เรื่องของปัจจัยที่ทำให้ค่าไฟฟ้าพุ่งกระฉูด ที่ทำเอาประชาชนคนใช้ไฟหายใจไม่ทั่วท้อง หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่มีมติปรับอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(FT) ขึ้นไป 5.69 บาทต่อหน่วย แต่ยังคงตรึงค่า FT สำหรับผู้ใช้ไฟประเภทครัวเรือนเอาไว้
ผลพวงของการปรับขึ้นค่า FT ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ได้ทำให้มีการโยงใยไปถึงความผิดพลาดในการดำเนินนโยบายพลังงานของภาครัฐ โดยเฉพาะการจัดทำแผนยุทธศาสตร์พลังงานในระยะ 20 ปี ที่เปิดทางให้กลุ่มทุนเอกชนรุกคืบเข้ามา “กินรวบ” การผลิตไฟฟ้า จนทำให้ “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)” มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าอยู่เพียง 34% ของกำลังการผลิตรวมของประเทศเท่านั้น
นอกจากนี้ ผลพวงจากการที่รัฐดำเนินนโยบายพลังงานผิดพลาดยังทำให้มีการจัดซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนทั้ง IPP , SPP และไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการ จนนัยว่า ทำให้ประเทศมีสำรองไฟฟ้า หรือ Margin Reserve ทะลักไปกว่า 50-55% ไปแล้วในปัจจุบัน เท่ากับว่าประชาชนผู้ใช้ไฟต้องจ่าย “ค่าไฟทิพย์” ในสัดส่วนที่สูงลิ่วจากสำรองไฟส่วนเกินเหล่านี้
ก็คงด้วยเหตุนี้ จึงมีความพยายามจากเครือข่ายพลังงานที่จะกดดันให้รัฐสังคายนายุทธศาสตร์พลังงานของประเทศ พร้อมทบทวนนโยบายการผลิตไฟฟ้า โดยเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.)ให้ได้เกินร้อยละ 51 เพื่อสร้างสมดุลการผลิตและจัดหาไฟฟ้าและเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน บรรเทาผลกระทบด้านราคาพลังงาน รวมทั้งเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 56 ของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2560 ด้วย
หนังม้วนเก่า ปัจจัยดันค่า FT พุ่ง
แม้เลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะออกมาชี้แจงปัจจัยที่ทำให้ต้องปรับค่า FT ระลอกล่าสุดว่า เป็นผลมาจากต้นทุนราคาเชื้อเพลิงที่ต้องนำเข้ามาทดแทนการลดลงของก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และก๊าซธรรมชาติในสหภาพเมียนมาที่ผลิตลดลง และเป็นไปตามประมาณการที่คาดการณ์กันไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว และยังมีภาระการทยอยจ่ายคืนหนี้ Ft ของการไฟฝ่ายฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) ด้วยอีก
อีกทั้งสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลย ก็คือ ต้นทุนราคาพลังงานที่มีความผันผวนอย่างรุนแรงนั้น ส่วนหนึ่งยังมาจากผลพวงสถานการณ์ สงครามระหว่าง “รัสเซีย-ยูเครน” ทำให้รัสเซียลดการจ่ายก๊าซทางท่อไปยังยุโรป ทำให้ความต้องการ LNG เพิ่มขึ้นอย่างมากในยุโรป และส่งผลกระทบทางอ้อมต่อราคา LNG ในเอเชีย ส่งผลให้ Spot LNG ในตลาดโลกมีราคาแพงและผันผวนอย่างรุนแรง
ประกอบกับผู้ผลิต LNG ยังมีการชะลอการลงทุน เนื่องจากความต้องการใช้พลังงาน ในช่วงโควิดมีน้อย แต่หลังจากที่หลายประเทศเริ่มฟื้นตัวทำให้ความต้องการใช้ LNG มีมากกว่ากำลังการผลิตในตลาดโลก ส่งผลกระทบต่อราคาและการเจรจาสัญญาซื้อขาย
