ค่ายนิเวศวิทยาทางทะเลภาคฤดูร้อนปีที่ 28 ปรับโหมดสู่การจัดค่ายออนไลน์เต็มรูปแบบ เดินหน้าปั้นนักวิทย์ทางทะเลรุ่นใหม่
ทะเลมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เป็นแหล่งอาหารและการประกอบอาชีพที่สำคัญ โดยชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรโลกกว่า 3 พันล้านคน ขึ้นอยู่กับความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง อย่างไรก็ดี โลกของเรากำลังเผชิญกับปัญหาความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศมหาสมุทรและทะเล จนองค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้ทศวรรษที่ 2021-2030 เป็น “ทศวรรษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยวิทยาศาสตร์ทางทะเลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” (The United Nations Decade of Ocean Science for Sustainable Development) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระดับนานาชาติในการฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล โดยหนึ่งในแนวทางการดำเนินงานนั้น คือการเพิ่มความรู้ทางวิทยาศาสตร์ พัฒนาขีดความสามารถในการวิจัย และถ่ายทอดเทคโนโลยีทางทะเล ทำให้บทบาทหน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลทวีความสำคัญยิ่งไปกว่าเดิม การพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ในสาขาวิทยาศาสตร์ทางทะเล เพื่อเป็นกำลังในการขับเคลื่อนการอนุรักษ์ท้องทะเลอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของโครงการค่ายนิเวศวิทยาทางทะเลภาคฤดูร้อน หรือ Marine Ecology Summer Course ที่ได้ทำหน้าที่ให้ความรู้และส่งเสริมเยาวชนให้มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ท้องทะเล เพื่อวางรากฐานการสร้างบุคลากรในสาขานี้จากรุ่นสู่รุ่นติดต่อกันมาเป็นปีที่ 28
โครงการค่ายนิเวศวิทยาทางทะเลภาคฤดูร้อน เป็นความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด โดยจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้เป็นปีที่ 28 โดยจัดในรูปแบบออนไลน์ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 เพื่อสานต่อภารกิจในการสร้างนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล โดยปรับวิธีการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับการเรียนออนไลน์ สามารถมสร้างประโยชน์แก่เยาวชนได้มากที่สุด ซึ่งในปีนี้ มีเยาวชนเข้าร่วมทั้งหมด 60 คน จาก 22 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ
รูปแบบของการจัดค่ายในปีนี้ แตกต่างไปจากเดิมที่เยาวชนต้องลงพื้นที่สัมผัสน้ำทะเล เรียนรู้สิ่งแวดล้อมด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า แต่ด้วยสถานการณ์ของโรคโควิด-19 คณะผู้จัดต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตรในรูปแบบออนไลน์ อย่างไรก็ตาม การสรรค์สร้างกิจกรรมต่างๆ ของค่าย ยังคงตอบโจทย์ด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้ พัฒนาทักษะที่จำเป็น และปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลได้ไม่ต่างจากเดิม
ผศ.ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ หัวหน้าโครงการค่ายนิเวศวิทยาทางทะเลภาคฤดูร้อนปีที่ 28 กล่าวว่า “ความท้าทายของค่ายปีนี้คือจะทำอย่างไรในการปรับการเรียนการสอนให้เข้ากับบริบทของการเรียนออนไลน์ โดยที่ยังคงสามารถให้ความรู้และส่งเสริมให้เยาวชนตระหนักถึงความสำคัญในการนำองค์ความรู้เข้าไปบริหารจัดการ ดูแล ฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลให้คงอยู่สืบไปได้อย่างมีประสิทธิภาพทัดเทียมกับการเรียนการสอนในห้องเรียน”
“ไฮไลท์ของค่ายในปีนี้ คือ การจัด Special Talk ที่นำวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญในวงการวิทยาศาสตร์ทางทะเลระดับประเทศ มาร่วมพูดคุยและแชร์ประสบการณ์ต่างๆ ให้กับเยาวชนในทุกวันพุธ โดยหัวข้อในแต่ละสัปดาห์เป็นเรื่องที่อยู่ในกระแสสังคม แปลกใหม่ และทันต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน อาทิ การบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลในยุค Disruption ทิศทางงานวิจัย วิทยาศาสตร์ทางทะเล เพื่อสนับสนุน the UN Decade of Ocean Science for Sustainable Development (2021-2030), Climate Change ทะเลที่เปลี่ยนไปกับ Marine science ที่เข็มแข็ง เป็นต้น ทำให้เยาวชนได้รับองค์ความรู้จากประสบการณ์การทำงาน และการลงพื้นที่ทำการวิจัยของวิทยากรโดยตรง ตลอดจนมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กลายเป็นโอกาสการเรียนรู้ใหม่ๆ ให้กับเยาวชน ที่สำคัญคือเรามีการเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ของค่ายให้คนภายนอกได้ติดตามย้อนหลังด้วย นอกจากนี้ ยังมีการสอนออนไลน์กึ่งปฏิบัติการ เพื่อสาธิตเทคนิคและฝึกปฏิบัติจริงจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น การจำแนกตัวอย่างสัตว์น้ำ การเก็บรักษาตัวอย่างกลุ่มสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังและมีกระดูกสันหลัง การถ่ายรูปตัวอย่างเพื่อใช้ในการวิจัย สลับกับกิจกรรมอบรมเพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ ตลอดจนได้พัฒนาทักษะในการคิดตั้งโจทย์ปัญหา วางแผนทดลอง การเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล สรุปผลการทดลองและนำเสนอผลงาน ผ่านการทำโครงการวิจัยแบบกลุ่มที่มีอาจารย์ที่ปรึกษาดูแลอย่างใกล้ชิด”
“ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่เยาวชนจะได้รับจากค่ายนี้ คือการสร้างเครือข่ายการทำงานของนักวิทย์ทางทะเลในอนาคต ทั้งระหว่างเพื่อนนักศึกษาในรุ่นเดียวกัน และรุ่นพี่ที่จบจากค่ายนี้ ซึ่งกระจายอยู่ในหลากหลายสายอาชีพ เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลของประเทศตามแนวทางที่พวกเขาถนัดต่อไป” ผศ.ดร.อมรศักดิ์ กล่าวเสริม
เรียนออนไลน์ไม่ใช่ปัญหา
ตลอดระยะเวลา 27 ปีที่ผ่านมา ค่ายนี้ได้รับการตอบรับที่ดีมาโดยตลอด ถึงแม้ในปีนี้ ทั้งครูและนักเรียนต่างต้องปรับโหมดการเรียนการสอนมาสู่ออนไลน์ แต่เสียงสะท้อนจากเยาวชนทำให้รับรู้ว่า น้องๆ สามารถทำความเข้าใจและสนุกไปการเรียนรู้ทางด้านระบบนิเวศวิทยาทางทะเลด้วยวิธีใหม่ๆ โดยไม่ต้องเดินทางไปที่ทะเลได้เช่นกัน
“สิ่งแวดล้อมภาคเหนือกับภาคใต้แตกต่างกันมากเลยค่ะ” นางสาวบุษยณัฐ เพ็งภาจร หรือ น้องปิ่น นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แชร์ประสบการณ์การเข้าค่ายครั้งนี้ว่า “ปกติเราเรียนเรื่องภูเขา ป่าไม้ สิ่งแวดล้อมบนบก ไม่มีโอกาสได้พบหรือเรียนรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ทางทะเล การเข้าค่ายครั้งนี้ก็ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ได้แลกเปลี่ยนความรู้กันมากขึ้น พาร์ทที่ชอบมากที่สุดจะเป็น Special Talk พูดเรื่อง Sex In The Sea ที่อธิบายให้เข้าใจถึงพฤติกรรมการหาคู่และการสืบพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลลึก ทำให้เรารู้สึกว่าใต้ทะเลมีอะไรหลายอย่างที่เรายังไม่รู้ การเข้าค่ายครั้งนี้เป็นเหมือนการเปิดโลกทางทะเลมากๆ”
นายทิวาปกฏ ปานโบว์ มหาวิทยาลัยทักษิณ หรือ น้องแมคโคร อีกหนึ่งเยาวชนที่เคยสัมผัสค่ายแบบ On-Site ของค่ายนี้มาก่อน ได้มีโอกาสกลับมาเข้าค่ายครั้งนี้อย่างเต็มตัวอีกครั้งกล่าวว่า “ถึงแม้ในปีนี้ เราไม่ได้ออกไปทำกิจกรรม ไม่ได้เจอเพื่อน หรือเจอสิ่งแวดล้อมทางทะเลกับตัวเองเหมือนปีที่ผ่านมา การเข้าค่ายครั้งนี้ทำให้ผมรู้สึกว่าได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา ตั้งแต่เรื่องข้อมูลและเนื้อหาทางทะเลที่มีการอัปเดตข่าวสารใหม่ๆ ให้เราได้รับรู้ตลอดเวลา ส่วนตัวผมรู้สึกสนใจเรื่องความหลากหลายทางทะเลรวมไปถึงการนำข้อมูลจากโซเชียลมีเดียมาปรับใช้กับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เพื่อคิดหาแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์มากขึ้น ซึ่งในค่ายนี้มีทั้งวิทยากรและอาจารย์ที่ปรึกษาที่จะสามารถแนะนำแนวทางในการศึกษาและต่อยอดในอนาคตเพิ่มขึ้นอีกด้วย”
นางสาวพรสุรีย์ กอนันทา ผู้จัดการฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า “เชฟรอนยินดีที่ได้ให้การสนับสนุนค่ายนิเวศวิทยาทางทะเลภาคฤดูร้อนอย่างต่อเนื่อง เพราะสอดรับเจตนารมณ์ในการส่งเสริมด้านการศึกษา และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ค่ายจึงต้องปรับการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้การบ่มเพาะอนาคตนักวิทย์ทางทะเลรุ่นใหม่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยปรับรูปแบบของกิจกรรมให้เหมาะสม และเพิ่มองค์ความรู้ที่ทันสมัย โดยเชิญนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย กรมประมง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และสถาบันการศึกษาอื่นๆ กว่า 10 แห่ง มาร่วมถ่ายทอดความรู้ เปิดมุมมอง และประสบการณ์การทำงานจากหลากหลายสาขาวิชาชีพ ให้เยาวชนได้รับประโยชน์จากการเข้าค่ายในครั้งนี้ให้มากที่สุด และได้พัฒนาทักษะจำเป็นด้านการวิจัยแบบครบถ้วน เพื่อเป็นการจุดประกายและสร้างแรงบันดาลใจต่อไป ทั้งนี้ โดยตลอด 28 ปีของการจัดค่ายนิเวศวิทยาทางทะเลภาคฤดูร้อน ค่ายนี้ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนไปแล้วถึง 870 คน ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลทั้งในสายงาน วิชาการ การบริหารและการจัดการ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในประเทศไทย นับเป็นความภาคภูมิใจของเรา”