มองแบบคนกลาง! สิ่งที่บริษัทประกันภัยและสำนักงาน คปภ.ทำ ระหว่างแก้ปัญหา “เหยื่อโควิด-19” ไม่มีใครผิด-ถูก? ผิดก็ผิดด้วยกัน ถูกก็ถูกด้วยกัน แต่เมื่อปัญหามันเกิดขึ้นแล้ว และเป็นภาคเอกชน โดยสมาคมประกันวินาศภัย ที่มีมติเอกฉันท์ยื่นขอให้ 13 บอร์ด คปภ. ยกเลิก 2 คำสั่งนายทะเบียนฯ น่าสนใจว่า งานนี้...ภาครัฐต้องเยียวยาและชดเชยให้กับเอกชนหรือไม่? และเม็ดเงินกว่า 3 แสนล้านบาท จะหาได้จากไหนกัน?
มติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมประกันวินาศภัยไทย ครั้งที่ 9/2564-66 เมื่อวันอังคารที่ 14 ธันวาคม 2564 ซึ่งออกเป็นเอกฉันท์ให้ดำเนินการยื่นอุทธรณ์ขอให้คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) พิจารณายกเลิกคำสั่งนายทะเบียน 2 ฉบับ ประกอบด้วย..
1. คำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 เรื่อง ให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยบริษัท ในกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย และ
2. คำสั่งนายทะเบียนที่ 17/2564 ลงวันที่ 12 เมษายน 2564 เรื่อง การรักษาพยาบาลตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือเอกสารแนบท้าย เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย
ทั้งนี้ สมาคมประกันวินาศภัยไทยได้ยื่นหนังสืออุทธรณ์คำสั่งนายทะเบียนทั้ง 2 ฉบับ ต่อคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยทั้ง 13 คน เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา
เหตุผลของการอุทธรณ์ครั้งนี้ ระบุว่า...คำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ซึ่งยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 โดยบริษัทประกันวินาศภัย มีประเด็นสำคัญมาจากการออกคำสั่งให้มีผลบังคับย้อนหลังไปถึงกรมธรรม์ประกันภัยที่นายทะเบียนได้ให้ความเห็นชอบ และบริษัทประกันภัยได้ออกจำหน่ายกรมธรรม์ให้กับประชาชนไปแล้ว
การให้คำสั่งมีผลบังคับย้อนหลังถึงกรมธรรม์ประกันภัยที่ออกก่อนคำสั่งฉบับดังกล่าว ถือว่าผิดหลักการที่เคยได้ปฏิบัติกันมา เนื่องจากการออกคำสั่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยที่นายทะเบียนเคยให้ความเห็นชอบไว้แล้วก่อนหน้า จะบังคับใช้เฉพาะการออกกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใหม่หลังวันที่คำสั่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขมีผลบังคับแล้วเท่านั้น
นอกจากนี้แล้ว การออกคำสั่งดังกล่าวยังขัดต่อหลักการออกกฎหมายของประเทศ เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดได้วางบรรทัดฐานไว้ว่า ฝ่ายปกครองไม่มีอำนาจออกกฎหรือคำสั่งทางปกครอง ให้มีผลย้อนหลังที่เป็นโทษหรือเป็นผลร้ายต่อผู้อยู่ภายใต้ปกครอง
การให้คำสั่งมีผลบังคับย้อนหลังดังกล่าว ยังถือว่าเป็นการทำลายหลักการบริหารความเสี่ยงของบริษัทประกันวินาศภัย เพราะจะทำให้ภาพความเสี่ยงโดยรวมนั้นต่างไปจากภาพความเสี่ยง ณ วันที่บริษัทประกันภัยได้ยื่นขอรับความเห็นชอบจากนายทะเบียน และจะทำให้อัตราเบี้ยประกันภัยที่ได้กำหนดไว้เดิมไม่สอดคล้องกับความเสี่ยงที่เปลี่ยนไป เนื่องจากเงื่อนไขในการรับประกันภัยได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ และอาจเป็นเหตุให้บริษัทประกันภัยตัดสินใจไม่รับประกันภัยตั้งแต่ต้น หากไม่มีการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวไว้ในกรมธรรม์
“จะเห็นได้ว่า การออกคำสั่งให้มีผลบังคับย้อนหลังดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยในระดับวิกฤต และส่งผลทำให้บริษัทประกันวินาศภัย 2 บริษัทต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาตฯ ในที่สุดตามที่ได้ปรากฏเป็นข่าว เนื่องจากคำสั่งดังกล่าวทำให้ทั้ง 2 บริษัทไม่สามารถใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย เพื่อหยุดยั้งความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต และทำให้บริษัทไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนเพื่อเพิ่มทุนได้ เนื่องจากผู้ลงทุนไม่มีความมั่นใจว่า หากมีการเพิ่มทุนไปแล้วจะเพียงพอต่อค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต” หนึ่งในกรรมการฯ สมาคมประกันวินาศภัยไทย ให้ความเห็น