เมื่อมาประจวบกับปริมาณก๊าซในประเทศลดลงในช่วงรอยต่อการ “เปลี่ยนผ่าน” สัมปทานปิโตรเลียมในอ่าวไทย ที่ขาดความต่อเนื่อง ไม่เป็นไปตาม Time Line ที่ควรจะเป็น ขณะที่ปริมาณการนำเข้าก๊าซจากแหล่งก๊าซในพม่าก็ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ปริมาณการผลิตลดลงอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ต้องนำเข้า Spot LNG เข้ามาเสริม หรือต้องเดินเครื่องโรงไฟฟ้าด้วยน้ำมันเพื่อทดแทนปริมาณก๊าซที่ขาดแคลนไป จึงทำให้ค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ ผลพวงจากภาระการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในอดีต (โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม) เพื่อส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน โดยให้เงินสนับสนุนส่วนเพิ่ม (Adder) แก่ผู้ผลิตในอัตราสูงถึง 6-8 บาท/หน่วยนั้น ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายสูงตามไปด้วย โดยเมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐาน แล้วจะสูงถึง 10-12 บาท/หน่วย หรือมีสัดส่วนกำไรที่สูงถึง 20-30% ขณะที่โรงไฟฟ้าประเภทอื่นๆ มีผลตอบแทนการลงทุน (ROE) เฉลี่ยแค่ 7-12% เท่านั้น ทำให้รัฐต้องจ่ายเงินให้แก่โรงไฟฟ้าเหล่านี้ ปีละ 4-50,000 ล้านบาท
ยังนับว่าโชคดี ที่นโยบายการบริหารพลังงานของประเทศที่แสนจะ “บิดเบี้ยว” ในอดีตบางนโยบายนั้นไปไม่ถึงฝัน อย่างกรณีความพยายามปลุกปั้นโครงการจัดซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าสตรึงมนัม เกาะกง กว่า 2,400 เมกะวัตต์ ถึง 50 ปี ที่อ้างเพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ (อีอีซี) ในราคาแพงลิบลิ่วถึงหน่วยละ 10 บาทเศษ แถมยังจะให้ กฟผ. สร้างสายส่งอีกร่วมแสนล้านด้วยอีก แต่ยังนับว่าโชคดีที่โครงการ “อัปยศ” ที่ว่านี้ไปไม่ถึงฝันเสียก่อน
หาไม่เช่นนั้น ประชาชนคนไทย และภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี คงได้สำลักค่าไฟฟ้ากันสาหัสสากรรจ์ไปชั่วลูกชั่วหลานยิ่งกว่านี้แน่
หลุมพรางปลุกผีโรงไฟฟ้าทองคำ กฟผ.
กับกระแสกดดันจากนักวิชาการด้านพลังงาน และเครือข่ายพลังงานที่กำลังกระพือเรื่องที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” รับคำฟ้องเครือข่ายนักวิชาการที่ยื่นฟ้องกระทรวงพลังงานต่อการกำหนดยุทธศาสตร์พลังงาน ปี 2559-63 รวมถึงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2561-80 จนทำให้สัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าของรัฐโดย กฟผ. ลดต่ำกว่าร้อยละ 51 ว่า เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 56 วรรค 2 หรือไม่
เป็นความพยายามที่จะปลุกผีบทบาทของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (EGAT) ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนการจัดหาและรับซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนทีดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ทั้งที่จะว่าไป กฟผ.เองก็ยังคงมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าของตนเองทั้งในรูปแบบก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมที่หมดอายุ และก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ผ่านบริษัทลูกและบริษัทร่วมทุน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ EGAT ไม่ได้ให้ความกระจ่างแก่สังคมเลย ก็คือ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าของ กฟผ.นั้น ได้คำนึงถึงต้นทุน ประสิทธิภาพการผลิต โดยยึดถือประโยชน์ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นที่ตั้งหรือไม่ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ที่ผ่านมาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าของ EGAT มีการนำเอาค่าใช้จ่ายแฝงต่างๆ เข้าไปแฝงอยู่ในต้นทุนการผลิตไฟฟ้า (Cost Plus) ก่อนส่งผ่านไปให้ประชาชนผู้ใช้ไฟ รวมไปถึงภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต้องแบกรับ ทำให้ผู้ใช้ไฟได้แต่ “ขมขื่น” ต้องถูก ”มัดมือชก” โขกค่าไฟที่แฝงไว้ด้วยต้นทุนสวัสดิการต่าง ๆ ของ กฟผ.จนสำลัก!
