กำลังเป็นประเด็นสุดฮอต เป็น Talk of the Town
กับเรื่องที่ “สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.)” ออกมาเตือนรัฐล่าสุดวันวาน หากปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (FT) ในงวด ม.ค.- เม.ย. 2566 จากอัตราปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 4.72 บาท/หน่วยแล้ว ก็มีแนวโน้มว่า จะทำให้ราคาสินค้า และบริการพาเหรดปรับขึ้นราคากันพรวดพราด 5-12% ตามมา
ไม่เพียงจะทำให้ประชาชนคนไทยที่สำลักพิษเศรษฐกิจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ต้องหืดจับหายใจไม่ทั่วท้อง ยังกระทบขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และแรงดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ที่กำลังย้ายฐานการผลิตท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงอีกด้วย เผลอๆ จะทำเอานักลงทุนขวัญหนีดีฝ่อจ่อจะย้ายฐานการผลิตไปเพื่อนบ้านตามมาด้วยอีก!
แม้ว่าก่อนหน้านี้ “คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)” ที่มีนายกฯ เป็นประธาน จะสั่งให้กระทรวงพลังงาน และ “คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)” ตรึงค่า FT ในงวด ม.ค.-เม.ย. ไว้ในอัตราเดิมที่ 4.72 บาททต่อหน่วย เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน พร้อมให้พลังงานจัดทำแผนตรึงค่าไฟฟ้าชุดใหญ่ แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ประชาชนคนไทยหายใจได้ทั่วท้อง!
ล่าสุด คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อ 14 ธ.ค. 65 ได้เห็นชอบการปรับปรุงแนวทางการปรับค่า FT ใหม่ ที่จะเรียกเก็บในงวดเดือน ม.ค.- เม.ย. 66 โดยยังคงตรึงอัตราค่า FT สำหรับผู้ใช้ไฟประเภทบ้านที่อยู่อาศัย ยังคงอัตราเดิมที่ 93.43 สตางค์/หน่วย หรือเฉลี่ยยังคงตรึงค่า FT อยู่ที่ 4.72 บาท/หน่วย แต่สำหรับผู้ใช้ไฟประเภทอื่น ๆ จะปรับขึ้นเป็น 190.44 สตางค์/หน่วย หรือเฉลี่ยปรับค่า FT ขึ้น 5.69 บาท/หน่วย
ทำเอาภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมและผู้ใช้ไฟโดยทั่วไป ที่ไม่อยู่ในข่ายบ้านเรือนที่พักอาศัยต่างสำลักค่าไฟกันถ้วนหน้า และจ่อจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังทุกภาคส่วนตามมา และทำให้ผู้คนในสังคมพากันตั้งข้อกังขาอย่างหนักหน่วง ต้นตอที่ทำให้ค่าไฟฟ้าพุ่งกระฉูดนั้น มาจากสาเหตุใดกันแน่
ลุ้นระทึกศาล รธน. ชี้ขาด ปมผลิตไฟฟ้าเอกชน
ผลพวงการปรับขึ้นค่า FT ที่ทะยานมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการวิพากษ์กันในวงกว้างเพื่อสาวหาต้นตอที่ทำให้ค่าไฟแพงหูฉี่ ที่นัยว่า ส่วนหนึ่งมาจากการดำเนินนโยบายด้านพลังงานที่ผิดพลาดของรัฐบ้าง จัดทำแผนยุทธศาสตร์พลังงานเอื้อทุนใหญ่กินรวบ ผูกขาดการผลิตไฟฟ้าบ้าง ปล่อยให้มีการผลิตไฟฟ้าเกินความต้องการ จนถึงขั้นที่มีสำรองไฟเกิน 40-50% ไปแล้วในขณะนี้ทั้งที่ปกติ ควรมีไม่เกิน 15%
ถึงขั้นที่เครือข่ายพลังงานมีการนำเรื่องร้องไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้เข้ามาตรวจสอบการดำเนินนโยบายพลังงาน และกำหนดยุทธศาสตร์พลังงานปี 2559-63 รวมถึงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2561-80 จนทำให้สัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าของรัฐ โดย กฟผ.ลดต่ำกว่าร้อยละ 51 ว่า เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 56 วรรค 2 หรือไม่? หลังปรากฎข้อเท็จจริงว่า ปัจจุบันรัฐได้ส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนในการผลิตไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น ส่งผลให้กำลังการผลิตของรัฐ ซึ่งดำเนินการโดย “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)” มีเพียง 37% และมีแนวโน้มลดลงไปเรื่อยๆ ขณะที่สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ณ วันที่ 31 พ.ค.64 พบว่า คิดเป็น 34.79% ของกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศเท่านั้นถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 56
