หัวใจของคนไทยยามนี้...ยังจะเดินทางท่องเที่ยวได้สนุกอีกไหม?
เมื่อเพื่อนร่วมชาติในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคอีสาน “โฟกัส” ไปยังจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งหลายพื้นที่ยังคง “จมน้ำ” สร้างปัญหาและความเดือดเนื้อร้อนใจแก่เกษตรกรและชาวบ้านอย่างแสนสาหัส
แม้ “อุตตม สาวนายน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยผู้บริหารส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น “สุทธิรัตน์ รัตนโชติ” อธิบดีกรมบัญชีกลาง, ”ลวรณ แสงสนิท” ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) “ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ ”ผยง ศรีวณิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ที่ได้ร่วมกันแถลงข่าวเพื่อเป็นการยืนยันถึงความพร้อมของมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ “ชิมช้อปใช้” เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา โดยได้เกริ่นนำร่องก่อนเข้าสู่การสร้างความมั่นใจให้กับภาคธุรกิจและประชาชน ทำนอง..
“รัฐบาลไม่ได้ทอดทิ้งเกษตรและผู้ที่ประสบปัญหาอุทกภัย เนื่องจากบางมาตรการในชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลนั้น มีการดูแลเกษตรกรและผู้ประสบภัยธรรมชาติรวมอยู่แล้ว” นายอุตตม ระบุ
ทว่า..ความรู้สึกร่วมของคนไทย ก็คงต้องมีกันบ้าง...ที่รู้สึก “สลดและหดหู่หัวใจ!” เมื่อต้องใช้เงินภาษีที่ได้รับ 1,000 บาท จากมาตรการข้างต้น ไป “ชิมช้อปใช้” ท่ามกลางภาวะ “น้ำตาและความเดือดร้อน” ของเพื่อนร่วมชาติอีกนับล้านคน และพื้นที่เสียหายมากกว่า 1 แสนไร่
หากดูจากข้อเท็จจริง! ต้องยอมรับว่า...รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสำคัญและใส่ใจต่อการจะช่วยเหลือและเยียวยา “ผู้ประสบภัยธรรมชาติ” ในระดับ “น้อยถึงน้อยมาก”
ที่ผ่านมา คงปล่อยให้เป็นหน้าที่ของส่วนราชการที่จะต้องเข้าไปแก้ไขปัญหากันเอง
ต่างจากรัฐบาลที่ประชาชนเลือกกันเข้ามา เพราะในอดีต มันได้พิสูจน์ให้เห็นชัดแล้วว่า...เมื่อเกิดพิบัติธรรมชาติใดๆ ขึ้นมาแล้ว ตัวผู้นำรัฐบาล และคณะรัฐมนตรี จะต้องรวมตัว สร้าง “วอรูม” เข้ามาแก้ไขปัญหาร่วมกัน แบบรวมศูนย์และบูรณาการความร่วมมืออย่างเป็นระบบ
หยุดภารกิจอื่นๆ โดยสิ้นเชิง! และตัวนายกรัฐมนตรีเอง ก็จะต้องลงพื้นที่ไปสร้างขวัญและกำลังใจให้กับชาวบ้านและประชาชนที่เดือดร้อน โดยที่ไม่ไปมือเปล่า...แต่ยังเอางบประมาณ สิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น แพทย์และพยาบาล และอุปกรณ์การแพทย์ รวมถึงแผนงานช่วยเหลือในระยะต่างๆ ที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับผู้ทุกข์เข็ญ
แต่คนไทยไม่เห็นสิ่งนี้...จากรัฐบาล!
