นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ จีนมีการนำเข้าผลไม้ในอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยด้านเศรษฐกิจของจีนที่เติบโตสูงทำให้รายได้ต่อหัวของประชากรและความเป็นเมืองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้บริโภคจีนยินดีที่จะจ่ายเพิ่มขึ้นเพื่ออาหารที่มีคุณภาพสูงและรสชาติดี ทำให้ความต้องการบริโภคผลไม้เพิ่มขึ้นมากเพื่อรองรับความต้องการของประชากรกว่า 1,400 ล้านคน
ไทยเป็นแหล่งนำเข้าผลไม้อันดับหนึ่งของจีน ในปี 2565 ไทยมีส่วนแบ่งในตลาดผลไม้ในจีน ร้อยละ 41.3 รองลงมาเป็น ชิลี ที่มีสัดส่วนร้อยละ 24.4 ทั้งสองประเทศรวมกันมีส่วนแบ่งในตลาดผลไม้นำเข้าของจีนถึงร้อยละ 65.7 จีนมีการนำเข้าผลไม้ในอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามรายได้ประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น และผลผลิตในประเทศที่ไม่เพียงพอต่อการบริโภค โดยเฉพาะผลไม้เขตร้อน เช่น ทุเรียน กล้วย มังคุด ลำไย และมะพร้าว เป็นต้น
ผลไม้ที่สำนักงานศุลกากรจีน (GACC) อนุญาตให้นำเข้าจากไทย มี 22 ชนิด ได้แก่ มะขาม น้อยหน่า มะละกอ มะเฟือง ฝรั่ง เงาะ ลองกอง ละมุด เสาวรส ส้มเปลือกล่อน ส้ม ส้มโอ สับปะรด กล้วย มะพร้าว ขนุน ลำไย ทุเรียน มะม่วง ลิ้นจี่ มังคุด และ ชมพู่ ซึ่งผลไม้สดที่ไทยครองตลาดในจีน ได้แก่ ทุเรียน (ส่วนแบ่งการตลาด ร้อยละ 95.3) ลำไย (ร้อยละ 99.3) มังคุด (ร้อยละ 86.8) มะพร้าว (ร้อยละ 69.2) น้อยหน่า (ร้อยละ 100) ชมพู่ (ร้อยละ 100) และ เงาะ (ร้อยละ 82.4) เนื่องจากไทยสามารถผลิตได้ในปริมาณมากและมีคุณภาพดีกว่าเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
สนค. ได้วิเคราะห์ความท้าทายและโอกาสของการส่งออกผลไม้ไปจีน ดังนี้
ความท้าทาย ตลาดผลไม้ในจีนที่เติบโตสูงทำให้มีคู่แข่งรายใหม่ เข้ามาแข่งขันในตลาดมากขึ้น โดยคู่แข่งในตลาดผลไม้ของจีนที่สำคัญ ได้แก่ เวียดนาม (ส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 9.3) ฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 4.9) นิวซีแลนด์ (ร้อยละ 4.6) เปรู (ร้อยละ 4.2) แอฟริกาใต้ (ร้อยละ 1.9) กัมพูชา (ร้อยละ 1.8) ออสเตรเลีย (ร้อยละ 1.6) และอินโดนีเซีย (ร้อยละ 1.4) นอกจากนี้ยังมีหลายประเทศที่มีอัตราการเติบโตเพิ่มสูงมากแต่มูลค่าในตลาดยังน้อย สะท้อนในเห็นถึงความต้องการที่เริ่มมีในตลาด อาทิ เมียนมา (ขยายตัวร้อยละ 583.8) สเปน (ขยายตัวร้อยละ 105.6) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ขยายตัวร้อยละ 169.3) บราซิล (ขยายตัวร้อยละ 415.8) คอสตาริก้า (ขยายตัวร้อยละ 470.9) เป็นต้น จึงเป็นความท้าทายของไทยในการรักษาตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกผลไม้ที่สำคัญ รวมทั้งต้องวางแผนที่จะกระจายตลาด เพื่อลดผลกระทบจากการแข่งขันที่สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือผู้ผลิตผลไม้ของไทย
