ควันหลงจากการที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกประกาศปรับค่าเอฟที (FT) ล่าสุดงวดเดือน ก.ย.- ธ.ค. 65 ขึ้นอีก 68.66 สต.ต่อหน่วย จนทำให้ค่าไฟในมือประชาชนสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เฉลี่ยแล้วประชาชนคนไทยจะต้องจ่ายค่าไฟเฉลี่ย 4.72 บาทต่อหน่วย และหากมีการใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วย หรือ 300 หน่วยขึ้นไป อัตราค่าไฟฟ้าที่ต้องจ่ายก็ยิ่งสูงขึ้นเป็นทวีคูณ
แม้ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะอนุมัติงบกลางกว่า 9,100 ล้านบาท ในการช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน ระยะเวลา 4 เดือนที่เหลือของปีนี้ เพื่อแบ่งเบาภาระความเดือดร้อนของประชาชน แต่ก็คงเป็นเพียงมาตรการช่วยคราวเพื่อบรรเทาปัญหาลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ และปัญหารุมเร้าที่จะถั่งโถมเข้าสู่เสถียรภาพของรัฐบาลเท่านั้น แต่รากเหง้าของปัญหาที่แท้จริงนั้น ก็คงยังไม่ได้รับการแก้ไข
ล่าสุด มีความพยายามจะโยงใยปัญหาค่าไฟฟ้าแพงที่ว่านี้ไปถึงเรื่องของโครงสร้างราคาค่าไฟ และการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ที่นัยว่าไปผูกโยงไว้กับ “กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง” หรือ Reserve margin ของประเทศที่นัยว่าเวลานี้สูงกว่า 54% และยังคงมีความพยายามจะเพิ่มกำลังสำรองการผลิตไฟฟ้าที่ว่านั้นให้สูงขึ้นไปอีก จนมีการโจมตีว่าเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ค่าไฟฟ้าฐานที่ประชาชนคนไทยต้องจ่ายนั้นสูงเกินจริง
วันก่อนได้ฟัง “ผู้เฒ่าเล่าเรื่อง” ออกมาสะท้อนมุมมอง “ใครคือไอ้โม่งตัวจริง ทำค่าไฟแพง(ฉิบหาย)” ..ซึ่งเป็นการสะท้อนมุมมองในอีกด้านแล้ว ก็ทำให้เปลี่ยนมุมมองต่อ “ท่านผู้เฒ่า” ไปพอสมควร อย่างเรื่องนี้ที่ท่านผู้เฒ่าเอาข้อเท็จจริงมาพูดแล้ว ทำให้เห็นภาพในระดับหนึ่ง
เนื่องจากไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถผลิตแล้วเก็บไว้ใช้ได้อย่างน้ำมัน ดังนั้น การผลิตไฟฟ้าจะต้องผลิตทันทีในเวลาที่มีความต้องการใช้ ณ เวลานั้นๆ ดังนั้น ตามหลักการจึงควรมีโรงไฟฟ้าที่เสถียร มีกำลังผลิตที่เชื่อถือได้ (Reliable capacity) มากกว่าโรงไฟฟ้าที่ผลิตได้ตามฤดูกาล เพื่อความมั่นคงของระบบ หากประเทศใดมีสัดส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเยอะ ก็มีความจำเป็นที่ต้องมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve margin) สูงตามไปด้วย
ตัวอย่าง ประเทศโปรตุเกส ที่มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 58% จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองสูงถึง 130% เยอรมนี มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 49% มีกำลังผลิตสำรอง 111% จีน มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 45% มีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง 91% ออสเตรเลียมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 33% มีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง 65% แม้แต่มาเลเซียเพื่อนบ้านที่มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 23% พอๆ กับไทยก็มีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองสูงถึง 51%
การที่ประเทศเหล่านี้มี Reserve margin ที่สูง เพราะโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟได้ตามฤดูกาลไม่มีความเสถียรในการผลิตไฟฟ้านั่นเอง จึงจำเป็นต้องมีสำรองการผลิตไฟฟ้าในอัตราที่สูง ขณะที่ประเทศไทยในปัจจุบันมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน( ณ ก.ค.65) ที่ 19% และมี reserve margin ในระดับ 40-50% ถือว่าไม่สูงมากนัก เนื่องจาก 2 ปัจจัย คือ..
