ท่ามกลางความวังเวงของเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และแนวโน้มอาจถึงขั้นถดถอยหรือรีเซสชั่น จีดีพีติดลบติดกันสองไตรมาส
บนความหดหู่ดังกล่าว การจะรอมาตรการจากรัฐมาช่วยเหลือคงเพิ่มความเสี่ยงให้ชีวิตมากไป
ดังนั้น จึงควรต้องลุกขึ้นมาทำตามคำพระที่ว่า “อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”
และในยุคที่เทคโนโลยีเปิดกว้าง การจะสร้างตัวตน (Personal Branding) ให้มูลค่าแปลงเป็นรายได้ จึงมีโอกาสมากมาย เหมือนที่นักธุรกิจ เช่น “ซิคเว่ เบรคเก้” บิ๊กผู้บริหารจากดีแทค หรือ ”ตัน ภาสกรนที” เจ้าพ่อชาเขียว เคยทำมาแล้วเช่นกัน
การสร้างตัวตนในยุคดิจิทัล เช่น เป็น ”บล็อกเกอร์-เน็ตไอดอล-อินฟูลเอ็นเซอร์-ยูทูปเบอร์ และผู้เชี่ยวชาญรีวิวสิ่งต่างๆ” จึงนับเป็นอีกหนึ่งในหลายโอกาสช่วยสร้างรายได้ หรือบางครั้งถึงขั้นเป็นอาชีพ คนรุ่นใหม่เชี่ยวชาญเพอร์ซันนอลแบรนด์ดิ้ง “จักรพงษ์ คงมาลัย” ผู้ก่อตั้งบริษัท Moonshot Digital PR Content Agency บอกว่า “ประโยชน์การสร้างเพอร์ซันนอลแบรนด์ ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตนเอง และเป็นต้นทุนต่อยอดไปทำสิ่งต่างๆ”..
สำหรับวิธีสร้างเพอร์ซันนอลแบรนด์คือ..
1. ต้องค้นหาว่าเราเป็นใคร
2. จุดยืนของเราคืออะไร
3. ทำไปทำไม
4. เราต้องการอะไร
5. อะไรที่ทำให้เราแตกต่างจากคนอื่น
และ 6. ทักษะที่เรามีซึ่งต้องนำมาใช้ประโยชน์ได้
โดย ”จักรพงษ์” แนะนำการสร้างเพอร์ซันนอลแบรนด์ว่า ควรเขียน ”วงกลมความคลั่งไคล้หรือแพชชั่น” ซ้อนทับกับวงกลมทักษะ รวมออกมาเป็น ”จุดเด่นหรือสวีตสปอต” ของเรา
จากนั้น ก็บิดหรือทิวให้สร้างความแตกต่าง เช่นแพชชั่นคือ รักการสอน ชอบอ่านหนังสือ ชอบเขียนชอบเล่าเรื่อง กับมีทักษะ ความรู้ดิจิทัล รู้เรื่องมาร์เก็ตติ้ง จุดทับซ้อนสวีตสปอตจึงออกมาเป็นคอนเทนต์มาร์เก็ตติ้ง..
จากนั้นก็บิดสร้างความแตกต่างเป็น ”พีอาร์ ดิจิทัล”
ขณะเคล็ดลับในการทำเพอร์ซันนอลแบรนด์คือต้อง..
1. สร้างออนไลน์พอร์ตโฟลิโอ เช่นเว็บไซต์ บล็อก ให้เสิร์ชหาแล้วต้องเจอเราอันดับแรกๆ
2. ต้องชัดเจนกับตัวเองและทำอย่างสม่ำเสมอ
3. ทำตามกฎพาเรโต้ 80 ต่อ 20 เช่นการสร้างเพอร์ซันนอลแบรนด์ของสื่อมวลชน ในการทวิตข้อความ อาจทวิตข่าว 80% อีก 20% ทวิตความเห็น เพราะคนที่ติดตามเราเขาอยากรู้ว่าสื่อในฐานะใกล้ชิดข้อมูลคิดอย่างไร หรือทวิตสิ่งที่เราชอบ เพราะเขาตามเราที่เป็นเรา
และ 4. ปรับโซเชี่ยลโพสต์ ให้เหมาะกับแต่ละช่องทาง การทำต้องต่อเนื่อง มีผลงานจับต้องได้ ยืนระยะยาว เพื่อให้เกิดการยอมรับว่าเราเป็นตัวจริงในวงการนั้น
หันมองระดับปรมาจารย์วงการบริหารจัดการ ”ปีเตอร์ เอฟ ดรักเกอร์” ได้แนะนำว่า “ในการบริหารจัดการตนเอง ในยุคแห่งการมีโอกาสอยู่มากมายอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน ถ้าคุณมีความทะเยอทะยานและเก่งกล้า คุณก็จะก้าวสู้จุดสูงสุดไม่ว่าจะเป็นอาชีพไหน ซึ่งสาระหลักบริหารจัดการตนเอง ต้องเข้าใจตนเองอย่างถ่องแท้ ไม่ใช่รู้แค่จุดแข็งหรือจุดอ่อนของตนเอง แต่ต้องชัดเจนถึงคุณค่าที่คุณต้องการ ค่านิยมจริยธรรม ต้องเรียนรู้การทำงานร่วมกับคนอื่น และสร้างพลังให้แข็งแกร่ง”
ทั้งนี้ในการหาตัวตนหาจุดแข็งอาจใช้วิธีวิเคราะห์ผลย้อนกลับ (feedback analysis) เช่นในการทำงานใหญ่ จะมีการจดความคาดหวังกับสิ่งที่จะเกิด จากนั้นอีก 9-12 เดือน ลองมาเปรียบเทียบย้อนกลับ ระหว่างผลลัพธ์กับความคาดหวัง แล้วจะพบว่าจุดแข็งของตัวเราคืออะไร และควรปรับปรุงจุดแข็งนั้นอย่างต่อเนื่อง เพราะจุดแข็งเท่านั้นถึงสร้างความสำเร็จ
นอกจากนั้น สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าหาจุดแข็งก็คือ วิธีการทำอย่างไรให้เกิดขึ้น ซึ่งการจะทำให้เกิดขึ้น ก็ต้องย้อนไปดูว่าลักษณะการเรียนรู้ของคนนั้นว่า ชอบแบบไหน เช่นผู้ประสบความสำเร็จบางคน ชอบเรียนรู้ด้วยการอ่าน การฟัง การพูดการประชุมถกเถียง บางคนอาจเรียนรู้ด้วยการจดบันทึก อาทิ บีโธเฟน ที่มีการบันทึกสมุดร่างโน้ตเพลงไว้จำนวนมาก แต่ในการแต่งเพลง กลับไม่เคยนำข้อมูลที่บันทึกนั้นออกมาใช้เลย เพราะการบันทึกทำเพื่อเป็นการเรียนรู้
ดังนั้นในสภาพเศรษฐกิจตกสะเก็ด และเทคโนโลยีเปิดกว้างมากขึ้น สิ่งนี้นับเป็นปัจจัยหนุนให้ผู้รู้จักตัวเองทั้งจุดแข็ง ค่านิยม และวิธีการทำงาน สร้างเพอร์ซันนอล แบรนด์ ให้เป็นรายได้!
โดย-คนฝั่งธนฯ