จนมีเสียงกร่นด่ากันทั่วบ้านทั่วเมืองนั่นแหละ จึงได้เห็นแนวทางการจะเข้าไปแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับคนไทยกลุ่มนี้ แต่มันก็ช้าไปแล้ว...เพราะหลายภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชน และภาคประชาชนด้วยกันเอง ได้เข้าไปเยียวยาและบรรเทาทุกข์เข็ญกันไปบ้างแล้ว
ลึกและร้ายกว่านั้น คือ การที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งดูแลปัญหาน้ำทั้งระบบของประเทศ กลับไม่ทำหน้าที่ของตัวเอง เพราะแทนที่จะส่งสัญญาณเตือนให้ชาวอุบลราชธานี ระวัง! ปัญหาน้ำท่วมหนัก หลังจากสิ่งนี้ได้ก่อตัวและเริ่มสร้างความเสียหายให้กับจังหวัดทางตอนบนของจังหวัดอุบลราชธานีไปก่อนหน้านี้ แถมยังจะมีพายุจ่อกระหน่ำตามมาอีก จนทำให้หลายพื้นที่ของจังหวัดแห่งนี้ “จมน้ำ” ไปอย่างที่เห็นกัน
หาก สทนช. ที่ขึ้นตรงกับ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ทำหน้าที่ตัวเอง มากกว่าจะมัวสนใจแต่เรื่อง “จัดทำโครงการใหญ่ๆ เพื่อรอการประมูลสร้าง” แล้วหันไปเร่งส่งสัญญาเตือนพี่น้องชาวอุบลราชธานี ปัญหาคงจะไม่รุนแรงมากถึงเพียงนี้
และคงไม่มีปรากฏการณ์ “ฮีโร่” ประเภท...พระเอกตัวจริง อย่าง “บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์” ให้ใครบางคน? ในรัฐบาลชุดนี้ ต้องเกิดอาการ “หัวร้อน” และ “ตาร้อน” อย่างแน่นอน
กลับสู่มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ “ชิมช้อปใช้” ของรัฐบาล ที่ “อุตตม” และ 4 ผู้บริหารระดับสูงจาก “กรมบัญชีกลาง – สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง - ททท. - ธนาคารกรุงไทย” ต่างยืนยันความพร้อมทุกระบบงาน อุปกรณ์และเทคโนโลยีที่มี ฯลฯ
รวมถึงการจัดหาร้านค้าเข้าร่วมโครงการ ซึ่งถึงตอนนี้มีร้านค้าสมัครเข้าร่วมโครงการเกินกว่าเป้าหมายเดิมที่ 40,000 แห่ง จนยอดทะลุเกิน 55,000 แห่งไปแล้ว และมีแนวโน้มว่า...จะมีร้านค้าเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นตามมาอีกแน่นอน เนื่องจากไม่มีใคร “อยากตกขบวน” โกยเงินภาษีจากมาตรการ “ชิมช้อปใช้”
“หากทุกฝ่ายร่วมแรงร่วมใจกันแล้ว มาตรการดังกล่าว รวมถึงมาตรการอื่นๆ ในชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการให้สินเชื่อจากสถาบันการเงินของรัฐ ก็จะมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศได้ในระดับที่น่าพอใจ หลังจากภาพใหญ่ของเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาสงครามการค้าของชาติมหาอำนาจ ทั้งนี้ ยังเชื่อว่าหากเครื่องมือและกลไกต่างๆ เดินไปตามที่วางแผนไว้ เม็ดเงินที่จะไหลเข้าสู่ระบบ และมีการหมุนเวียนเปลี่ยนมือไม่ต่ำกว่า 3-4 แสนล้านบาทนั้น ก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี โดยยืนยันว่ามาตรการ “ชิมช้อปใช้” ไม่มีส่วนของการเรียกเก็บภาษีแต่อย่างใด” รมว.คลังระบุ
สำหรับมาตรการ “ชิมช้อปใช้” นั้น รัฐบาลได้จัดแบ่งเนื้องานเป็น 2 ออปชั่น แยกเป็น..
1. โอนเงิน 1,000 บาทเข้ากระเป๋าเงินออนไลน์ ซึ่งผู้ที่อยากได้รับสิทธิ์นี้ จะต้อง “สมัครลงทะเบียน” ยืนยันตัวตน และระบุจังหวัดที่จะไปท่องเที่ยวกันเสียก่อน จากนั้น ก็ทำการ “ดาวน์โหลด” แอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” เพื่อการรับเงินโอนจากระบบ G Wallet ของรัฐบาลต่อไป ทั้งนี้ วันที่ได้รับการยืนยันสิทธิ์ข้างต้นแล้ว จะต้องใช้จ่ายในจังหวัดที่ลงทะเบียน และใช้จ่ายภายในเวลา 14 วันหลังจากนั้น
