
การจราจรบนถนนเทพรัตน หรือ บางนา-ตราด บริเวณนี้คือ "สารตั้งต้น" ของความวิบัติวินาศสันตะโรที่ลากเอาการจราจรบนเส้นทางอื่นๆ ที่เชื่อมต่อกับถนนบางนา-ตราด พลอยได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปด้วยหมด ทั้งวงแหวนกาญจนา ทางยกระดับบูรพาวิถี ถนนศรีนครินทร์ ถนนสุขุมวิท ไปจนถึงทางด่วนบางนา-ดินแดง
…
วิกฤติจราจรสุดจลาจลบนถนนเทพรัตน (บางนา-ตราด) ที่สังคมออนไลน์พากันตั้งชื่อใหม่ไปแล้วว่า "ประเทศบางนา" ในช่วงบ่ายแก่ๆ ของวันศุกร์แห่งชาติที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา หลังเจอฝนถล่มราวชั่วโมงเศษ ทำให้เกิดน้ำท่วมขังผิวจราจรในหลายจุดสำคัญ
เมื่อมาประจวบเหมาะกับการจัดจราจรและสร้างจุดกลับรถ "สุดติ่งกระดิ่งแมว" บนนถนนเทพรัตนตัดถนนวงแหวนรอบนอก บริเวณหน้าหน้าห้างเมกา บางนาและโลตัส บางนา ที่ให้รถยูเทิร์นไป-กลับกับรถที่วิ่งปกติช่วงชิงกันเอาตามสะดวกและใช้ทางร่วมกัน แถมยังเป็นจุดตัดของรถเข้า-ออกชุมชนราม 2 และซอยเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ด้วยอีก
จึงทำให้การจราจรบนถนนเทพรัตนหรือบางนา-ตราด บริเวณนี้คือ "สารตั้งต้น" ของความวิบัติวินาศสันตะโรที่ลากเอาการจราจรบนเส้นทางอื่นๆ ที่เชื่อมต่อกับถนนบางนา-ตราด พลอยได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปด้วยหมด ทั้งวงแหวนกาญจนา ทางยกระดับบูรพาวิถี ถนนศรีนครินทร์ ถนนสุขุมวิท ไปจนถึงทางด่วนบางนา-ดินแดง

เครดิตภาพ : เพจข่าวสารเมืองปราการ V2
นัยว่า ขนาดทางยกระดับบูรพาวิถีขาเข้าจาก "ชลบุรี" มายังกรุงเทพฯ ที่จะมาลงวงแหวนกาญจนา หรือไปบางนา-ท่าเรือนั้น ท้ายแถวอยู่เลย กม.27-30 ไปแล้ว ขณะวงแหวนกาญจนาภิเษกไปสุขสวัสดิ์-บางพลี ก็ติดหนึบไป 20-30 โล ผู้คนที่จะเดินทางกลับบ้านช่องต้องติดหนึบอยู่บนถนนกว่า 4-6 ชั่วโมงกว่าจะเริ่มคลี่คลาย
ขนาดฝนตกลงมาแค่ "ซู่เดียว" ชั่วโมงกว่าๆ ยังสาหัสสากรรจ์ถึงเพียงนี้ หากเจอฝนกระหน่ำตกอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวี่ทั้งวัน มีหวังวิกฤติรถติดบนถนนเทพรัตนหรือบางนา-ตราดสายนี้ คงวินาศสันตะโรจนอาจต้องบริภาษเป็นภาษาต่างดาวว่า.... @&#;;$£¥@;"€#"×£€$×*($@(")@$:#:8÷%;%÷:÷€%£:£;(*÷%:£(£÷$;£:£¥;=:€9 เท่านั้น เพราะคงจะมองเห็นจากดาวอังคารได้แบบไม่ต้องใช้กล้องขยาย และเพื่อให้สมกับที่โลกโซเชียลพากันตั้งฉายาว่า "ประเทศบางนา" ไปแล้ว
หากจะถามว่า หนทางในการแก้ไขวิกฤติจราจรบนถนนสายนี้ และโดยเฉพาะบริเวณหน้าห้างโลตัส และเมก้า บางนา ต้องทำอย่างไร?
หากเป็นเรื่องของการจัดระเบียบการจราจร จะปิด-เปิดจุดกลับรถหรือตั้งกรวยเพิ่มทางพิเศษใดๆ หรือเพิ่มทางลัด-ทางเลี่ยงใดเพิ่มเติมนั้นคงเป็นเรื่องที่หน่วยงานในพื้นที่ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ สภ.บางแก้ว และเทศบาลบางแก้ว รวมทั้งกรมทางหลวง การทางพิเศษฯ คงต้องไปคิดอ่านว่ากันเอาเอง เพราะโลกโซเชียลที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านจราจรและจลาจลพากันโพสต์ข้อเสนอแนะเป็นสิบเป็นร้อยหนทางกันให้หมดแล้ว

แต่สำหรับ สำนักข่าวเนตรทิพย์ออนไลน์ ที่คลุกคลีตีโมงอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ตั้งแต่ยังไม่มีด่วนบูรพาวิถีและวงแหวนกาญจนาภิเษก และแทบจะนั่งอยู่ใจกลางวิกฤติจราจรจลาจล เลยก็ว่าได้ เพราะที่พักอาศัยตั้งอยู่ติดถนนบางนา-ตราด และจุดกลับรถจุดยูเทิร์นที่ว่านี้
บอกตามตรงหนทางในอันที่จะแก้วิกฤติจราจรหยุดจลาจลได้อย่างแท้จริงนั้น อยู่ที่ "รถไฟฟ้าสายสีเงิน" บางนา-สุวรรณภูมิ ที่ผู้ว่า กทม."ชช. - นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์" เพิ่งประเคนกลับไปให้รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ดูแลเองเมื่อปลายปี 2567 นั่นแหล่ะ คือ "คำตอบสุดท้าย" ของการแก้ไขปัญหา!

เพราะต่อให้รถติดวินาศสันตะโรบนนถนนสายนี้ หรือสายเชื่อมต่อยังไง ผู้คนก็ยังคงมีทางเลือกและะมีหนทางเดินทางกลับไปยังบ้านช่องได้ เหมือนที่ชาวสมุทรปราการ ด่านสำโรง ลาซาล ปู่เจ้าฯ หรือการเคหะสมุทรปราการ ที่ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวและสีเหลืองอยู่เวลานี้ ที่ไม่ว่าจะข้างล่างจะติดขัดวินาศสันตะโรอย่างไร ผู้คนก็ยังคงเดินทางกลับบ้านได้อยู่ อย่างน้อยก็โดยสารมาถึงปากซอยเข้าบ้านได้แล้ว
แต่กับประเทศบางนานั้น เพราะไม่มีโครงข่ายรถไฟฟ้าสายนี้มาเชื่อมต่อแม้จะมีรถไฟฟ้าสายสีเขียวมาลงบางนา หรือสายสีเหลืองมายังวัดศรีเอี่ยม จากนั้นไปก็ต้องเผชิญกับรถติดวินาศสันตะโรร่วมชะตากรรมกับผู้ใช้รถราประเภทอื่นๆ เท่านั้น (เว้นเสียแต่ว่าจะยอมเดินมาราธอน 10-20 โล กลับบ้าน)
โครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีเงินนี้ มีการศึกษากันเอาไว้ตั้งแต่ปีมะโว้ 2535-37 โน้น ก่อนจะชักเข้า-ชักออก โยนกันไปจนสุดท้ายปลายปี 2558 กรุงเทพมหานครจึง "ปัดฝุ่น" โครงการนี้ออกมาลุยไฟอย่างจริงจัง (ควบคู่ไปกับรถไฟฟ้าสายสีเทา วัชรพล-ทองหล่อ)
แต่ไม่รู้ศึกษากันอีท่าไหน ผ่านมาวันนี้จะ 10 ปีเข้าไปแล้วก็ยังไม่ไปไหน จนสุดท้ายที่ประชุม "คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.)" เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2567 ที่มี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมต.คมนาคม เป็นประธาน มีมติให้ กทม. โอนภารกิจการดำเนินโครงการรถไฟฟ้า 3 สายทาง ที่ประกอบด้วย รถไฟฟ้าสายสีเงิน รถไฟฟ้าสายสีเทา และรถไฟฟ้าสายสีฟ้า ไปให้กระทรวงคมนาคมเป็นผู้ดำเนินการแทน เพื่อให้การพัฒนาโครงข่ายการขนส่งระบบรางเชื่อมต่อกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เข้าใจว่า ขณะนี้ กทม. และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) หน่วยงานที่รับโอนรถไฟฟ้าทั้ง 3 สาย เข้ามาอยู่ในอ้อมอก คงอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลรายละเอียดโครงการ เพื่อถ่ายโอนภารกิจระหว่างกัน
รายละเอียดคร่าวๆ เท่าที่รู้ก็คือ รถไฟฟ้าสายสีเงิน บางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่ กทม.ศึกษาไว้แต่เดิมนั้น จะเป็นระบบรถไฟฟ้าขนาดเบา หรือ Light Rail (แบบเดียวกับรถไฟฟ้า สายสีชมพู และสายสีเหลือง) วิ่งไปตามแนวถนนเทพรัตน หรือ บางนา-ตราด ระยะทางรวม 19.7 กิโลเมตร วงเงินลงทุนประมาณ 48,380 ล้านบาท
แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 เฟส เฟสแรก 14.6 กม. จำนวน 12 สถานี จากบางนา-ม.หัวเฉียว และเฟส 2 ระยะทาง 5.1 กม.จาก ม.หัวเฉียว เข้าไปยังอาคารผู้โดยสารสุวรรณภูมิด้านใต้ ที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT กำลังตั้งแท่นจะลุยก่อสร้างโครงการแล้ว โดยมีเป้าหมายจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2572

แต่นั่นเป็นเป้าหมายแล้วเสร็จของโครงการครับ ของจริงเป็นยังไง จะเสร็จตามมาอีกกี่ปีให้หลัง ก็คงเหมือนกับรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่ตอนนี้เปลี่ยนมาเป็น "รถไฟไทยแท้ 100%" แล้วนั่นแหล่ะ ที่กำหนดจะเสร็จแล้วเสร็จตั้งแต่ปีมะโว้โน้นแล้ว แต่เอาจริงจนป่านนี้คืบหน้ายังไม่ถึง 35-40% ด้วยซ้ำในเฟสแรก (ส่วนเฟสหลังนั้น มนุษย์ลุงรุ่นผมคงไม่ได้อยู่ดูอยู่แล้ว)