โอกาสการส่งออก หากมองในแง่การแสวงหาการส่งออกผลไม้ใหม่ ๆ ในตลาดจีน พบว่ายังมีความต้องการผลไม้ที่จีนนำเข้าหลายรายการที่ไทยยังเข้าไปในตลาดนั้นไม่ได้ อาทิ เชอรี่ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ องุ่น แก้วมังกร กีวี แอปเปิล อะโวคาโด พีช สตอเบอร์รี่ พรุน และสาลี่ เป็นต้น โดยผลไม้เหล่านี้มีสัดส่วนร้อยละ 40.7 ของตลาดผลไม้ในจีน จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่เป็นผลไม้เมืองหนาวที่ไทยไม่สามารถเพาะปลูกให้เกิดความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบได้ ซึ่งหากไทยมีการพัฒนาศักยภาพการผลิตในบางสินค้า และผลักดันให้เป็นสินค้าส่งออกเชิงพาณิชย์ได้ ก็จะเป็นโอกาสทางการค้าของไทยกับจีนได้ในอนาคต อีกทั้งการขนส่งทางบกที่จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคตในเส้นทางที่มีการขนส่งทางรางเป็นอีกทางเลือกในการขนส่งผลไม้ โดยใช้ด่านรถไฟผิงเสียง ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง หรือด่านรถไฟโม่ฮาน ในมณฑลยูนนาน ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสในการขายสินค้าของไทยไปยังจีนเพิ่มขึ้นในอนาคต
สนค. มองว่า แม้ว่าไทยจะมีจุดเด่นในด้านคุณภาพและรสชาติของผลไม้ แต่การแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นในตลาดนำเข้าผลไม้ของจีน ทำให้ฝ่ายนโยบายและผู้ประกอบการไทยจะต้องปรับตัวเพื่อที่จะรักษาส่วนแบ่งในตลาดจีนและตลาดโลกไว้ การติดตามสถานการณ์การผลิตและส่งออกผลไม้ของประเทศคู่แข่ง รวมทั้งการรักษามาตรฐานด้านสุขอนามัยความปลอดภัยและคุณภาพของผลไม้เป็นสิ่งที่ไทยต้องทำต่อเนื่องและยกระดับให้ดีขึ้นกว่าประเทศคู่แข่งอื่น ๆ
ในขณะเดียวกันควรผลักดันนโยบายการกระจายตลาดลดความเสี่ยงในการพึ่งพาตลาดเดียว โดยกระจายตลาดส่งออกผลไม้ไปยังตลาดใหม่ ๆ ที่มีกำลังซื้อเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด โดยเฉพาะตลาดที่มีการนำเข้าผลไม้จากโลกในสัดส่วนที่สูง และไทยยังมีส่วนแบ่งในตลาดนั้นไม่มาก อาทิ สหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร แคนาดา ญี่ปุ่น ฮ่องกง เบลเยี่ยม อิตาลี โปแลนด์ สเปน และเกาหลีใต้
นอกจากนี้ ควรขยายตลาดลงสู่ระดับมณฑลของจีนให้มากขึ้น ตามการพัฒนาความเป็นเมืองในมณฑลต่าง ๆ ของจีนที่ขยายตัวขึ้น ส่งผลให้การพัฒนาอุตสาหกรรมและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงคุณภาพชีวิตของชาวชนบทในจีนดีขึ้น โดยเฉพาะในมณฑลที่มีการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้ทันสมัย จะช่วยหนุนให้การส่งออกผลไม้เข้าสู่ภายในตัวเมืองชั้นในของจีนมากขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกผลไม้ไปจีนเพิ่มขึ้นในระดับมณฑล โดยเฉพาะประชากรในภาคตะวันตกและภาคกลางของจีนที่ยังมีพัฒนาการความเป็นเมืองน้อยกว่าภาคตะวันออกและใต้