1. ไทยเริ่มมีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่มีความไม่เสถียรเยอะขึ้น และ 2. ความต้องการใช้ไฟฟ้า (Demand) ลดลงจากวิกฤตโควิด-19
แต่อย่างไรก็ตาม วิกฤตนี้เป็นเพียงเหตุการณ์ระยะสั้นที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันสถานการณ์ดีขึ้นแล้วจากสัญญาณเชิงบวกที่นักท่องเที่ยวเริ่มกลับเข้ามาในประเทศ ซึ่งหากภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจฟื้นตัว ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะกลับมาสูงขึ้นในสถานการณ์ปกติ
ในทางกลับกัน หากไม่เกิดภาวะวิกฤติโควิดและประเทศไทยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจตามแผนหรือดีกว่าแผน กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่มีอยู่ ก็จะเป็นปัจจัยพื้นฐานหลักในการสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมั่นคง ซึ่งหากประเทศไม่มีกำลังผลิตสำรองที่เหมาะสมเพียงพอก็อาจประสบปัญหาขาดแคลนไฟฟ้า เช่น กรณีไฟฟ้าดับในจีน เวียดนาม หรือสหรัฐอเมริกา เป็นต้น ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
ปริมาณสำรองไม่เกี่ยวข้องกับค่าไฟแพง
ทั้งนี้ การพัฒนาโรงไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าของ กฟผ. หรือภาคเอกชน จะต้องใช้ระยะเวลาการพัฒนาและก่อสร้างประมาณ 5-8 ปี ดังนั้น หากไม่มีการวางแผนที่ดี และไม่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองที่เพียงพอไว้ตั้งแต่แรก ก็อาจทำให้ไม่สามารถพัฒนาโรงไฟฟ้าได้ทันการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากกว่าแผน จนอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานที่จะกระทบชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน รวมทั้งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้
นอกจากนี้ ราคาไฟฟ้าที่สูงขึ้นในปี 2565 นั้น ไม่ได้แปรผันตามปริมาณ reserve margin ดังที่แสดงให้เห็นตามกราฟด้านล่างว่า ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อยลง และทำให้ reserve margin สูงขึ้นนั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อค่าไฟไทย ส่วนในปี 2558 ที่ปริมาณ reserve margin มีเพียง 29% ค่าไฟกลับสูงถึง 3.86 บาท สะท้อนให้เห็นว่า ค่าไฟที่ปรับขึ้นนั้น ไม่ได้สัมพันธ์กับ reserve margin แต่อย่างใด
ยันซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว มีแต่ทำให้ค่าไฟถูกลง
ส่วนประเด็นการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ เช่น สปป.ลาว นั้น เป็นการรับซื้อไฟฟ้าในอนาคตตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คาดว่า Reserve margin ลดลงแล้ว เพราะความต้องการการใช้ไฟฟ้าในระยะเวลานั้นจะสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ปัจจุบัน ค่าไฟของไทยอยู่ที่ 4.70 บาท (ค่าไฟฐาน = 3.7556 บาท) ในขณะที่การรับซื้อไฟฟ้าจากลาวมีราคาค่าไฟเพียง 2.80-2.90 บาท ซึ่งถูกกว่าค่าไฟฐานของประเทศไทย ดังนั้น การซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว จะยิ่งทำให้ค่าไฟเฉลี่ยถูกลง ไม่ได้เป็นไปตามข่าวหรือข้อมูลที่เผยแพร่ผิด ๆ ที่ว่า ค่าไฟฐานของไทยอยู่ที่ 2.57 บาท และการรับซื้อไฟจากลาวนั้นแพงกว่าค่าไฟฐาน ทั้งนี้ ค่าไฟฐานที่ 2.57 บาทนั้น เป็นค่าไฟฐานในเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2558 ไม่ใช่ปัจจุบัน เพราะในปัจจุบันค่าไฟฐานอยู่ที่ 3.7556 บาท
เสียดายอยู่นิด ท่านผู้เฒ่าไม่ได้ลงลึกไปในเรื่องของต้นตอจริงๆ ที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงเกิดจากอะไรกันแน่ โดยเฉพาะในเรื่องของโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าของประเทศที่มันยังไม่ Balance เทไปยังกำลังผลิตไฟประเภทใดประเภทหนึ่งสูงเกินไป และเรื่องของปริมาณก๊าซในประเทศที่หดหายไปในช่วงรอยต่อสัมปทานขุดเจาะในอ่าวไทย ซึ่งเป็นผลพวงมาจากความไม่เอาอ่าวของหน่วยงานภาครัฐเอง เมื่อมาประจวบเหมาะกับปริมาณก๊าซจากแหล่งผลิตจากพม่าที่ลดลง ทำให้ต้องนำเข้า LNG จากต่างประเทศเข้ามาทดแทนมหาศาล ปิดไปจากแผนแม่บทที่วางเอาไว้ จึงทำให้ค่าไฟฟ้าผันแปร FT พุ่งกระฉูดกันอย่างที่เห็น!
ขอบคุณข้อมูล : รายการผู้เฒ่าเล่าเรื่อง