ผลจากคำสั่งนายทะเบียนในครั้งนี้ ได้นำไปสู่การปิดดำเนินการของ 2 บริษัทประกันวินาศภัย (บมจ.เอเชีย ประกันภัย 1995 และ บมจ.เดอะ วัน ประกันภัย) แล้วยังก่อให้เกิดผลกระทบตามมาทำให้ผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่น ๆ อีกกว่า 4 ล้านราย ต้องได้รับความเดือดร้อนและต้องหาบริษัทประกันภัยมารองรับความเสี่ยงของตนเองหลังจากการปิดบริษัทในครั้งนี้ ทั้งยังส่งผลกระทบต่อคู่สัญญาอื่น ๆ ของบริษัท เช่น โรงพยาบาล อู่ซ่อมรถ สถาบันการเงิน พนักงานของบริษัท รวมถึงเป็นภาระต่อกองทุนประกันวินาศภัยเป็นอย่างมากที่ต้องมาใช้หนี้ให้กับผู้มีสิทธิตามสัญญาประกันภัยอีกด้วย
สำหรับการอุทธรณ์คำสั่งนายทะเบียนที่ 17/2564 ซึ่งได้ขยายความคุ้มครองในกรมธรรม์ประกันภัยเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือเอกสารแนบท้าย เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มีประเด็นสำคัญมาจากการออกคำสั่งซึ่งได้ขยายความคุ้มครองในกรมธรรม์ประกันภัยที่เคยได้รับความเห็นชอบทั้งเงื่อนไขและอัตราเบี้ยประกันภัยจากนายทะเบียนไปแล้ว ส่งผลให้บริษัทประกันภัยต้องรับผิดชอบความคุ้มครองเพิ่มเติมโดยไม่ได้มีการคำนวณอัตราเบี้ยประกันภัยรองรับไว้ตั้งแต่ต้น
รายงานข่าวระบุว่า การออกคำสั่งดังกล่าว ถือว่าขัดต่อหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยและการบริหารความเสี่ยงของบริษัทประกันภัย เพราะหากมีการขยายเงื่อนไขความคุ้มครองในกรมธรรม์ประกันภัยเพิ่มขึ้นจากเงื่อนไขเดิมที่ได้รับความเห็นชอบแล้ว บริษัทประกันภัยจะต้องทบทวนและกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยใหม่ให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากเดิมตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย อย่างไรก็ตาม การออกคำสั่งให้มีการขยายความคุ้มครองเพิ่มเติมนั้น ไม่ได้ให้สิทธิกับบริษัทประกันภัยในการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยใหม่และสิทธิในการพิจารณาว่าจะเลือกรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นนั้นหรือไม่
ทั้งนี้ สมาคมฯ ขอยืนยันในหลักการเรื่องความคุ้มครองตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย โดยผู้เอาประกันภัยที่เป็นผู้ติดเชื้อ COVID-19 จะได้รับความคุ้มครองแบบผู้ป่วยในต่อเมื่อเป็นผู้ป่วยที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ที่ได้รับการวินิจฉัยและคำแนะนำจากแพทย์ตามข้อบ่งชี้ซึ่งเป็นมาตรฐานทางการแพทย์ ให้ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลเท่านั้น แต่ไม่รวมถึงผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่ไม่มีอาการแต่เข้ากักตัวในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล
นอกจากนี้แล้ว การออกคำสั่งทั้ง 2 ฉบับ ยังเป็นการทำลายความเชื่อมั่นของบริษัทผู้รับประกันภัยต่อ และก่อให้เกิดปัญหากับบริษัทประกันภัยที่ทำสัญญาประกันภัยต่อไว้ เนื่องจากบริษัทที่รับประกันภัยต่ออาจปฏิเสธการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่เป็นผลมาจากเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยที่เปลี่ยนแปลงไปจากที่ได้มีการทำประกันภัยต่อไว้ในตอนแรก และจะทำให้การทำสัญญาประกันภัยต่อในอนาคตมีความยุ่งยากและลำบากมากยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้รับประกันภัยต่อขาดความเชื่อมั่นในระบบการรับประกันภัยของประเทศไทยและหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยไทย เนื่องจากการใช้อำนาจของหน่วยงานกำกับดูแลที่เปลี่ยนแปลงแก้ไขกรมธรรม์ประกันภัยที่เคยให้ความเห็นชอบไว้นั้น ขัดต่อหลักกฎหมายและหลักการประกันภัยสากล
“ด้วยเหตุผลและความจำเป็นทั้งหมดตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น คณะกรรมการบริหารสมาคมประกันวินาศภัยไทยในฐานะตัวแทนของบริษัทประกันวินาศภัยทั้งหมดในประเทศไทย จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ให้พิจารณายกเลิกคำสั่งนายทะเบียนทั้ง 2 ฉบับ” รายงานข่าว ระบุและว่า..