ตัวอย่างกรณีก่อสร้างโรงไฟฟ้าน้ำพอง จ.ขอนแก่น ที่ กฟผ.ก่อสร้างขึ้นเพื่อรองรับการขุดพบแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ภาครัฐอนุมัติสัมปทานเมื่อปี 2524 โดยขออนุมัติก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 325 เมกกะวัตต์จำนวน 2 โรง ด้วยงบประมาณ 15,000 บ้านบาท เริ่มจ่ายไฟเข้าระบบเมื่อปี 2533 และ 2536 ตามลำดับ แต่โรงไฟฟ้าน้ำพองเดินเครื่องมาได้เพียง 10-12 ปีเท่านั้น ก็เกิดปัญหาแหล่งก๊าซน้ำพองที่ป้อนให้โรงไฟฟ้าหมดลง (ปกติโรงไฟฟ้ามีอายุ 25 ปี) จึงต้องเปลี่ยนมาเดินเครื่องด้วยน้ำมันอยู่ราว 2-3 ปี กระทั่งมีการสำรวจพบแหล่งก๊าซแห่งใหม่ที่ “สินภูฮ่อม” อุดรธานี จึงเริ่มกลับมาเดินเครื่องได้ แต่ก็เดินเครื่องได้ไม่เต็มที่
อย่างไรก็ตาม หลังโรงไฟฟ้าน้ำพองหมดอายุลงในปี 64 กฟผ. ก็ตั้งแท่นก่อสร้างโรงไฟฟ้าน้ำพองใหม่ขนาด 650เมกกะวัตต์ เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม ใช้เงินลงทุนราว 16,000 ล้านบาท คาดจะเริ่มจ่ายไฟเข้าระบบในปี 2568 แต่เมื่อดูจาก Timeline และ Supply ก๊าซจากแหล่งสินภูฮ่อม จะเห็นได้ว่า โรงไฟฟ้าน้ำพองใหม่นี้จะมีก๊าซจากแหล่งสินภูฮ่อมใช้อยู่แค่ 6 ปีเท่านั้น ที่เหลืออีก 19 ปีจนหมดอายุขัยโรงไฟฟ้าคงเสี่ยงไปตายเอาดาบหน้าเช่นเคย
ส่งผลให้รัฐบาลอาจต้องลงทุนอีกกว่า 25,000 ล้าน เดินท่อก๊าซจากภาคกลางขึ้นไปถึงน้ำพองระยะทางกว่า 300 กิโลเมตร เพื่อให้โรงไฟฟ้าน้ำพองสามารถเดินเครื่องต่อไปได้ เท่ากับว่า กฟผ. อาจต้องใช้เงินลงทุนเกือบ 41,000 ล้านบาท ในการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าน้ำพองแห่งนี้
หรืออย่างโรงไฟฟ้าพุนพิน (โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี) ขนาด 1400 เมกะวัตต์ วงเงินลงทุนกว่า 34,000 ล้านบาท ที่มีกำหนดจ่ายไฟเข้าระบบ (COD) ในปี 2570 และ 2572 โดยใช้ก๊าซเดินเครื่องสูงสุดไม่เกินปีละ 1.4 ล้านตันนั้น แต่เนื่องจากที่ อ.พุนพิน ไม่มีแหล่งก๊าซ จำเป็นต้องสร้าง LNG Terminal แห่งใหม่ขึ้นมา กฟผ. จึงร่วมกับ ปตท. วางแผนจัดสร้าง LNG Terminal ขนาด 3 ล้านตันต่อปีแถว อ.ขนอม ด้วยเงินลงทุน 35,000 ล้านบาท เพื่อแยกก๊าซป้อนให้แก่โรงไฟฟ้าขนอม แลเดินท่อส่งก๊าซอีก 100 กม. ไปยังโรงไฟฟ้าพุนพิน ใช้เงินลงทุนอีกราว 7,000 ล้านบาท
แน่นอนว่า ต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ จะถูกผลักเข้ามาเป็น Cost Plus ที่ประชาชนผู้ใช้ไฟจะต้องแบกรับ นี่ยังไม่รวมถึงต้นทุนแฝง cost plus อย่างค่าสร้างสโมสร สนามกอล์ฟ ค่าบุคลากร ที่ว่ากันว่า EGAT มีพนักงานที่ทำงานกันจริงๆ ไม่ถึง 30% ด้วยซ้ำ ซึ่งต้นทุนแฝงทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ จะถูกผลักเข้ามาอยู่ในต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ส่งผ่านไปให้ภาคธุรกิจและประชาชนต้องแบกรับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ยังไม่นับรวมไปถึงการบริหารระบบสายส่ง ที่ EGAT และ 2 การไฟฟ้าผูกขาดการจ่ายไฟไปยังครัวเรือนประชาชนและชุมชนต่างๆ โดยที่ไม่ว่าจะรับซื้อไฟฟ้าจากแหล่งใดเข้ามา เมื่อเข้ามาสู่ระบบสายส่ง กฟผ. แล้ว 2 การไฟฟ้าแล้ว ต้นทุนทั้งหลายยังจะถูกบวกกำรี้กำไรเข้าไปอีกระลอก จนกลายเป็นกำไรซับซ้อนที่ถูกส่งผ่านไปให้ประชาชนและภาคธุรกิจอุตสาหกรรมต้องแบกรับ
