ส่วนออปชั่นที่ 2 คือ สิทธิ์รับคืนเงิน 15% นั้น ข้อดีคือ ใช้ได้ทั้ง 76 จังหวัด ยกเว้น! จังหวัดที่ระบุอยู่ในบัตรประชาชนเท่านั้น และหากยังไม่เสียสิทธิ์ เพราะมีการใช้เงินในออปชั่นแรก 1,000 บาท ภายในช่วงเวลา 14 วันแล้ว สิทธิ์รับเงินคืน 15% ก็จะยังคงอยู่จนสิ้นสุด วันที่ 30 พฤศจิกายน 2562 เช่นกัน
ตรงนี้ “สำนักข่าวเนตรทิพย์ ออนไลน์” ขออธิบายเพิ่มเติม คือ เมื่อเราจะใช้สิทธิ์นี้ จะต้องโอนเงินจากบัญชีธนาคารที่เรามีไปเก็บในแอปฯ “เป๋าตัง” เสียก่อน ก็อย่างที่บอกนั่นแหละ ควรโอนเงินเข้าไปเก็บไม่เกิน 30,000 บาท เมื่อมีการใช้จ่ายผ่านร้านค้าที่มีตราสัญลักษณ์ “ชิมช้อปใช้” แล้ว
รัฐบาลจะโอนเงินคืนกลับในวันรุ่งขึ้น (T+1) ในจำนวน 15% ของวงเงินที่ใช้จ่าย (แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 4,500 บาท) เงินที่ได้รับกลับคืนมา แม้จะอยู่ในแอปฯ “เป๋าตัง” เหมือนกัน แต่แยกส่วนกันอยู่กับวงเงิน 1,000 บาทที่รัฐบาลให้มา
ที่ทำเช่นนี้ เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบวงเงินที่เหลือว่า...ในออปชั่น 1 ใช้ไปเท่าไหร่? และเหลืออยู่เท่าไหร? ส่วนออปชั่นที่ 2 เพื่อดูว่า...เงินที่เราโอนเข้าไป ใช้ไปเท่าไหร่? เหลืออยู่เท่าไหร่? และมีเงินที่รัฐบาลโอนคืนกลับมา (15%) อีกเท่าไหร่?
สำคัญกว่านั้น คือ กระเป๋าเงินใน ออปชั่นที่ 2 นี้ เราจะเก็บเอาไว้ใช้ต่อไป แม้ว่ามันจะจบโครงการไปแล้วก็ได้ หรือจะเลือกโอนเงินคืนกลับมายังบัญชีธนาคาเดิมของเรา...ก็สามารถทำได้เช่นกัน
ยอมรับว่า...ระบบงานและเทคโนโลยีที่ธนาคารกรุงไทยสร้างไว้นั้น เจ๋งมากๆ ขนาด ”พยง ศรีวณิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ฯ โอ่เองทำนองว่า...
“ขอยืนยันว่า ระบบงานต่างๆ ที่นำมาใช้ เป็นการต่อยอดจากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเกี่ยวข้องกับประชาชนมากถึงกว่า 14 ล้านคน เป็นเครื่องพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีถึงความพร้อมของระบบงานและเทคโนโลยีที่นำมาใช้ เนื่องจากมีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่สูงในระดับเดียวกับที่สถาบันการเงินชั้นนำใช้กัน ขณะเดียวกัน ก็มีการแยกระบบงานของมาตรการข้างต้น ออกจากระบบงานปกติของธนาคารฯเพื่อป้องกันปัญหาที่หลายฝ่ายอาจเป็นกังวลใจได้
ทั้งนี้ เพื่อเป็นช่วยเหลือกลุ่มคนที่อาจไม่ถนัดในเรื่องเทคโนโลยีและการใช้สมาร์ทโฟนเพื่อการลงทะเบียนฯ ดังนั้น ผมจึงสั่งการและประสานไปยังสาขาต่างๆ ของธนาคารกรุงไทยทั่วประเทศ ให้เตรียมความพร้อมรองรับประชาชนที่ต้องการจะเจ้าหน้าที่ของธนาคารฯ ทำการลงทะเบียนให้แล้ว โดยเรื่องนี้ มีการเตรียมการและประสานงานไปแล้วก่อนหน้านี้ เชื่อว่าสาขาของธนาคารกรุงไทยทุกแห่ง พร้อมจะให้ความช่วยเหลือแก่ทุกคนอย่างเต็มที่”
