
การรถไฟฯ เร่งเครื่องรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟส 1 ช่วงกรุงเทพฯ–โคราช ตามนโยบายคมนาคม หวังให้ทันเส้นตายเปิดให้บริการปี 72 กำชับผู้รับเหมาดันงานสัญญา 3-4 และ 3-5 ให้เสร็จตามแผน ขณะที่สัญญา 4-5 จ่อลงนาม ก.ค.นี้ หลังเคลียร์ประเด็นมรดกโลก
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงคมนาคมถึงความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ–นครราชสีมา ที่ก่อนหน้านี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงคมนาคม ได้จัดประชุมติดตามการดำเนินโครงการ และมอบหมายนโยบายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เร่งรัดการดำเนินโครงการเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย

ทั้งนี้ จากภาพรวมการดำเนินโครงการล่าสุด พบว่า มีความคืบหน้าในการก่อสร้าง 45% โดยในส่วนบองงานโยธานั้น รฟท. ได้แบ่งสัญญาก่อสร้างออกเป็น 14 สัญญา มีการก่อสร้างแล้วเสร็จไปแล้ว 2 สัญญา อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 10 สัญญา และเตรียมการลงนามสัญญา 2 สัญญา (สัญญาที่ 4-1 และ 4-5) ส่วนงานระบบรางและการจัดหาขบวนรถอีก 1 สัญญา อยู่ระหว่างการออกแบบ
ทั้งนี้ จากการติดตามความคืบหน้าพบว่า สัญญาที่ค่อนข้างจะมีปัญหามากที่สุด คือ สัญญาที่ 3-5 ช่วงสถานีโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.38 กิโลเมตร มีความคืบหน้าราว 13.35% ล่าช้าไปจากไทม์ไลน์ 30.83% เนื่องจากผู้รับเหมาเข้าพื้นที่ได้เพียง 44% และอยู่ระหว่างการรอการปรับแบบก่อสร้างจากคันทางระดับดินเป็นทางรถไฟยกระดับตลอดช่วง จากสัญญาเดิมที่มีทางรถไฟยกระดับเพียง 5 กม.เศษ ทำให้ค่าก่อสร้างงานส่วนเพิ่ม (งาน VO) เพิ่มขึ้นมากกว่า 30% ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติปรับรูปแบบโครงสร้างก่อนดำเนินการต่อไปโดยยังคงเป้าหมายจะให้แล้วเสร็จภายในปี 2571 เพื่อเปิดให้บริการในปี 2572
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาคณะกรรมการ (บอร์ด) รถไฟได้อนุมัติขยายสัญญา 3-5 ออกไปสิ้นสุดวันที่ 10 มี.ค.2569 ยังไม่รวมช่วงเวลายกเว้นค่าปรับ 521 วัน และระยะเวลาที่ต้องขยายจากการปรับรูปแบบโครงสร้างเพิ่มเติมอีก 36 เดือน
อย่างไรก็ตาม เพื่อเร่งรัดโครงการให้เป็นไปตามแผน รฟท. ได้กำชับให้บริษัทที่ปรึกษาควบคุมงาน (CSC) และผู้รับจ้างให้เร่งดำเนินการก่อสร้างทางชั่วคราว พร้อมทางหลีกและทางเข้าโรงรถจักรและโรงงานนครราชสีมาให้แล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค.2568

สำหรับความคืบหน้าสัญญาที่ 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กม. มีความคืบหน้า 96.79% อย่างไรก็ตาม รฟท. ได้เร่งรัดให้ดำเนินการงานส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จภายในกลางปี 2569 ขณะที่สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ยังไม่ลงนามก่อสร้างเนื่องจากมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแหล่งมรดกโลก กรณีการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา โดยคาดว่า จะสามารถลงนามในสัญญาที่ 4-5 กับบริษัทเอกชนที่เป็นคู่สัญญาคือ บริษัทบุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัดภายในเดือน ก.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สัญญาก่อสร้าง 3-5 ล่วงโคกกรวด-นครราชสีมานั้น กำลังสร้างปัญหาให้กับ รฟท. อย่างหนักเนื่องจากจากการตรวจสอบพบว่า ผู้รับเหมาหลักในโครงการมีการจ้างบริษัทรับเหมาช่วงจากจีนเป็นผู้ดำเนินการและเมื่อมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบโครงการมาเป็นการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับทั้งหมด ทำให้ค่าก่อสร้างงานส่วนเพิ่ม VO สูงกว่า 50% จาก 7,750 ล้าน เป็นกว่า 12,000 ล้านบาท โดยผู้รับเหมาได้เสนอค่างาน VO กว่า 4,790-5,000 ล้านบาท แต่บอร์ดบริหาร (Excom) ของรถไฟให้ความเห็นชอบเงินชดเชยค่างาน VO เพียง 2,000 ล้านบาทเท่านั้น ทำให้ผู้รับเหมาและรับเหมาช่วงเรียกร้องให้ทบทวนตัวเลขชดเชยใหม่ โดยยังคงไม่สามารถตกลงกันได้