ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ วิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดกลาง และรองหัวหน้าพรรค ปชป. ได้เกาะติดความไม่ชอบมาพากลการประมูลรถไฟฟ้าสีส้ม ที่ระบุว่า “มีส่วนต่างเม็ดเงินสูงถึง 68,000 ล้าน” ที่ยังไม่มีคำตอบชัดเจนจาก รฟม. โดยล่าสุดโพสต์ระบุว่า..
ทุกครั้งที่ รฟม. ตอบโต้ข้อกังขาของผมกรณีการประมูลรถไฟฟ้า และ/หรือ ค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่ รฟม. เกี่ยวข้อง มักตอบไม่ตรงประเด็น และตอบไม่ครบทุกคำถาม ครั้งล่าสุดก็เช่นเดียวกัน รฟม. ยังคงใช้แนวทางตอบคำถามเหมือนเดิม หลังจากผมกระทุ้งให้ รฟม. แสดงหลักฐานผลการสังเกตการณ์ของผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต้านโกง
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีตรวจสอบการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ถึง 6.8 หมื่นล้านบาท พร้อมชักชวนให้คนไทยทุกภาคส่วนร่วมกันกดดันให้ผู้เกี่ยวข้องกับการประมูลที่ฉาวโฉ่ยืดอกแสดงความรับผิดชอบ
แต่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โต้ ACT ว่า รฟม. ไม่ได้รับรายงานผลการสังเกตการณ์ของผู้สังเกตการณ์จาก ACT ที่ชี้ให้เห็นว่า รฟม. มีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริต หาก ACT ได้รับรายงานดังกล่าวก็ควรส่งให้ รฟม.
1. รฟม. ไม่ได้ชี้แจงอะไร ?
เพื่อให้สาธารณชนหายเคลือบแคลงสงสัย ผมจึงได้เสนอให้ รฟม. และ ACT พิจารณาดำเนินการดังนี้
(1) รฟม. ควรเปิดเผยรายงานการประชุม และ/หรือ เทปบันทึกเสียงให้เห็นว่ามีการทักท้วงจากผู้สังเกตการณ์หรือไม่ ?
(2) ACT ควรเปิดเผยความเห็นของผู้สังเกตการณ์ว่า มีการทักท้วงการประมูลอย่างไร ? หรือไม่ ?
(3) กรณี ITD ซึ่งมีกรรมการคนหนึ่งได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก อาจทำให้มีคุณสมบัติขัดหรือแย้งกับประกาศของคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ทั้งนี้ รฟม. เคยให้ข่าวว่า จะสอบถามขอความกระจ่างไปยังคณะกรรมการฯ ถึงเวลานี้ รฟม. ควรเปิดเผยความเห็นของคณะกรรมการฯ ว่า มีความเห็นอย่างไร ? อีกทั้ง รฟม. ควรเปิดเผยรายงานการประชุม และ/หรือ เทปบันทึกเสียงให้เห็นว่ามีการทักท้วงกรณีคุณสมบัติของ ITD หรือไม่ ?
รฟม. ไม่ได้ชี้แจงข้อเสนอแนะของผมในส่วนที่ รฟม. เกี่ยวข้องตามข้อ (1) และ ข้อ (3) ดังกล่าวข้างต้น
2. ปมปริศนาที่ทำให้เกิดส่วนต่าง 6.8 หมื่นล้าน !
ปมปริศนาที่ทำให้เกิดส่วนต่าง 6.8 หมื่นล้าน มี 2 ปมหลัก ผมจึงอยากให้ รฟม. ช่วยไขปมปริศนาดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วย
(1) ในการประมูลครั้งที่ 1 เหตุใด รฟม. จึงเปลี่ยนเกณฑ์ประมูล แล้วนำไปสู่การล้มประมูลในที่สุด ? การเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลเป็นไปตามคำขอของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD หลังจาก ITD ได้ขอให้เปลี่ยนเพียงแค่ 2 สัปดาห์ ทั้งๆ ที่ รฟม. ได้ใช้เวลาศึกษามาอย่างละเอียดรอบคอบถึงเกือบ 2 ปี
ข้อสังเกตของผม ก็คือ หาก รฟม. ไม่เปลี่ยนเกณฑ์ประมูลและไม่ล้มประมูล มีความเป็นไปได้ที่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ร่วมกับบริษัท ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC จะชนะการประมูล เพราะขอรับเงินสนับสนุนค่าก่อสร้างจาก รฟม. ต่ำแค่เพียง 9,675.42 ล้านบาท
(2) ในการประมูลครั้งที่ 2 เหตุใด รฟม. จึงเพิ่มคุณสมบัติของผู้รับเหมาขึ้น แต่ลดคุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าลง ? ในทางที่ถูกต้อง หาก รฟม. ต้องการได้ผู้ยื่นข้อเสนอที่มีคุณสมบัติสูงขึ้น ก็ควรเพิ่มคุณสมบัติทั้งของผู้รับเหมาและของผู้เดินรถไฟฟ้า ไม่ใช่เพิ่มคุณสมบัติของผู้รับเหมาขึ้น แต่ลดคุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าลง
ข้อสังเกตของผม ก็คือ หาก รฟม. เพิ่มคุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าขึ้น หรือคงคุณสมบัติไว้เท่าเดิมเป็นอย่างน้อย จะทำให้ Incheon Transit Corporation หรือ ITC ผู้เดินรถไฟฟ้าจากเกาหลีใต้ไม่สามารถร่วมยื่นประมูลกับ ITD ได้ จะทำให้เหลือเอกชนที่สามารถยื่นข้อเสนอได้เพียงรายเดียวเท่านั้น นั่นคือบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ซึ่งขอรับเงินสนับสนุนค่าก่อสร้างจาก รฟม. สูงถึง 78,287.95 ล้านบาท ในกรณีมีเอกชนยื่นข้อเสนอเพียงรายเดียว รฟม. จะสามารถดำเนินการประมูลได้สำเร็จหรือไม่ ?
3. เสนอให้จัด “เวทีเสวนา”
การตอบโต้กันด้วยข้อเขียนเป็นการยากที่จะทำให้สาธารณชนเข้าใจได้ ผมจึงขอเสนอแนะให้ รฟม. หรือ ACT พิจารณาจัดเวทีเสวนา “ไขปมปริศนาส่วนต่าง 6.8 หมื่นล้าน ประมูลสายสีส้ม” ขึ้น โดยให้มีผู้เกี่ยวข้องครบทุกฝ่าย ทั้งผู้แทนจาก รฟม. และผู้แทนจาก ACT รวมทั้งผมด้วย
หมายเหตุ : ข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง