
“งบประมาณ การซ่อมบำรุงและความไม่ปลอดภัย” กองบินฯ มีงบซ่อมบำรุงฯ ราว 950 ล้านต่อปีบาทมาหลายปีแล้ว แต่เป็นไปได้อย่างไรในเมื่อที่นี่มีเครื่องบินเพิ่มขึ้นเป็นระยะ และโดยหลักทั่วไปเครื่องบินยิ่งเก่าค่าซ่อมบำรุงยิ่งต้องสูงขึ้น แต่งบซ่อมยังเท่าเดิมทุกปี
…
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2568 ดร. มานะ นิมิตรมงคล และ นายกฤตนันท์ โรจนะหัสดิน องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT เผยแพร่บทความ “ขบวนการงาบงบ 950 ล้าน ซ่อมบำรุงเครื่องบินตำรวจ” โดยระบุว่า..
ทำไม ผบ.ตร. ต้องไปตรวจสอบกองบินตำรวจด้วยตัวเอง แล้วสั่งห้ามเครื่องบินตำรวจทุกลำขึ้นบินชั่วคราวหลังเกิดเหตุเครื่องบินตกสองลำใน 30 วัน ตำรวจนักบินและช่างเครื่องตาย 9 นาย! โดยมีการคุยผ่านไลน์ของนักบินกับเพื่อนก่อนเกิดเหตุร้ายว่า “เครื่องเหล่านี้โคตรไม่พร้อมบิน”
แน่นอนว่าเมื่อเป็นนักบินหรือครูการบินพวกเขาก็ต้องขึ้นบิน ทั้งที่กลัวว่าโศกนาฏกรรมอาจมาถึงตัวเมื่อไหร่ก็ได้ จึงมีคำพูดติดตลกว่า "คนเก่าขับใหม่ คนใหม่ขับเก่า" คือคนเก่าอยู่นาน ยศสูงกว่าจะเลือกขับเครื่องบินรุ่นใหม่ ปล่อยให้ผู้ใต้บังคับบัญชาขับเครื่องเก่าที่เสี่ยงมากกว่า
นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ได้อภิปรายในรัฐสภา (31 พฤษภาคม 2568) ว่า “...มีการหาผลประโยชน์จากการซ่อมบำรุง มีการพูดถึงขนาดว่าหน่วยงานอื่นด้านความมั่นคงอาจจะมีการทุจริต แต่กรณีงบประมาณการซ่อมบำรุงนั้นเขาจะไม่ยุ่ง แต่ สตช. เอาไม่เลือก...”
ความเสื่อมท่ามกลางความเงียบที่สะสมมานาน..
กองบินตำรวจมีเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์รวมกัน 82 ลำ มากกว่าครึ่งเป็นเครื่องบินมีอายุการใช้งานเกิน 25 ปีขึ้นไป บางเครื่องถูกใช้มานานเกินครึ่งศตวรรษ อาทิ เฮลิคอปเตอร์ Bell 212 หรือ Twin Huey ที่ประจำการตั้งแต่ปี 2516 จนถึงปัจจุบัน จนนักบินท้อใจว่า วันนี้เหลือเครื่องที่สบายใจว่าบินแล้วปลอดภัยไม่เกิน 10 ลำ
คำถามสำคัญ... มันเกิดอะไรขึ้น?
“กินตัว” เป็นคำที่รู้กันว่าหมายถึง เครื่องบินบางลำที่บินไม่ได้แล้วเพราะถูกถอดชิ้นส่วน/อะไหล่ที่ยังดีไปใส่แทนของที่ชำรุดในเครื่องบินอีกลำอื่น เพราะอะไหล่ไม่มี ขาดงบซ่อมแซม หรืออยู่ระหว่างขั้นตอนจัดซื้อฯ บางกรณีเครื่องบินผ่านการใช้งานแค่ไม่กี่ปีก็ถูกกินตัวแล้ว
“งบประมาณ การซ่อมบำรุงและความไม่ปลอดภัย” กองบินฯ มีงบซ่อมบำรุงฯ ราว 950 ล้านต่อปีบาทมาหลายปีแล้ว แต่เป็นไปได้อย่างไรในเมื่อที่นี่มีเครื่องบินเพิ่มขึ้นเป็นระยะ และโดยหลักทั่วไปเครื่องบินยิ่งเก่าค่าซ่อมบำรุงยิ่งต้องสูงขึ้น แต่งบซ่อมยังเท่าเดิมทุกปี
เรื่องนี้ท่านผู้รู้อธิบายว่า หากขยับงบสูงถึงพันล้านบาท เรื่องต้องเข้าที่ประชุม ครม. ขั้นตอนและการตรวจสอบจะตามมาอีกหลายอย่าง... ฟังทะแม่งๆ แล้วใช่ไหมครับ
กลโกงซับซ้อนกว่าที่เห็น...
โดยปกตินอกจากมีหน่วยช่างซ่อมบำรุงเองแล้ว กองบินตำรวจยังจ้างเหมาให้ “การบินไทย” ซ่อมบำรุงอากาศยานด้วยงบปีละ 950 ล้านบาท ซึ่งจะถูกการบินไทยหักเป็นค่าบริการ (เงินกินเปล่า) 15% หรือราว 142 ล้านบาท แน่นอนว่าหน่วยช่างส่วนนี้ของการบินไทยจำนวน 30 – 40 คน ก็ไม่มีขีดความสามารถซ่อมบำรุงเครื่องบินตำรวจทุกยี่ห้อมากกว่า 10 แบบได้ ดังนั้นเครื่องบินราว 90% จึงถูกส่งไปให้บริษัทอื่นที่การบินไทย “จ้างช่วง” รับซ่อมอีกทอดหนึ่ง
วงในชี้ว่า ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละขั้นตอนล้วนตั้งอัตราค่าซ่อมและอะไหล่ไว้สูงลิบลิ่วเพื่อกินคอมมิชชั่นและส่วนต่างราคาเป็นทอดๆ แต่ที่น่าแปลกคือตำรวจใหญ่ในกองบินฯ กลายเป็นผู้กำหนดได้ว่า บริษัทใดจะสามารถมารับจ้างช่วงจากการบินไทยต่อได้
เงินที่ใช้ในการซ่อมเครื่องบินไม่ได้มีแค่ 950 ล้านบาทเท่านั้น แต่ยังมีงบต่างหากอีกเมื่อเกิดกรณีเครื่องเสีย ชำรุดบกพร่องหรือต้องอัพเกรด
กระบวนการที่มีผู้เกี่ยวข้องมากเช่นนี้ หากเกิดเครื่องบินตกก็ต้องมาสอบสวนว่า เป็นผลงานซ่อมหรือเปลี่ยนอะไหล่ของกองบินตำรวจเอง การบินไทย หรือบริษัทผู้รับเหมาช่วง เช่น เหตุการณ์นักเรียนนายร้อยตำรวจเสียชีวิต 2 นาย ขณะฝึกกระโดดร่ม เพราะเครื่องลำนั้นใช้ลวดสลิงกระตุกร่มของปลอม
คอร์รัปชันในการซ่อมบำรุงโดยช่างกองบินฯ เอง ยังมีการซ่อมด่วนที่ทั้ง 3 ฝ่ายได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน การจัดซื้ออะไหล่และวัสดุอุปกรณ์ประเภทใช้แล้วหมดไป (Consumable Products) เอกชนรายใดต้องการขายสินค้าเหล่านี้ต้องจ่ายใต้โต๊ะก้อนโตให้ผู้ใหญ่ แล้วจ่ายเบี้ยบ้ายรายทางให้ผู้น้อยเป็นครั้งคราวแลกกับการปิดหูปิดตาและอำนวยความสะดวก
บทสรุป..
คอร์รัปชันในการจัดซื้อเครื่องบินของทุกหน่วยงานรัฐล้วนทำกันมาก ที่พบเห็นบ่อยเช่น รัฐต้องจ่ายค่าขนส่งและประกันภัยเองทั้งที่ตกลงซื้อในราคารวมค่าขนส่ง (CIF) ตัวแทนจำหน่ายเรียกเก็บเงินจากอุปกรณ์หรือบริการที่ควรเป็นของแถม ซื้อเครื่องบินใส่อุปกรณ์เสริมมากเกินจำเป็น ซื้อเครื่อง VIP แต่ได้เครื่องรุ่นมาตรฐานแล้วมาหาวิธีทำงานเพิ่มให้ดูหรูในประเทศภายหลัง เป็นต้น
ชัดเจนว่า เครื่องบินตกไม่ใช่เรื่องดวง แต่เป็นโศกนาฏกรรมที่เกิดจากคอร์รัปชันที่แลกกับชีวิต ความปลอดภัย ความเชื่อมั่นและศักดิ์ศรีของสถาบันตำรวจ ผ่านการจัดซื้อที่ไม่ได้มาตรฐาน การตรวจรับแบบซิกแซ็ก การบำรุงรักษาที่มีแค่ใบเบิกจ่าย มีการซ่อม/เปลี่ยนอะไหล่ทิพย์
การที่นายตำรวจจะเติบโตในกองบินตำรวจได้ ต้องมีคุณวุฒิพิเศษคือเป็น “นักบิน” เมื่อประกอบกับโครงสร้างและระบบอุปถัมภ์ใน สตช. ที่ไม่โปร่งใส ซ้ำเติมให้ที่นี่กลายเป็นแดนสนธยาโดยแท้
ขอชื่นชมท่าน ผบ.ตร. ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และจริงจัง การลงตรวจสอบปัญหาที่เรื้อรังมานานของท่านจะสร้างขวัญกำลังใจให้บรรดานักบิน ช่างเครื่อง ครูการบิน และตำรวจชั้นผู้น้อย ช่วยฉุดให้กองบินตำรวจกลับมาเป็นหน่วยความมั่นคงที่สังคมชื่นชมได้ในเร็ววัน
ท่านผู้อ่านคิดว่าคอร์รัปชันและความตายที่กองบินตำรวจ เหมือนหรือแตกต่างจากกรณีตึก สตง. ถล่ม อย่างไรครับ