
นายกรัฐมนตรี “แพทองธาร ชินวัตร” ได้เริ่มภารกิจแรกในการเยือนกรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามอย่างเป็นทางการด้วยการพบปะและประชุมหารือกับภาคเอกชนไทยในเวียดนาม รวมถึงคณะกรรมการจากหอการค้าและอุตสาหกรรมไทยในเวียดนาม (Thai Chamber of Commerce and Industry in Vietnam: ThaiCham) ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 140 บริษัท ณ ห้องฟังก์ชันรูม 7 โรงแรม Melia Hanoi
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แลกเปลี่ยนมุมมองกับนักลงทุนไทยที่ขยายการลงทุนธุรกิจในประเทศเวียดนาม เพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการจัดทำนโยบายของไทยที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจุดแข็งของเวียดนามในการผลักดันการค้าและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ แนวทางของเวียดนามต่อมาตรการภาษีของสหรัฐฯ รวมถึงแนวทางการขยายความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนของไทยกับเวียดนามในอนาคต นอกจากนั้น ยังได้แสดงความขอบคุณภาคเอกชนไทยที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย–เวียดนาม ทั้งในระดับประชาชนและภาคเศรษฐกิจ พร้อมกล่าวชื่นชม ThaiCham ในฐานะหอการค้าไทยในต่างประเทศที่เข้มแข็งที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการประสานความร่วมมือภาคเอกชนของทั้งสองประเทศอย่างใกล้ชิด

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการอาวุโส หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมมิตรภาพไทย–เวียดนาม ซึ่งได้นำคณะนักธุรกิจไทยเข้าร่วมการหารือ เปิดเผยว่า ภาคเอกชนไทยได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองเชิงลึกเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม และบทเรียนจากความสำเร็จที่อาจนำมาประยุกต์ใช้ในบริบทของไทย พร้อมเสนอข้อคิดเห็นเชิงนโยบายต่อท่านนายกรัฐมนตรีอย่างสร้างสรรค์
นายสนั่น กล่าวเพิ่มเติมว่า เวียดนามเป็นประเทศที่น่าจับตามองอย่างยิ่งในภูมิภาค โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วและมีเสถียรภาพ GDP ของเวียดนามในปี 2024 อยู่ที่ประมาณ 467 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตามหลังไทยเพียงราว 5 หมื่นล้านดอลลาร์ เท่านั้น สะท้อนถึงศักยภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตในระดับสูง ได้แก่ โครงสร้างประชากรที่มีคนหนุ่มสาวจำนวนมาก ชนชั้นกลางที่เติบโตอย่างรวดเร็ว (จาก 17 ล้านคนในปัจจุบัน คาดว่าจะเพิ่มเป็น 35 ล้านคนภายในปี 2035) หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับต่ำ ระบบบริหารจัดการแบบพรรคเดียวที่วางแผนพัฒนาระยะยาวอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำหนด KPI ชัดเจนให้กับหน่วยงานต่าง ๆ โดยตลอดทศวรรษที่ผ่านมา เวียดนามยังคงยึดหลักนโยบายการเงินแบบระมัดระวังโดยเน้นการควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำ
ลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นการลงทุนและบริโภค พร้อมทั้งดูแลเสถียรภาพของค่าเงินให้เอื้อต่อการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่เอื้อประโยชน์ให้ภาคเอกชนสามารถวางแผนธุรกิจในระยะยาวได้อย่างมั่นใจ

นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามได้ประกาศเป้าหมายการเติบโตอย่างชัดเจน โดยตั้งเป้าให้ GDP ปี 2025 เติบโตไม่ต่ำกว่า 8% และเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 10% ต่อปีในช่วงปี 2026–2030 พร้อมด้วยมาตรการสำคัญ เช่น การปฏิรูปราชการ ลดจำนวนข้าราชการลงกว่า 20% ภายใน 5 ปี การส่งเสริมอุตสาหกรรมแรงงานเข้มข้น เช่น เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ การยกระดับเป็นศูนย์กลางการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยการดึงดูดบริษัทระดับโลกอย่าง Samsung และ Apple รวมถึงการต่อยอดสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น Semiconductor และ AI ตามแนวคิด New S-Curve
บทเรียนจากเวียดนามในด้านการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์และการดำเนินนโยบายอย่างมุ่งเป้าเป็นสิ่งที่ไทยสามารถนำกลับมาปรับใช้ได้ โดยเฉพาะในบริบทของการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในภูมิภาค นายสนั่น กล่าวทิ้งท้าย
ภาคเอกชนไทยรายใหญ่ที่ร่วมการหารือครั้งนี้ ได้สะท้อนข้อเสนอและประสบการณ์การลงทุนในเวียดนาม ดังนี้
1. SCG ดำเนินธุรกิจในเวียดนามมากว่า 30 ปี มี 27 บริษัทและ 50 โรงงาน ครอบคลุมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี บรรจุภัณฑ์ ซีเมนต์ และโลจิสติกส์ รวมมูลค่าลงทุนกว่า 250,000 ล้านบาท จ้างงานกว่า 16,000 คนทั่วประเทศ โดยโครงการปิโตรเคมีในจังหวัดบาเรียะ–หวุงเต่า มูลค่า 5.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (182,000 ล้านบาท) กำลังปรับสารตั้งต้นเป็น “อีเทน” นำเข้าจากสหรัฐฯ และขอรับการสนับสนุนด้านสถานะ MFN จากรัฐบาลเวียดนาม
2. อมตะ คอร์ปอเรชัน ดำเนินธุรกิจในเวียดนามมา 30 ปี พัฒนานิคมอุตสาหกรรมในภาคเหนือ กลาง และใต้ ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเวียดนามอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นตัวอย่างของความร่วมมือเชิงนโยบายที่เอื้อต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
3. WHA Group เข้าลงทุนในเวียดนามตั้งแต่ปี 2017 มี 3 กลุ่มธุรกิจ โดยประสบความสำเร็จเด่นชัดในนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดแงอาน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทางการจนสามารถดึงดูดการลงทุนจาก Foxconn ได้สำเร็จ
4. ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มีการลงทุนในจีน ลาว กัมพูชา เวียดนาม และอินโดนีเซีย โดยในเวียดนามมีความประสงค์ขอให้รัฐบาลสนับสนุนการยกระดับจาก “ธนาคารสาขาต่างชาติ” เป็น “ธนาคารท้องถิ่น”
5. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ดำเนินความร่วมมือกับ 3 ธนาคารเวียดนาม ได้แก่ BIDV, Vietcombank และ VietinBank พร้อมให้การสนับสนุนการลงทุนของนักธุรกิจไทยในกลุ่มธุรกิจสีเขียว (Green Economy) และพลังงานหมุนเวียน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายเวียดนาม
6. เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP Group) เริ่มลงทุนในเวียดนามตั้งแต่ปี 1993 ในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมครบวงจร ทั้งสุกร ไก่ อาหารสัตว์ รวมถึงการมีส่วนร่วมกับเกษตรกรเวียดนามในลักษณะ Contract Farming โดยได้รับการสนับสนุนเรื่องที่ดินในหลายจังหวัด พร้อมตอบแทนสังคมผ่านโครงการ CSR
7. Super Energy Corporation ซึ่งดำเนินธุรกิจพลังงานทดแทนในเวียดนาม ได้เสนอให้ภาครัฐพิจารณาการชำระค่าไฟฟ้าตามเงื่อนไขในสัญญา
8. กลุ่มเซ็นทรัล เข้าลงทุนในเวียดนามตั้งแต่ปี 2012 ในธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตและค้าปลีก โดยทำงานใกล้ชิดกับซัพพลายเออร์ท้องถิ่น ช่วยสร้างงานในหลายจังหวัด และขอให้รัฐบาลเวียดนามสนับสนุนพื้นที่เหมาะสมสำหรับการขยายสาขาในอนาคต
9. ไทยเบฟเวอเรจ ลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และซูเปอร์มาร์เก็ตในเวียดนาม โดยขอรับการสนับสนุนเรื่องที่ดินสำหรับโครงการในอนาคต
10. สยามพิวรรธน์ ผู้พัฒนาโครงการค้าปลีกระดับโลกในไทย กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนในเวียดนาม โดยขอให้รัฐบาลเวียดนามสนับสนุนพื้นที่สำหรับห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ พร้อมแสดงเจตนารมณ์ร่วมส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นเวียดนามตามรูปแบบที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญ

การพบปะครั้งนี้นับเป็นกิจกรรมสำคัญก่อนจะมีการจัดงาน Vietnam–Thailand Business Forum 2025 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 16 พฤษภาคม โดยมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย และท่าน ฝั่ม มิญ จิ๊ญ นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ร่วมงานและขึ้นกล่าวถ้อยแถลง วิสัยทัศน์ของผู้นำสองประเทศ และเป็นสักขีพยานในการลงนามความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในหลากหลายมิติ
สำหรับการหารือครั้งนี้มีคณะผู้แทนระดับสูงของรัฐบาลไทยที่ร่วมภารกิจ อาทิ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นางสาวอุรวดี ศรีภิรมย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย
ด้านภาคเอกชน นำโดย นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการอาวุโส หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมมิตรภาพไทย–เวียดนาม พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทชั้นนำของไทย อาทิ นายประวีณ วิโรจน์พันธุ์ (ประธาน ThaiCham) นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม (SCG) นางสาวจรีพร จารุกรสกุล (WHA Corporation) นางสมหะทัย พานิชชีวะ (AMATA VN) นายชัช เหลืองอาภา (ธนาคารกสิกรไทย) นางเศรษฐสุดา ตุลยธัญ (ธนาคาร EXIM) นายมนตรี สุวรรณโพธิ์ศรี (C.P. Vietnam)นายจอมทรัพย์ โลจายะ (SUPER Energy) ดร.ธรรม์ จิราธิวัฒน์ (The 1 Central Group) นายโสภณ ราชรักษา (ไทยเบฟเวอเรจ) พร้อมนักธุรกิจไทยอีกจำนวนมากที่ดำเนินธุรกิจและลงทุนอยู่ในเวียดนาม