เพื่อให้การกำกับดูแลธุรกิจประกันวินาศภัยในประเทศไทย กลับสู่หลักการประกันภัยพื้นฐานตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยและอัตราเบี้ยประกันภัยตามระดับความเสี่ยง รวมทั้งเป็นไปตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยและการประกอบธุรกิจประกันภัยที่เป็นสากล ซึ่งหากไม่มีการยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวแล้ว ก็จะทำให้เกิดผลเสียหายต่อเสถียรภาพ ความมั่นคง และความเชื่อมั่นของธุรกิจประกันวินาศภัย และนำไปสู่ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยในที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากปรากฏการณ์โรคอุบัติใหม่ “ไวรัสโควิด-19” ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย นับแต่ต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ถือเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายของทุกฝ่าย ดังนั้น การที่ภาคเอกชนจะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกันไม่ให้ธุรกิจของตัวเองต้องได้รับผลกระทบ จนกลายเป็นความเสียหายตามมา และการบอกเลิกสัญญากับผู้เอาประกันภัย ก็อยู่ในกฎเกณฑ์และกติกาที่ สำนักงาน คปภ. เห็นชอบตั้งแต่ต้น พวกเขาจึงมีสิทธิที่จะดำเนินการเช่นนั้น เพื่อไม่ให้บริษัทต้องปิดตัวลง จากภาระการจ่ายสินไหมทดแทนในประกันภัย “เจอจ่ายจบ”
ทว่า มองในมุม “เรคกูเรเตอร์” อย่าง...สำนักงาน คปภ. ที่แม้จะเข้าใจบริบทของภาคเอกชน ซึ่งจำต้อง “ตัดแขนรักษาชีวิต” ทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้บริษัทของตัวเองหยุดและปิดกิจการ แต่พวกเขา (ผู้บริหาร คปภ.) ก็ปล่อยให้ผู้เอาประกันกว่า 4 ล้านคน ที่ถือกรมธรรม์ประกันภัยโควิดฯ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม “เจอจ่ายจบ” หรือไม่ก็ตาม ตกอยู่ภาวะถูกบอกเลิกสัญญากลางครันไม่ได้เช่นกัน
สิ่งที่ภาคเอกชนทำ...ก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร?
ขณะที่ ภาครัฐ อย่าง....สำนักงาน คปภ. ซึ่งอาศัยอำนาจ เลขาธิการ คปภ. ในฐานะ “นายทะเบียน” ออกทั้ง 2 คำสั่งข้างต้น ก็จำต้องกระทำการในลักษณะที่ “ไม่ทำไม่ได้”
ยิ่งตัว ประธาน บอร์ด คปภ. คือ ปลัดกระทรวงการคลัง ถือเป็นตัวแทนของฝ่ายการเมือง ที่มีเรื่อง “คะแนนนิยม” จากประชาชน เป็นฐานรากสำคัญ คอยคัดท้าย...หนุนหลัง สำนักงาน คปภ. และเลขาธิการ คปภ. ด้วยแล้ว
เรื่องมันจึงเดินมาไกลจนแทบจะกลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้
ถึงตรงนี้...มีแนวโน้มที่หวยจะออกไปในลักษณะ “ทุกฝ่ายไม่ผิด” และ “ต้องได้รับการชดเชย” แต่ประเด็นสำคัญที่อาจเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงคอยกั้นขวาง ก็คือ...งบประมาณจำนวนมหาศาล จะเอามาจากไหน เพื่อนำมาจ่ายชดเชยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
อย่าลืมว่า...กรมธรรม์ประกันภัยโควิดฯ มีรวมกันกว่า 4 ล้านฉบับ ที่ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ราวๆ 1 ล้านกรมธรรม์ คงไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่การมธรรม์ฯ ที่จบไปแล้วราว 3 ล้านฉบับนั้น คิดเป็นตัวเลขคร่าวๆ ก็คงไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท
เงินจำนวนมหาศาลนี้...รัฐบาลจะเอามาจากไหน เพื่อชดเชยและเยียวยาให้กับบริษัทประกันภัย โดยเฉพาะ 2 รายที่ถูกคำสั่งปิดการไปก่อนหน้านี้
ดูท่าว่าเรื่องนี้...จะกลายเป็นมหากาพย์”หนังชีวิต” ลากยาวไปไกลแน่!