
"พีระพันธุ์" งานงอกอีก คู่ปรับเก่า "สนธิญา" แฉอีก ปมลงสมัคร สส. ทั้งที่ยังนั่งเลขาธิการนายกฯ "ลุงตู่" ก่อนร่อนจดหมายลาออกจาก สส. ให้มีผลตั้งแต่วันเลือกตั้ง 14 พ.ค. 66 รุดยื่น กกต.ไต่สวนควบคู่ปมถือหุ้นขณะเป็นรัฐมนตรี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายสนธิญา สวัสดี นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้เข้ายื่นหนังสือต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้ตรวจสอบว่านายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ และทำผิด พรป. สส. ปี 2561 หรือไม่
ทั้งนี้จากการตรวจสอบพบว่า นอกจากนายพีระพันธุ์ กระทำการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญปมที่ยังคงถือครองหุ้นและเป็นกรรมการผู้มีอำนาจในบริษัท ขณะดำรงตำแหน่งรองนายกฯ และรัฐมนตรีพลังงานแล้ว ยังตรวจสอบพบด้วยว่า ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 นายพีระพันธุ์ ลงสมัคร สส. บัญชีรายชื่อพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ในขณะที่ยังดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) อาจเข้าข่ายความผิดกฎหมายเลือกตั้งที่ห้ามเจ้าพนักงานรัฐลงสมัคร แม้นายพีระพันธุ์จะลาออกจากกรรเป็น สส. ในภายหลังก็ตาม

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า นายพีระพันธุ์ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2565 จากนั้น เมื่อมีการยุบสภาและกำหนดการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 14 พ.ค.2566 โดยคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เปิดรับสมัคร สส.บัญชีรายชื่อ วันแรก เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2566 พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้เข้ายื่นรายชื่อผู้สมัคร 100 คน โดยมีนายพีระพันธุ์ เป็นผู้สมัครหมายเลข 1 ก่อนจะจับได้เบอร์ 22
ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2566 พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ สส.ระบบบัญชีรายชื่อรวม 13 ที่นั่ง ก่อนที่ กกต.จะประกาศรับรองผลในวันที่ 19 มิ.ย.2566 ก่อนที่นายพีระพันธุ์ จะส่งหนังสือถึงเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ขอลาออกจาก สส.ในวันที่ 30 มิ.ย. 2566 โดยให้เหตุผลว่า “เนื่องด้วยปัจจุบันผมดำรงตำแหน่ง เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมี ครม.ชุดใหม่ จึงขอลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2566”

เป็นที่น่าสังเกตว่า นายพีระพันธุ์ขอให้การลาออกมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 14 พ.ค.2566 ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งหรือย้อนหลังไปถึง 47 วัน กรณีดังกล่าวอาจเข้าข่ายฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (15) และ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 (พรป. ส.ส. 61) มาตรา42 (17) ซึ่งทั้ง 2 มาตรา กำหนดคุณสมบัติต้องห้ามของบุคคลที่ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง สส. ไว้รวม 18 ประเภท โดย 1 คุณสมบัติต้องห้ามดังกล่าว คือ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
"เท่ากับว่าในขณะที่ กกต. ดำเนินการรับรองตัวบุคคลที่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้สมัคร สส.ระบบัญชีรายชื่อของพรรครวมไทยสร้างชาตินั้น นายพีระพันธุ์ยังคงดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกฯ อยู่ด้วย โดยไม่ได้มีการยื่นใบลาออกแต่อย่างใด โดยเจ้าตัวยังคงดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มาจนถึงวันที่ 1 ก.ย.2566 และเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานต่อในทันที ซึ่งกรณีดังกล่าวเข้าข่ายเป็นผู้ขาดคุณสมบัติการลงสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ มาตั้งแต่แรกแล้ว"
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับความเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐไว้ดังนี้ 1. ได้รับแต่งตั้งตามกฎหมาย 2. มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติงานประจำ 3. อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ 4. มีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนตามกฎหมาย