“EXIM BANK”เปิดเกมรุก สร้างโอกาสทองการลงทุนผ่าน ธุรกิจแฟรนไชส์แบรนด์ไทย ในกลุ่มประเทศ CLMV สนใจรีบติดต่อด่วนเลย!
มีข่าวดีมาบอก!....
ในยุคที่ “ภาวะเงินฝืด” คือ หาเงินยาก ผสมกลมกลืนจนกลายเป็นเนื้อเดียวกันกับภาวะ “เงินเฟ้อ” หรือราคาสินค้าและบริการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชนิดไม่เกรงใจ “มนุษย์เงินเดือน” และกลุ่มคน “หาเช้ากินค่ำ” กันบ้างเลยนั้น
หาได้ไม่ยากนัก...บนโลกใบนี้ แต่ทว่าสิ่งนี้...ก็เคยขึ้นจริงแล้วในบ้านเมืองไทย ยุคสมัยของ “ลุงตู่” ผู้รักแผ่นดินเกิด...จนไม่อยากพรากจากเก้าอี้ตัวนั้น
“สำนักข่าวเนตรทิพย์ ออนไลน์” ขอบอก...การที่ภาวะเศรษฐกิจจะเกิด “เงินฝืด-เงินเฟ้อ” ไปพร้อมกัน...ไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือโชคช่วย เป็นเพราะฝีมือ “รัฐบาลลุงตู่” ล้วนๆ และ “ทีมเศรษฐกิจ” ชุดปัจจุบัน กว่าครึ่ง...ก็เป็นชุดเดียวกับ...รัฐบาลสมัยแรก ฉะนั้น...จะโทษ ทักษิณ - ยิ่งลักษณ์ หรือมาร์ค ม.7 จึงเป็นเรื่องยาก
ในเมื่อเรื่องมัน “บานปลาย” มาจนถึงบัดนาวเยี่ยงนี้ แล้วไหง “สำนักข่าวเนตรทิพย์ ออนไลน์” ดันมาประกาศ...มีข่าวดีมาบอก!...
โปรดฟังอีกครั้ง! ข่าวดีที่ว่า ก็คือ “โอกาสทอง” ของนักลงทุนไทย ที่จะหิ้วแบรนด์ “เฟรนไชส์ไทย” ไปขายในต่างแดน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CMLV (กัมพูชา เมียนมา ลาว และเวียดนาม)
ล่าสุด ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือ EXIM BANK ภายใต้การนำของ ”พิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา” กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ยืดอกบอกกลางวงสัมมนา “พัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ไทยก้าวสู่สากล” เมื่อช่วงสายวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมานี้เอง
ประมาณว่า... EXIM BANK ผนึกกำลังร่วมกับ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชน ผู้เป็นเจ้าของแฟรนไชส์แบรนด์ไทย พร้อมจะให้การส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการนิติบุคคลในกลุ่มประเทศ CMLV ทั้งที่เป็นบริษัทคนไทยและคนท้องถิ่น สามารถจะขอกู้เงินเพื่อนำไปซื้อแฟรนไชส์แบรนด์ไทย ซึ่งปัจจุบันมี 49 แบรนด์ที่รุกเข้าดำเนินธุรกิจในกลุ่มประเทศเหล่านี้ จากทั้งหมดที่มีกว่า 584 แบรนด์ และกว่า 1 แสนสาขาทั่วประเทศ
โดยธุรกิจที่รุกขยายเข้าไปยัง CMLV ส่วนใหญ่มักเป็นธุรกิจบริการอาหารและเครื่องดื่มมากถึง 33 แบรนด์จากทั้งหมด 49 แบรนด์ รองลงมาเป็นการศึกษา 4 แบรนด์ และคาร์แคร์อีก 4 แบรนด์ ที่เหลือ 5 แบรนด์ ต่างเป็นธุรกิจนวดสปาและอื่นๆ
ปมที่ทำให้แฟรนไชส์แบรนด์ไทยได้รับความนิยมจากคนในประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่นั้น “สำนักข่าวเนตรทิพย์ ออนไลน์” ขอเสริมจากที่ ”พิศิษฐ์” บอกไว้ นั่นคือ...”ความได้เปรียบที่มีความคล้ายคลึงทางสังคมและวัฒนธรรม”..
สิ่งที่อยากจะบอกเพิ่มเติม ก็คือ เพราะความเป็น “ทาสวัฒนธรรม” ที่คนในประเทศเพื่อนบ้าน ต่างเสพได้จากละครไทย ภาพยนตร์ไทย เพลงไทย เสื้อผ้าแฟชั่น สินค้าและบริการจากประเทศไทย จนอะไรๆ ที่มาจากประเทศไทย...ล้วนเป็นที่นิยมจากคนท้องถิ่นในกลุ่มประเทศ CMLV เรียกว่า...สินค้าและบริการจากไทยได้เปรียบในชั้นแรก
กระนั้น คุณภาพมาตรฐานของสินค้าและการบริการก็ต้องดีด้วย ทั้งยังต้องอยู่ในระดับมาตรฐานสากล “แต้มต่อ” จึงจะมีผล กระนั้น หากปล่อยให้เจ้าของแฟรนไชส์แบรนด์ไทย ลุยกันเอง!
เชื่อว่า...แม้จะติดขัดปัญหาและอุปสรรคกันอยู่บ้าง แต่สุดท้าย...ของจริงและรายใหญ่จะไปรอด
แต่ก็อย่างว่า...49 แบรนด์ไทยที่ไปประจำการอยู่ใน CMLV แล้วนั้น ใช่ว่า...จะอยู่รอดปลอดภัยกันทุกราย ขณะเดียวกัน รายใหญ่ลำดับที่ 50 ขึ้นไป หากจะก้าวสู่ธุรกิจการแข่งขันในกลุ่มประเทศ CMLV แล้ว จำเป็นจะต้องทำการบ้านอย่างแรง และต้องทำชนิดลงลึกอย่างต่อเนื่องด้วย
ทว่าปัญหานี้ จะคลายตัวลงทันที เมื่อ EXIM BANK กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และภาคเอกชน ผนึกกำลังผลักดันแคมเปญนี้ขึ้นมา ถือว่า...ช่วยลดขั้นตอนและความเสี่ยงของการดำเนินธุรกิจในต่างแดนได้มากโขทีเดียว
“พิศิษฐ์“ ยังชี้ด้วยว่า อีกปัจจัยแห่งสำเร็จของแฟรนไชส์แบรนด์ไทย ก็คือ การที่ CLMV ยังมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างดี ส่งผลให้ประชากรมีรายได้ต่อหัวต่อปีและกำลังซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่า 5 ปีจากนี้...เศรษฐกิจของ CLMV จะขยายตัวเฉลี่ยกว่า 6% ต่อปี
จากปัจจุบัน ที่พบว่า...จีดีพีของกัมพูชาเติบโต 6.6% เมียนมา 6.7% ลาว 6.8% และเวียดนาม 6.5% สูงกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเกือบเท่าตัว
ซึ่งนั่น จะทำให้กำลังซื้อของประชากรใน CLMV เพิ่มขึ้น 30% ในปี 66 ท่ามกลางการผลิตสินค้าและบริการภายในประเทศ ที่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ
กก.ผจก. EXIM BANK ย้ำอีกว่า เมื่อโอกาสทางธุรกิจของแฟรนไชส์ไทยยังขยายตัวได้อีกมากในตลาดต่างประเทศ EXIM BANK จึงพัฒนาบริการใหม่ “สินเชื่อเพื่อสนับสนุนผู้ซื้อแฟรนไชส์ไทย/เชนไทย (Loan for Thai Franchise/Thai Chain Buyers)” เป็นวงเงินสินเชื่อระยะยาวที่มีระยะเวลากู้ยืม ไม่เกินระยะเวลาของสัญญาซื้อขายแฟรนไชส์/เชน อัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำ หากเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ LIBOR +3.50 % ต่อปี และสกุลบาทเท่ากับ Prime Rate ต่อปี (ปัจจุบันอยู่ที่ 6.125% ต่อปี) หลักประกันพิจารณาตามความเหมาะสม โดยมีวงเงินอนุมัติรวม 800 ล้านบาท
ทั้งนี้ การขยายตลาดแฟรนไชส์ไทยในต่างประเทศนั้น ผู้ประกอบการต้องพัฒนาธุรกิจและบริการภายใต้แบรนด์ของไทย ให้ตอบสนองความต้องการใหม่จากไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไปในตลาดต่างๆ ได้
กล่าวคือ สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและนักธุรกิจรุ่นใหม่ ทั้งที่เป็นคนท้องถิ่นและชาวต่างชาติที่เข้าไปทำงานใน CLMV
รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งคาดหวังบริการที่ดีและได้มาตรฐาน รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องทำการศึกษาโอกาสและกฎระเบียบที่แตกต่างกันไปในแต่ละตลาด พร้อมดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบ ตั้งแต่ขั้นตอนการกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาด การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า การคัดเลือกผู้ซื้อแฟรนไชส์ที่น่าเชื่อถือและมีความตั้งใจจริงในการทำธุรกิจ รวมทั้งมีความเข้าใจในระบบแฟรนไชส์ ขณะเดียวกันต้องบริหารซัพพลายเชนของตนเองให้แข็งแกร่ง สามารถบริหารจัดการต้นทุนด้านวัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ การแปรรูปสินค้า และโลจิสติกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“การเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์ใน CLMV เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยอาศัยความได้เปรียบจากความรู้จักคุ้นเคยสินค้าแบรนด์ไทยจากสื่อต่างๆ ที่ผู้บริโภคใน CLMV ติดตามข่าวสารอยู่เป็นประจำ และใช้ความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งบริหารจัดการธุรกิจอย่างใกล้ชิด สร้างชื่อเสียงของสินค้าและบริการของไทยที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสากลในราคาที่ผู้ซื้อจับต้องได้ โดยมีสำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในกัมพูชา ลาว และเมียนมา ร่วมกับภาครัฐและเอกชน ภายใต้ “ทีมไทยแลนด์” พร้อมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยขยายธุรกิจแฟรนไชส์ได้มากขึ้น” นายพิศิษฐ์ ระบุ
นอกจากนี้ EXIM BANK เตรียมจะเปิดสำนักงานผู้แทนในเวียดนามเร็วๆ นี้ พร้อมกันนี้ ยังมีแผนเตรียมจะขยายเฟสต่อไป โดยพุ่งเป้าขยายแบรนด์ของแฟรนไชส์ไทย ไปยังตลาดใหม่ๆ โฟกันไปที่ อินเดีย ลาตินอเมริกา และแอฟริกา ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพื้นที่ที่มีอนาคตทางเศรษฐกิจที่สดใส เพราะจีดีพีเติบโตในอัตราที่สูงและผู้คนเปิดใจกว้างยอมรับสินค้าและบริการจากแบรนด์แฟรนไชส์ไทย
ขณะที่ “ลลิดา จิวะนันทประวัติ“ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจเฟรนไชส์ไทยมีอัตราการเติบโตที่สูงมาก เฉลี่ยแต่ละปีโตกว่า 20% โดยมีมูลค่าตลาดในปัจจุบันมากกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งความร่วมมือกับ ธสน.ครั้งนี้ ไม่เพียงส่งเสริมให้ธุรกิจเฟรนไชส์ไทยขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน หากยังเป็นโอกาสในการขายสินค้าวัตถุดิบจากไทย ส่งออกแรงงานไทย และนำรายได้เงินตราต่างประเทศเข้ามาอีก
ทั้งนี้ มีแนวโน้มว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ไทย โดยเฉพาะกลุ่มรายใหญ่และระดับกลาง มีโอกาสขยายตัวได้อีกมากในกลุ่มประเทศ CLMV เนื่องจากมีแบรนด์ที่น่าเชื่อถือ ได้มาตรฐานสากล และมีระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ประกอบกับคนในรุ่นใหม่ในประเทศเหล่านั้น ก็มีไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป ในทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจเฟรนไชส์ไทย
ถึงตรงนี้ ไม่ว่า เศรษฐกิจของไทย ยุค “รัฐบาลลุงตู่” จะเป็นเยี่ยงไร? จีดีพีจะสูงหรือต่ำกว่า 3% ณ สิ้นปี 2562 ก็ตาม
แต่โอกาสจะหยิบเอาธุรกิจแฟรนไชส์ไทย ไปหาประโยชน์ในดินแดนกลุ่มประเทศ CLMV กระทั่งประสบความสำเร็จ ก็ย่อมจะมีสูง เนื่องเพราะ “ทีมไทยแลนด์” ชุดนี้...เข้มข้น จริงจัง หนักแน่น และต่อเนื่อง
โอกาสที่จะได้แฟรนไชส์แบรนด์ไทย พร้อม Knowledge, Know How และเงินทุนไปพร้อมๆ กัน ถือว่าเป็นเกิดขึ้นได้ง่ายซะที่ไหนกัน
“สำนักข่าวเนตรทิพย์ ออนไลน์” ถึงได้บอกไง? ว่า....มีข่าวดีมาบอก
อ้อ! สนใจ ติดต่อไปได้เลย ไม่ว่าจะเป็นฟากไหน ระหว่าง... EXIM BANK หรือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ หรือถ้าจะให้ดี ลองถามไถ่...ไปยังเจ้าของแบรด์ธุรกิจแฟรนไชส์ไทย ทั้งในกลุ่มเล็ก 49 รายหรือกลุ่มใหญ่ 584 แบรนด์ ก่อนก็ได้
จากนั้น ค่อยแวะไปคุยกับ EXIM BANK หรือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า.
โดย กากบาทดำ