คงต้องลุ้นกันเหนื่อยกับมาตรการอัดฉีดของรัฐบาลกว่า 3.1 แสนล้านบาท..เพื่อดันเศรษฐกิจของประเทศไทยที่มีขนาดกว่า 16 ล้านล้านบาท ให้ปีนี้เติบโตได้ไม่น้อยกว่า 3% เมื่อเทียบเงินที่ใส่ลงไป กับขนาดเศรษฐกิจ
ซึ่งตามหลักหากอัดฉีดลงรากหญ้า กลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรประชารัฐ กลุ่มผู้สูงอายุ
คนกลุ่มนี้จะนำเงินไปใช้จ่ายให้เกิดการหมุนเวียน 3-4 รอบ ไปซื้อสินค้า..
จากนั้นร้านค้าไปซื้อของจากโรงงาน ทางโรงงานไปซื้อผู้ผลิตวัตถุดิบ “เงินจะหมุน 9 แสนล้าน ถึง 1.2 ล้านล้านบาท หรือเมื่อเทียบแล้วไม่ถึง 10% ของขนาดจีดีพี”..
ที่สำคัญรายได้หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยขยายตัว ซึ่งมาจากการส่งออกถึงกว่าครึ่ง ด้านการส่งออกปีนี้แนวโน้มจะติดลบเทียบจากปีก่อน เพราะสงครามการค้าสหรัฐกับจีนมีแนวโน้มจะลากยาวไปถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเดือนพฤศจิกายนปีหน้า
เนื่องจากจีนเปลี่ยนจากยอมถอยให้สหรัฐ มาเป็นนโยบาย ”ตาต่อตาฟันต่อฟัน” เมื่อสหรัฐประกาศเก็บภาษีกับจีนเพิ่มต้นเดือนกันยายน กับกลางเดือนธันวาคมนี้ ทางจีนก็ประกาศเก็บภาษีสินค้าสหรัฐขึ้นสองครั้งตามกำหนดเวลาเดียวกัน
พร้อมกับมีการขึ้นบัญชีห้ามค้ากับบริษัทสหรัฐ หลังจากที่สหรัฐห้ามค้ากับจีนบางบริษัท
ล่าสุด ประธานาธิบดีสหรัฐ “โดนัลด์ ทรัมป์” ยังประกาศเก็บภาษีจีนเพิ่มในวันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งตรงกับวันชาติจีน และปีนี้เป็นการฉลองครบรอบ 70 ปีที่เมื่อเวียนมาครบทศวรรษจะมีการฉลองสวนสนามใหญ่ จึงต้องลุ้นว่าทางจีนจะออกมาตรการอะไรออกมาตอบโต้
ด้วยท่าทีดังกล่าว ความหวังที่จะให้การส่งออกหรือรายได้ท่องเที่ยว มาช่วยดันให้เศรษฐกิจไทยปีนี้โต 3% จึงเหนื่อย..
ยิ่งตามรายงานของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ จีดีพีไตรมาสสอง ชะลอตัวลงกว่าไตรมาสแรกของปีนี้อีก โดยไตรมาสสองชะลอตัวกว่า คาดเหลือแค่ 2.3% ขณะที่จีดีพีไตรมาสแรกโตชะลอตัว 2.8%
เมื่อเป็นเช่นนี้ “รัฐบาลจึงต้องมาหวังการบริโภคในประเทศ เป็นตัวช่วยพยุงเศรษฐกิจ”
เช่นเดียวกับที่หลายประเทศทำ เพราะหากจุดติดการบริโภคกระเตื้อง ทางเอกชนก็อาจมีการลงทุนขยายการผลิต ส่วนการลงทุนภาครัฐ ยังต้องรองบประมาณปี 2563 ที่ยังไม่ผ่านสภาและแนวโน้มไม่น่าจะทันเริ่มปีงบประมาณต้นเดือนตุลาคมนี้
จากความหวังที่จะทำให้เศรษฐกิจยังขยับตัว ต้องพึ่งการบริโภคในประเทศมากขึ้น การดำเนิน ”นโยบายเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับคนจน” มากขึ้น น่าจะเป็นแนวนโยบายที่รัฐควรให้น้ำหนักมากขึ้น เพราะตามหลักทั่วไปการเติบโตจีดีพีที่ไปกระจุกกับกลุ่มระดับบนและกลุ่มระดับกลาง รายได้ที่เพิ่มขึ้นการใช้จ่ายบริโภคไม่ได้มากขึ้น
โดยเฉพาะช่วงสัญญาณเศรษฐกิจที่เสี่ยงชะลอตัว หรือรีเซสชั่น คนระดับกลางยิ่งระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ส่วนคนรากหญ้ามีรายได้เข้ามา ก็จำเป็นต้องใช้เงิน ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน
หากประเทศไทยจะมาใช้แนวคิดการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับคนจน เหมือนที่ประเทศในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจหรือโออีซีดีใช้..
รัฐต้องลดการให้ความสำคัญกับการเติบโตของจีดีพี ไปเพิ่มตัววัดการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น รายได้ต่อหัวของกลุ่มที่มีรายได้ต่อหัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ หรือดัชนีกลุ่มคนจน หรือกรณีที่นโยบายมีเป้าหมายขัดแย้งกัน..
รัฐจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มคนจนมากกว่าการเติบโตของจีดีพี อาทิ การสนับสนุนลงทุนตั้งโรงงานผลิต ที่เสี่ยงอาจมีการปล่อยของเสียมลพิษลงไปกระทบแหล่งน้ำ ทำให้ใช้เพื่อการเกษตรเพาะปลูกไม่ได้ หรือสัตว์น้ำตาย หรือมีจำนวนลดลงกระทบชาวประมงชายฝั่ง กรณีนี้รัฐอาจต้องสั่งยุติการลงทุน
สำหรับนโยบายเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับคนจน ตามหลักกว้างๆ คือ “การเติบโตของระบบเศรษฐกิจ ที่คนจนสามารถเข้ามามีส่วนร่วม เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจเติบโต และเข้ามามีส่วนแบ่งในการได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น”
โดยที่ผ่านมา มีงานวิจัยพบว่า การเติบโตของจีดีพีประเทศไทย เช่น 4% ของผลประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น ทางกลุ่มระดับบนได้ไปกว่าครึ่งหรือกว่า 2% กลุ่มระดับกลางได้ไป 1% ส่วนระดับล่างได้แบ่งไปน้อยกว่า 1%
เมื่อเป็นแบบนี้ จึงต้องวัดใจรัฐบาลว่า..
จะเลือกนโยบายช่วยคนจนแบบโปรยเงินต่อไปหรือให้โอกาสให้เครื่องมือไปหากิน!
โดย-คนฝั่งธนฯ