รายงานภาวะทางสังคมไตรมาส 2 ปี 2562 ที่สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เผยแพร่เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา
อ่านแล้วต้องยกมือลูบอก เพราะอาการตกใจล้นออกมา หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ไตรมาสหนึ่งปี 2562 หนี้สินครัวเรือนเท่ากับ 13.0 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่องร้อยละ 6.3 คิดเป็น 78.7 ของจีดีพีสูงสุดในรอบ 9 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2560
โดยหนี้ครัวเรือน ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปี 2560 เป็นต้นมา ไตรมาสสองปีนี้ แนวโน้มก็ปรับเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะภาพรวมของสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นสูงถึง ร้อยละ 9.2
ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 11.3 สูงสุดในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่ไตรมาสสี่ปี 2558 เป็นต้นมา
ส่วนยอดคงค้างสินเชื่อ เพื่อที่อยู่อาศัย และรถยนต์ขยายตัวร้อยละ 7.8 และร้อยละ 10.2 ชะลอลงจากร้อยละ 9.1 และร้อยละ 11.4 ในไตรมาสก่อน
ภาพโดยรวมสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มสูงขึ้นโดยยอดหนี้คงค้างที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอล เพื่อการอุปโภคในไตรมาสสองปี 2562 มีมูลค่า 127,439 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.74 ต่อสินเชื่อรวม และร้อยละ 2.75 ต่อ NPLs รวม
ยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสินเชื่อรถยนต์และบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งที่ร้อยละ 32.3 และร้อยละ 12.5 เช่นเดียวกับสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และสินเชื่อบัตรเครดิตที่มียอดค้างชำระ เกิน 3 เดือนขึ้นไปที่กลับมาขยายตัวอีกครั้ง
ทำให้เชื่อว่าแนวโน้มสินเชื่อครัวเรือนในช่วงครึ่งหลังของปี คาดว่าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจะชะลอตัวลง จากครึ่งปีแรกเนื่องจากความต้องการที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มลดลง และความเข้มงวดในการปล่อยกู้ของสถาบันการเงิน แต่คุณภาพของสินเชื่อมีแนวโน้มด้อยคุณภาพมากขึ้น จากการก่อนหน้าที่ธนาคารพาณิชย์แข่งขันในการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์แบบผ่อนปรน
เมื่อรวมกับการให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในวงเงินสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง ทำให้ผู้กู้ได้เงินสดมาใช้จ่ายมากขึ้น ในช่วงที่ผ่านมาภาครัฐได้ดำเนินมาตรการกำกับดูแลการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ของหนี้สินครัวเรือน และสร้างโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อสำหรับผู้มีรายได้น้อยไปพร้อมกัน
ปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยยังไม่มีมาตรการที่เข้มงวด เพื่อสกัดกั้นปัญหาทำให้ความน่ากังวลใจมีเพิ่มขึ้นเรื่อย “เมื่อมองภาพรวมของเศรษฐกิจของประเทศ ที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมีอัตราเฉลี่ยที่ลดลงเรื่อย ๆ”
นอกจากเศรษฐกิจที่มีอัตราการเติบโตที่ลดลงแล้ว “สังคมไทยยังมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคมและรายได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ”
จะยิ่งเพิ่มทำให้หนี้สินครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น “เพราะรายได้ของคนลดลง แต่ค่าใช้จ่ายสวนทางกัน ประกอบกับค่านิยมของคนไทยที่ฟุ้งเฟ้อเพิ่มมากขึ้น”
มีแต่เพียงเสียงคำเตือน แต่ยังไม่เห็นว่าจะมีหน่วยงานไหนเข้ามารับผิดชอบเพื่อวางแนวทางในการแก้ปัญหา เพราะ”หนี้สินครัวเรือนเพิ่มง่าย แต่ลดลงได้ยาก” เมื่อความร่ำรวยทางการเงินของคนไทยลดลงเรื่อย ๆ
ขณะที่ ”รัฐบาลก็พยายามโอบอุ้มประชาชนรากหญ้า ให้แบมือขอ โดยไม่มีวิธีสอนการทำมาหากิน” ใส่เงินไปจนรัฐบาลล้มละลาย ก็แก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนไม่ได้
นอกจากนักการเมืองและรัฐบาลจะได้เพียงฐานเสียงเพื่อไปกอบโกยเอาวันข้างหน้า
แต่คนไทยตาดำ ๆ หาเช้ากินค่ำ ก็จะต้องทนกับปัญหานี้ไปจนตาย!