ขณะที่ อธิบดีกรมบัญชีกลาง ระบุว่า การเปิดรับร้านค้าเข้าร่วมโครงการฯยังคงเปิดรับต่อเนื่องจนถึงวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ และอาจเป็นไปได้ที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะพิจารณาขยายเวลาออกไป หากความต้องการของร้านค้ายังคงมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จำนวนร้านค้ามากกว่า 55,000 รายที่เข้าร่วมมาตรการฯนั้น แยกเป็นร้านช้อปราว 48%, ร้านใช้อีก 47% ที่เหลือ 5% เป็นประเภทร้านใช้ โดยมาตรการดังกล่าว กำหนดสิทธิ์การใช้จ่ายวงเงิน 1,000 บาท ในจังหวัดที่ลงทะเบียนไว้ ภายใน 14 วัน หลังการลงทะเบียนและได้รับการยืนยันแล้ว แต่หากมีการใช้จ่ายบางส่วน เงินที่เหลือสามารถนำไปใช้ในวันต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดโครงการที่30 พ.ย.62 ซึ่งในส่วนของร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ จะต้องดาวน์โหลดแอปฯ “ถุงเงิน” รองรับการใช้จ่ายของประชาชน ผ่านแอปฯ “เป๋าตัง”
ขณะที่ ผู้ว่าการ ททท. กล่าวเสริมว่า ในส่วนของร้านค้า ถือว่า มีร้านค้าขนาดใหญ่ ที่มีชื่อเสียง และมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าในกลุ่มชิม ช้อป หรือใช้ ก็ตาม ซึ่ง ททท.เอง ได้ประสานกับกรมบัญชีกลาง โดยให้รายชื่อของร้านค้าชั้นนำ เพื่อให้ประสานดึงเข้ามาร่วมโครงการ ทั้งนี้ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ฝากบอกคนไทยว่า ทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯเอง ก็พร้อมจะสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยว ผ่านกิจกรรมต่างๆ ในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย
ด้าน ผอ.สศค.กล่าวว่า หากประชาชนให้ความสนใจ จนมีการลงทะเบียนเต็มจำนวน 10 ล้านคนที่กำหน กระทรวงการคลังก็พร้อมจะเปิดรับต่อไปเรื่อยๆ ในฐานะ “wating list” (รายชื่อของคนที่รอคิว) โดยจะพิจารณาหลังจากมีการลงทะเบียนในวันแรก และรอดูต่อไปอีก 14 วัน หากคนเหล่านี้ ถูกตัดสิทธิ์เพราะไม่ได้ทำตามเงื่อนไขที่กำหนด ก็จะเลื่อนรายชื่อ wating list ขึ้นมาตามลำดับ ทั้งนี้ ในส่วนของเม็ดเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการ “ชิมช้อปใช้” คนละ 1,000 บาท รวม 10 ล้านคน คิดเป็นมูลค่า 10,000 ล้านบาทนั้น ขณะนี้ อยู่ระหว่างรอโอนเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย โดยจะทยอยโอนในทุกๆ วัน
หันมาดูซีกของร้านค้าที่จะเข้าร่วมมาตรการดังกล่าวนั้น หลังจากกรมบัญชีกลางและธนาคารกรุงไทย ได้ดำเนินมาตรการเชิงรุก! จนได้เข้ามาร่วมมาตรการฯ เกินความคาดหมายของกระทรวงการคลังแล้วนั้น สิ่งแรกที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ย้ำหนักแน่นให้รับรู้ก็คือ...
ไม่มีเรื่องของภาษีและรัฐบาลจะไม่จัดเก็บภาษีในส่วนที่เกี่ยข้องกับเงินที่ได้รับจากมาตรการ “ชิมช้อปใช้” อย่างแน่นอน
ได้ยินแล้ว...ร้านค้าที่เข้าร่วมมาตรการฯทั้งรายใหม่ 55,579 ราย และรายเก่า (ธงฟ้าประชารัฐ) อีก 80,000 ราย รวมกว่า 1.35 แสนร้านค้าทั่วประเทศไทย คงสบายใจกันได้
ที่ต้องทำคือ ร้านค้าเหล่านี้ โดยเฉพาะรายใหม่ จะต้องดาวน์โหลดแอปฯ “ถุงเงิน” เพื่อนำมาใช้เคียงคู่กับแอปฯ “เป๋าตัง” ของลูกค้าที่ผ่านเข้ามาซื้อหาสินค้าและบริการจากร้านค้า และทั้งรายเก่า-ใหม่ จะต้องติดป้ายสัญลักษณ์ “ชิมช้อปใช้” ไว้ที่หน้าร้าน หรือจุดที่เห็นได้ง่ายที่สุด เพื่อบอกให้ลูกค้าและนักท่องเที่ยวในมาตรการฯ ทราบว่า...เขาควรจะเข้ามาใช้บริการหรือไม่? อย่างไร?