ถอดบทเรียนเปิดเสรีไฟฟ้าออสซี่
เรื่องของการปฏิรูปพลังงาน สลายการผูกขาดของรัฐวิสาหกิจอย่าง กฟผ. และ 2 การไฟฟ้า ที่ผูกขาดการผลิตและจัดหาไฟฟ้าเป็น Tiger Sleep Eat มาตลอดศก ดูจะเป็นประเด็นหาเสียงของนักการเมืองและพรรคการเมืองมาทุกยุคทุกสมัย แต่สุดท้ายกี่ปีกี่ชาติก็ยังไม่มีอะไรในกอไผ่ นักการเมืองและพรรคการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐบาล กำกับดูแลกระทรวงพลังงานจะกี่ยุค กี่สมัยก็ยังไม่มีใครดำเนินการปฏิรูปพลังงานอะไรที่เป็น “รูปธรรม”
คำถามที่สังคมเพรียกหาและโหยหามาโดยตลอดก็คือ ทำอย่างไรประชาชนจะ “เข้าถึงไฟฟ้าได้อย่างเสรี” สามารถเลือกผู้ให้บริการไฟฟ้า หรือเป็นลูกค้าใครก็ได้ เฉกเช่นบริการมือถือหรืออินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน
ตัวอย่างในต่างประเทศไม่ไกลจากบ้านเรา ก็คือ ประเทศออสเตรเลีย ที่มีคนไทยหอบหิ้วครอบครัวไปทำงาน ไปศึกษาต่อ หรือตั้งถิ่นฐานรกรากกันมากโขนั้น แม้ระบบการผลิต-จัดหาและพัฒนาไฟฟ้าของออสเตรเลียจะให้ความสำคัญกับ “ไฟฟ้าทางเลือก” ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก โดยที่ประชาชนยอมจ่ายค่าไฟฟ้าทางเลือก (รวมทั้งถ่านหิน และพลังงานใต้พิภพ) ในอัตราที่สูงขึ้น
แต่ในส่วนระบบจัดจำหน่ายและการจ่ายไฟเข้าไปยังชุมชน ในเมืองนั้น ผู้ประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีอยู่หลากหลาย ไม่ต่างจากเมืองไทยนั้น มีสิทธิ์ที่จะขายไฟให้บ้านเรือน ชุมชนโดยตรง ชนิดที่ต้องงัดกลยุทธ์ แคมเปญห้ำหั่นกันไม่ต่างจากผู้ให้บริการมือถือ หรืออินเทอร์เน็ตในบ้านเรา
ผู้ประกอบกิจการไฟฟ้าแต่ละค่ายต่างงัดแคมเปญ-โปรโมชั่นห้ำหั่นราคากันอย่างถึงพริกถึงขิงเพื่อช่วงชิงและดึงดูดลูกค้าเข้ามาใช้บริการ ขณะที่ประชาชนชาวออสซี่ มีสิทธิ์จะเลือกเอาว่า จะใช้บริการไฟฟ้าจากค่ายใด หากไม่พอใจจะยกเลิกเมื่อไหร่ก็ทำได้ การแข่งขันที่เกิดขึ้นนั้น ได้ทำให้ประชาชนเองต่างเรียนรู้ และมีวินัยในการใช้ไฟ รวมทั้งต้องวางแผนการใช้ไฟฟ้าในช่วงที่มีคนใช้น้อยเพื่อจะได้ค่าไฟถูกสุด การรณรงค์ประหยัดและลดการใช้ไฟฟ้าในแต่ละรอบเดือนของผู้ให้บริการนั้น ยังมีส่วนลดที่ “ลดแล้วลดอีก” ให้ด้วย ผู้ช้บริการรายใดจ่ายค่าไฟล่วงหน้า จ่ายค่าไฟตรงตามเวลา ยังมีส่วนลดอะไรให้อีกจิปาถะ
ผิดกับประเทศไทย ที่นักการเมืองและพรรคการเมืองต่างๆ มักชูและประกาศนโยบายปฏิรูปพลังงาน ปฏิรูปไฟฟ้า ทลายการผูกขาดกิจการไฟฟ้าที่เปรียบเสมือน “เสือนอนกิน Tiger Sleep Eat” มานับทศวรรษ หรือหลายทศวรรษ และสุดท้ายทุกอย่างก็ยังคงย่ำอยู่กับที่ …
(โปรดติดตามตอนที่ 3)