ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจเรื่อง โพล ควบรวม ทรู ดีแทค กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,331 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 5 – 13 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่กว่า 83.9% คัดค้านการควบรวมกิจการทรู กับ ดีแทค มีเพียง 16.1% ที่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการ
เมื่อถามถึงระดับความรู้ความเข้าใจมากถึงมากที่สุดของประชาชนต่อ การควบรวมธุรกิจ ทรู กับ ดีแทค พบว่า เกินครึ่งเล็กน้อยหรือ 51.6% ระบุ ประเทศไทยและประชาชนจะตกอยู่ในมือนายทุนผูกขาด รองลงมา คือ 50.3% หรือประมาณครึ่งหนึ่งระบุ จะเกิดการผูกขาดธุรกิจของกลุ่มนายทุน 45.7% ระบุ ค่าบริการจะแพงขึ้น หลังการควบรวมกิจการธุรกิจ 41.4% ระบุ เกิดความไม่เป็นธรรม ในข้อตกลงสัญญากับผู้บริโภค 40.8% ระบุ การควบรวมกิจการธุรกิจของ ทรู กับ ดีแทค จะกลายเป็นการผูกขาดธุรกิจให้เหลือน้อยราย ลดทางเลือกของผู้บริโภคลง 40.8 % ระบุจะเกิดการกีดกั้นการค้าของผู้ประกอบการรายย่อย และ 39.7% เข้าใจว่า การควบรวมกิจการธุรกิจ ของ ทรู กับ ดีแทค จะส่งผลเสียต่อผู้บริโภค ตามลำดับ
นอกจากนี้ เมื่อถามถึงผลกระทบในอนาคตจากการควบรวมธุรกิจ ทรู กับ ดีแทค พบว่า เกินครึ่งหรือ 51.3% ระบุผู้บริโภคไม่มีทางเลือก 49.8% ไม่เกิดการแข่งขัน / 49.2% ราคาค่าบริการจะสูงขึ้น / 36.7% เกิดการเอาเปรียบผู้บริโภค / 24.3% ระบุคุณภาพบริการจะแย่ลงและ 17.2 % มองว่าประเทศสูญเสียรายได้ ตามลำดับ
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่คัดค้านการควบรวมกิจการทรูกับดีแทคด้วยความรู้ความเข้าใจของประชาชนว่าประเทศไทยและประชาชนจะตกอยู่ในมือนายทุนผูกขาดและก่อให้เกิดการสูญเสียผลประโยชน์ทั้งผลประโยชน์ชาติและของประชาชนแต่ละคนโดยมีความคิดว่าการควบรวมจะทำให้ค่าบริการแพงขึ้น เกิดความไม่เป็นธรรมในข้อตกลงสัญญากับผู้บริโภค รวมทั้งเป็นการลดทางเลือกของผู้บริโภคและเกิดการกีดกั้นการค้าผู้ประกอบการรายย่อยที่ส่งผลเสียโดยรวมต่อผู้บริโภคเพราะจะเกิดผลกระทบในอนาคตในหลายมิติได้แก่ ผู้บริโภคไม่มีทางเลือก ไม่เกิดการแข่งขัน ราคาค่าบริการจะสูงขึ้น เกิดการเอาเปรียบผู้บริโภค คุณภาพการบริการจะแย่ลง และประเทศจะสูญเสียรายได้ ที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรนำข้อมูลที่ค้นพบครั้งนี้ไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจที่จะก่อให้เกิดความสมดุลในตลาดการค้าเสรีที่ทุกฝ่ายได้รับผลประโยชน์มากขึ้นหลักการเปลี่ยนแปลงหรือคงสภาพที่เป็นอยู่ในเวลานี้