนั้นศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษาให้กระทรวงพลังงานยกเลิกหนังสือของกระทรวงพลังงานที่มีถึงสำนักงานคณะกรรมการ BOI ในการให้ชะลอการสนับสนุนการส่งเสริมการลงทุนของโครงการของผู้ฟ้องคดี และให้กระทรวงพลังงานแจ้งสำนักงานคณะกรรมการ BOI ทราบ ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษา รวมถึงห้ามกระทรวงพลังงานนำผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงการประมูลการรับซื้อไฟฟ้าของโครงการดังกล่าวไปใช้เจรจากับผู้ฟ้องคดีเพื่อยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอีกต่อไป ซึ่งคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวถือเป็นที่สุด