ตรงนี้ “สำนักข่าวเนตรทิพย์ ออนไลน์” มีข้อแนะนำ คือ หากใครที่ไม่ต้องการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดไกลๆ ควรเลือกจังหวัดใกล้ๆ เช่น บ้านพักในบัตรประชาชนอยู่ในกรุงเทพฯ ก็อาจลงทะเบียน แล้วเลือกจังหวัดในพื้นที่ปริมณฑล เพื่อให้ง่ายต่อการเดินทางไปใช้สิทธิ์
ทั้งนี้ จะเลือกใช้สิทธิ์เพื่อการท่องเที่ยว หรือซื้อหาสิ่งของเครื่องใช้จำเป็น อาทิ ข้าวสาร อาหารแห้ง เครื่องปรุงรส และอื่นๆ ที่ควรจะมีในครัว หรือเลือกซื้ออุปกรณ์ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ฯลฯ ทำได้หมด เพียงแต่ต้องทำ (ซื้อ) กับร้านที่มีตราสัญลักษณ์ “ชิมช้อปใช้” ติดหราอยู่หน้าร้านเท่านั้น
และ 2. สิทธิ์ในการรับคืนเงินสดเข้าแอปฯ “เป๋าตัง” อีก 15% ของวงเงินที่ใช้จ่ายในมาตรการ “ชิมช้อปใช้” ซึ่งสิทธิ์ในขั้นนี้ ผู้ใช้สิทธิ์ จะต้องโอนเงินจากบัญชีในธนาคารที่ตัวเองมี เข้าไปเก็บไว้ในแอปฯ “เป๋าตัง”
ข้อแนะนำจาก “สำนักข่าวเนตรทิพย์ ออนไลน์” คือ ในเมื่อรัฐบาลจะคืนเงินที่ใช้ในออปชั่นที่ 2 จำนวน 15% แต่ไม่เกิน 4,500 บาทแล้ว ก็ไม่ควรจะโอนเงินจากบัญชีธนาคารฯ เกินกว่ายอด 30,000 บาท เพราะหากวงเงินเกินกว่านั้น จะไม่ได้รับสิทธิ์ คืนเงิน 15% จากรัฐบาลแต่อย่างใด
สำหรับสิทธิ์แรก คือ การรับเงิน 1,000 บาทนั้น ยังมีข้อแนะนำเพิ่มเติม คือ หากใครที่ไม่ต้องการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดที่ห่างไกล จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ควรจะเลือกจังหวัดใกล้ๆ เช่น บ้านพักในบัตรประชาชนอยู่ที่กรุงเทพฯ ก็อาจลงทะเบียนเลือกจังหวัดในพื้นที่ปริมณฑลหรือจังหวัดใกล้เคียง เพื่อให้ง่ายต่อการเดินทางไปใช้สิทธิ์
ทั้งนี้ จะเลือกใช้สิทธิ์เพื่อการท่องเที่ยว หรือซื้อหาสิ่งของเครื่องใช้จำเป็น อาทิ ข้าวสาร อาหารแห้ง เครื่องปรุงรส และอื่นๆ ที่ควรจะมีในครัว หรือเลือกซื้ออุปกรณ์ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ฯลฯ ทำได้หมด เพียงแต่ต้องทำ (ซื้อ) กับร้านที่มีตราสัญลักษณ์ “ชิมช้อปใช้” ติดหราอยู่หน้าร้านเท่านั้น
หรือถ้าจะให้ดี ก็ควรวางแผนก่อนเดินทางไปใช้เงิน 1,000 บาท โดยการตรวจเช็ค “แผนที่ร้านค้า” ที่เข้าร่วมโครงการในจังหวัดนั้นๆ เลือกดูเฉพาะจังหวัดที่เราลงทะเบียนเอาไว้ โดยเปิดดูเอาจากเว็บไซต์ www.ชิมช้อปใช้.co.th ได้เลย
ง่ายกว่านั้น เมื่อเราไปถึงจังหวัดที่ลงทะเบียนเอาไว้ แล้วนึกอะไรไม่ออก ว่าควรจะใช้จ่ายอะไร? อย่างไร? ที่ไหน? ก็ให้เปิดไปที่ www.ชิมช้อปใช้.co.th แล้วกดเข้าไปดูที่หัวข้อ “ร้านค้าใกล้ฉัน” มันจะบอกหมดถึงร้านค้าที่เข้าร่วมมาตรการฯ ว่า มีร้านค้าที่อยู่ใกล้ๆ ตัวเรา (ขณะที่เปิดเว็บไซต์ฯ) อยู่ที่ไหน? อะไรบ้าง? แยกกลุ่มชัดเจนกันเลย ว่าเป็นร้านค้าในกลุ่มใด?
จะเป็น “กลุ่มชิม” (ร้านอาหาร/ภัตตาคาร) “กลุ่มช้อป” (ร้านค้า/ห้างสรรพสินค้า) หรือกลุ่มใช้ (โรงแรม/สถานบริการและอื่นๆ) เว็บไซต์ที่ทีมงานของธนาคารกรุงไทย...จัดทำและเตรียมเอาไว้ให้หมดแล้ว
ข้อเสียของออปชั่น รับเงิน 1,000 บาท คือ การที่ต้องลงทะเบียนเลือกจังหวัดที่จะไปใช้เงินเสียก่อน ซึ่งจังหวัดที่เลือกนั้น จะต้องไม่ตรงกับจังหวัดที่ปรากฏในบัตรประชาชน และจะต้องใช้ภายในเวลา 14 วัน หลังจากได้รับการยืนยันถึงสิทธิ์นี้แล้วเท่านั้น
ตรงนี้ มีข้อดี ที่ “สำนักข่าวเนตรทิพย์ ออนไลน์” จะแนะนำคือ เราสามารถใช้ “บาทแรก” ในช่วง 14 วัน เพื่อรักษาสิทธิ์ ที่จะใช้เงินส่วนที่เหลือต่อไปได้จนถึงสิ้นสุดโครงการ คือ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2562 เรียกว่า...ใช้เงินที่ได้มาไปบ้าง เพื่อรักษาและยืดระยะเวลาการใช้สิทธิ์ออกไปให้เต็มพิกัด
(อ่านต่อตอนจบ)