ก่อนหน้านั้น เมื่อ 1 ก.ค. 2562 ผู้ตรวจการแผ่นดินได้เคยมีข้อวินิจฉัยและข้อเสนอแนะต่อกระทรวงพลังงานให้ดำเนินการปรับแผนพีดีพี เพื่อให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 51% ภายในกำหนด 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2562 เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 56 วรรคสอง
แต่กระทรวงพลังงานได้มีหนังสือโต้แย้งกลับไปยังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยยืนยันว่า สัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าของภาครัฐในปัจจุบันนั้น ยังคงสูงเกิน 55% และกระทรวงพลังงานยืนยันได้มีการจัดทำแผนลดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจ่ากภาคเอกชนอย่างค่อยเป็นค่อยไปอยู่แล้ว โดยอ้างอิงคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีต่อเรื่องนี้
ก่อนที่เครือข่ายภาคประชาชนจะมีการนำกรณีดังกล่าว ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดว่า การดำเนินนโยบายพลังงานและแผนยุทธศาสตร์พลังงานข้างต้น ขัดแย้งต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 56 วรรค 2 ประกอบมาตรา 3 วรรค 2 หรือไม่ ซึ่งในช่วงขวบปีที่ผ่านมานั้น ศาลได้มีการเรียกข้อมูลจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกระทรวงพลังงานเข้าชี้แจงจนจบสิ้นไปแล้ว เหลือแค่การลุ้นระทึกคำพิพากษาที่คาดว่า น่าจะออกมาในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า
วันวานสภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ และสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มธ. ได้จัดเสวนา “รัฐผิดพลาด เอื้อทุนใหญ่ ทำค่าไฟแพง ขัดรัฐธรรมนูญ?” ซึ่งข้อสรุปที่ได้นั้นระบุว่า การบริหารจัดการกิจการไฟฟ้าของรัฐบาลหลายยุคที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีความผิดพลาด เอื้อผลประโยชน์ให้กลุ่มทุนพลังงาน ปล่อยให้เอกชนมีสัดส่วนการผลิตมากขึ้นตามลำดับ ด้วยความคาดหวังว่า ทั้งหมดจะนำไปสู่การให้กฟผ.ได้ผงาดกลับเข้ามาเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าหลักของประเทศดังเดิมนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ปมปัญหาเรื่องของค่าไฟแพงที่ยังคงเป็นปัญหาโลกแตกอยู่ในปัจจุบัน ยังคงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันไม่สิ้นสุดว่า เกิดจากการบริหารนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐจริงๆ แผนพีดีพีที่เปิดให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า ทั้ง ไอพีพี (IPP) เอสพีพี (SPP) หรือการรับซื้อไฟฟ้าทางเลือกทั้งหลายแหล่ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ค่าไฟแพงจริงๆ หรือมาจากการผูกขาดระบบสายส่งของ 3 การไฟฟ้าที่ทำหน้าที่เป็น Tiger sleep Eat กันแน่
เพราะบทเรียนในอดีตในกิจการสื่อสารโทรคมนาคมที่เคยถูกผูกขาดอยู่ในเงื้อมมือของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอย่างองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย และการสื่อสารแห่งประเทสไทยนั้น เป็นข้อพิสูจน์เป็นอย่างดีกว่า ภายหลังรัฐเปิดเสรีโทรคมนาคม เปิดทางให้ภาคเอกชนเข้ามาแข่งขัน อัตราค่าบริการโทรศัพท์ และโทรคมนาคมถูกลงชนิด “หน้ามือเป็นหลังมือ” อย่างเห็นได้ชัด
จนก่อให้เกิดคำถาม หากรัฐบาลและกระทรวงพลังงานหวนกลับไปสังคายนายุทธศาสตร์พลังงาน และปรับแผนพีดีพีใหม่ โดยเปิดทางให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ยังคงเป็นหน่วยงานหลักของการผลิตไฟฟ้าควบคู่ไปกับการผูกขาดระบบสายส่งด้วยข้ออ้างเรื่องของความมั่นคงนั้น จะทำให้ค่าไฟฟ้าของประเทศถูกลงจริงหรือไม่ หรือจะยิ่งแพงหูฉี่เป็นทวีคูณ!
เปิด 3 ปัจจัยดันค่าไฟแพงก้าวกระโดด!
หากทุกฝ่ายจะย้อนไปพิจารณาข้อกล่าวหาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาโดยตลอดในเรื่องที่รัฐบริหารนโยบายพลังงานผิดพลาด ปล่อยให้มีการสร้างไฟฟ้าฟ้ามากเกินความต้องการจนทำให้ประเทศไทยมีสำรองไฟฟ้า หรือ Reserve Margin สูงกว่า 50-55% ประชาชนต้องถูกโขกสับ “ค่าไฟฟ้าทิพย์” ที่ผลิตแล้วไม่ได้ใช้สูงเกินจริง!
ที่มาของสำรองไฟฟ้าที่ถูกจับเป็น ”แพะบูชายัญ” นั้น ว่ากันตามตรงมาจากคาดการณ์ที่ว่า ประเทศจะใช้ไฟฟ้ากี่เมกะวัตต์ แล้วจะต้องสำรองไฟฟ้าในระบบกันกี่เมกะวัตต์ ซึ่งบางสำนักได้พูดถึงตัวเลขการสำรองไฟฟ้าที่เหมาะสมควรมากกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak Demand) ที่ 15% เท่านั้น ไม่ใช่ 40-50% อย่างที่เป็นอยู่ปัจจุบัน
ในข้อเท็จจริง ตัวเลข 15% ที่ว่า เป็นการประมาณการตั้งแต่ปี 2547 (ปี 2004) หรือเกือบ 20 ปีมาแล้ว ขณะที่ในยุคที่สถานการณ์โลกมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่าง “ก้าวกระโดด” การใช้ดิจิทัล แพลตฟอร์ม, การพัฒนาระบบขนส่งล้วนมีความผันผวนค่อนข้างสูง ขณะที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกที่บรรจุอยู่ในแผนพีดีพีเองที่มีจะมีสัดส่วนค่อนข้างสูงกว่า 20%ตามนโยบายรักษ์โลกอะไรก็ตามแต่ แต่ก็ล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงทั้งสิ้น ดังนั้น จะเป็นไปได้อย่างไรที่ไทยจะยังคงใช้ตัวเลข 15% เป็นฐานการสำรองไฟฟ้าที่เหมาะสม เพราะขนาดเมื่อปี 2561 ที่ค่าไฟ FT อยู่ที่ 3.60 บาทต่อหน่วย ตัวเลข Reserve margin ยังสูงถึง 39% สะท้อนให้เห็นว่า ค่าไฟไม่ได้สัมพันธ์กับ Reserve Margin แต่อย่างใด
หากเปรียบเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว อย่างเยอรมัน ยังมีตัวเลขการสำรองไฟฟ้าถึง 111% หรือจีนที่มีระดับการสำรองไฟฟ้าสูงถึง 91% ด้วยซ้ำไป ดังนั้นการที่ไทยจะมี Reserve Margin มากกว่า 15% ไปจนถึง 50-55% ก็เป็นเรื่องของการวางแผนร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันความเสี่ยงไม่ให้เกิดการ Black Out ส่วนจะเอื้อเอกชนหรือไม่คงไม่สามารถระบุได้ เพราะ กฟผ.เอง ก็เป็นหนึ่งในผู้เล่นที่ยังคงเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ด้วยต้นทุน (Cost) ที่สูงลิ่วกว่าเอกชน
“ไม่ต้องดูอื่นไกล เอาแค่เรื่องของการท่องเที่ยววันนี้ที่จู่ๆ ก็พลิกฟื้นขึ้นมาแบบก้าวกระโดด ชนิดที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ทันได้ตั้งหลัก แล้วเกิดอะไรขึ้นกับสายการบินและตั่วเครื่องบิน ตลอดจนโรงแรมในแหล่งท่องเที่ยวหลักของประเทศบ้าง ทุกฝ่ายต่างก็เห็นกันอยู่ว่า ราคาตั๋วเครื่องบินไปเกาะสมุยหรือภูเก็ตเวลานี้แพงกว่าตั๋วบินไป-กลับฮ่องกง สิงคโปร์ หรือญี่ปุ่นเสียอีก สายการบินต่างๆ เพิ่มเที่ยวบินไม่ทัน ทำให้เกิดการแออัดยัดทะนาน จนเกิดปัญหาผู้โดยสารถูกลอยแพกันข้ามวันข้ามคืนมาแล้ว”
ส่วนข้อเรียกร้องที่จะให้ กฟผ. เป็นกลไกหลักของการผลิตไฟฟ้า เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญอย่างที่เครือข่ายพลังงาน กำลังออกโรงฟ้อนเงี้ยวอยู่เวลานี้ จะช่วยให้ประชาชนคนไทยได้ใช้ไฟฟ้าถูกลงจริงหรือไม่ เรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานจะตีแผ่ให้เห็นกันจะจะในครั้งต่อไป
(โปรดติดตามตอนที่ 2)