ห้าปีที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาล คสช. คนไทยคุ้นชินกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ..
จนเรียกได้ว่า เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเลยก็ได้!
คสช. สลายไปแล้ว มีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ยังถูกนำมาใช้อยู่
เพราะ ”หัวหน้าทีมเศรษฐกิจเป็นคนเก่า คนเดิม” ไม่เปลี่ยนแปลง คือ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 5 ปีเต็ม
เปรียบประเทศเป็นร่างกาย ประเทศไทยที่เจ็บป่วยเป็นไข้เศรษฐกิจเรื้อรัง อาการมีแต่ทรงกับทรุด รักษากับหมอคนเดิมมาห้าปี อาการไม่หายขาดสักที เพราะหมอให้ยาตำรับเดียวกัน ไม่เคยเปลี่ยน คือ..ยาที่ชื่อว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ!
ในช่วงสี่ปีกว่าๆ ของ “รัฐบาล คสช. ใช้งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้ว 2.78 ล้านล้านบาท” เกือบเท่ากับงบประมาณรายจ่ายทั้งปี เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการต่างๆ ตั้งแต่ “การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ช่วยผู้มีรายได้น้อย ผ่านโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สนับสนุน เอสเอ็มอี เพิ่มรายได้เกษตรกร กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ”
ถามว่า เม็ดเงินมหาศาลที่หมดไปกับ การกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัว แข็งแรงขึ้นมาไหม?
คำตอบคือ..ไม่เลย เพราะถ้ามันได้ผลจริง เราคงไม่ต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหมือนคนไข้ที่หมอต้องให้ยาทุกๆ สามชั่วโมง เพื่อประคองอาการ
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุด ใช้เม็ดเงินสูงถึง 3.1 แสนล้าน.. ประกอบด้วย “การใส่เงินเพิ่มให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง สนับสนุนสินเชื่อให้เอสเอ็มอี และกระตุ้นการบริโภค ด้วยการแจกเงินประชาชน 10 ล้านรายๆ ละ 1 พันบาท ให้ไปเที่ยวในจังหวัดต่างๆ “
รองนายกรัฐมนตรี “สมคิด” อ้างเหตุผลความจำเป็นที่ต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบนี้ ว่า เพื่อรับมือกับเศรษฐกิจถดถอย ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้การส่งออกต่ำกว่าเป้าหมาย
แสดงว่า “เศรษฐกิจไทยในช่วงสี่ห้าปีมานี้ ที่รัฐบาลใช้งบกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้วเกือบ 3 ล้านล้านบาท ไม่เข้มแข็ง ไม่มีภูมิต้านทาน เมื่อได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกจึงเอาไม่อยู่ ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจกันไปเรื่อยๆ”
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นสิ่งจำเป็น มีประโยชน์ แต่ไม่ยั่งยืน จึงต้องใช้เท่าที่จำเป็น เพื่อแก้ปัญหาช่วงสั้นๆ หากใช้บ่อยๆ ใช้อย่างต่อเนื่อง เลิกไม่ได้ แสดงว่า ไม่ได้ผล
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านมา ทำให้ตัวเลขจีดีพี รายไตรมาส และประจำปีดีขึ้นเท่านั้น
แต่ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง ประชาชนส่วนใหญ่มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน ดังเช่น การกระตุ้นเศรษฐกิจเที่ยวนี้ ที่มีเป้าหมายว่า จะฉุดจีดีพีในสองไตรมาสที่เหลือให้สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้จีดีพีของปีนี้ ขยายตัวถึง 3%
การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ไม่มีอะไรดีขึ้น เพราะว่า “ยังใช้ยาตำรับเดิม”
ตำรับเดียวคือ “มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่เคยลองใช้ยาตำรับใหม่” เพราะคนที่รับผิดชอบในการรักษายังเป็นคนเดิม
ถึงเวลาเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจได้รึยัง?