ณ นาทีนี้ (วันที่ 18 กันยายน) อธิบดีกรมบัญชีกลาง ระบุว่า มีผู้ประกอบการร้านค้าทั่วประเทศสมัครเข้าร่วมมาตรการฯแล้ว 55,579 ราย แยกเป็นร้านประเภทชิม 26,321 ร้านค้า ประเภทช้อป 26,576 ร้านค้า และประเภทใช้ 2,682 ร้านค้า ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เพิ่มขึ้น และเมื่อรวมกับร้านค้าธงฟ้าประชารัฐที่มี App ถุงเงินเดิมอยู่แล้วกว่า 50,000 ร้านค้า
โดย ธนาคารกรุงไทยฯ ได้อัพเดท App ถุงเงินเวอร์ชั่นใหม่ให้อัตโนมัติ และร้านค้าประชารัฐที่ติดตั้งเครื่อง EDC กว่า 30,000 รานค้า ธนาคารกรุงไทยได้อัพเดทข้อมูลให้สามารถดาวน์โหลด App ถุงเงินได้ทันที ทำให้ยอดรวมร้านค้าที่เข้าร่วมมาตรการฯ ในตอนนี้มีจำนวนกว่า 135,000 ราย ซึ่งมีความหลากหลายและเพียงพอต่อการจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการของประชาชนจำนวน 10 ล้านคนที่จะมาลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการฯ ในวันที่ 23 ก.ย.62 อย่างแน่นอน
สิ่งที่ “สำนักข่าวเนตรทิพย์ ออนไลน์” อยากบอกและตอกย้ำ ก็คือ...เรื่องพิบัติภัยธรรมชาติ เป็นสิ่งที่คนไทยทุกคน รู้จะเสียใจ ไม่อยากเห็นและไม่อยากให้มันเกิดขึ้นมา แต่เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว ก็ต้องช่วยเหลือกันไปเท่าที่คนไทยด้วยจะพอมีกำลัง
เรื่องที่รัฐบาลจะ “ดูดำดูดี” กับชาวบ้านที่เดือดร้อนแสนสาหัสแค่ไหน? คนไทยได้เห็นก็รู้กันเอง...ไม่ต้องพูดให้มากความ “เหนื่อยและเจ็บคอ!”
แต่กับมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ “ชิมช้อปใช้” ที่คิดกันมาหลายเดือน ก่อนหน้าจะเกิดเหตุน้ำท่วมภาคอีสานและจังหวัดอุบลราชธานีนั้น
“สำนักข่าวเนตรทิพย์ ออนไลน์” ไม่อยากให้คนไทยเอามาผสมปนเปกัน เพราะถึงอย่างไร? คนไทย...ไม่ว่าจะยากดีมีจน จะจมน้ำหรืออยู่ดีมีสุข ต่างก็มีสิทธิ์เป็น 1 ในคน 10 ล้านคน ที่จะได้รับสิทธิ์ในการรับเงิน 1,000 บาท และสิทธิ์รับคืนเงิน 15% เหมือนกัน
หากปฏิเสธ...ไม่ยอมรับสิทธิ์ เพราะสงสาร “คนจมน้ำ (ท่วม)” สิทธิ์นั้น...
ก็จะตกเป็นของคนอื่นๆ ที่มีสัญชาติไทย และมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ (ในวันลงทะเบียน) ขึ้นไป
ที่สำคัญ การไม่ใช้สิทธิ์ ไม่น่าจะมีผลต่อการช่วยเหลือและเยียวยาเพื่อนพี่น้องคนไทยที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ในทางกลับกัน...สู้รับสิทธิ์นี้ แล้วนำเงินที่ได้ ไปจับจ่ายใช้สอยหาซื้อสินค้าและของใช้จำเป็น “ส่งไปช่วยเหลือ” พี่น้องที่กำลังประสบภัย...ไม่ดีกว่าหรือ?
เอาเป็นว่า...ถ้าสนใจรับสิทธิ์นี้ หลังเที่ยงคืนของวันอาทิตย์ที่ 22 กันยายนที่จะถึงนี้ (ล่วงเข้าสู่วันใหม่ / วันจันทร์ที่ 23 กันยายน 2562) ให้เตรียม...บัตรประชาชน สมาร์ทโฟนที่มีสัญญาอินเตอร์เน็ต และคอมพิวเตอร์พีซี หรือโน้ตบุ๊ก (ถ้ามี) ได้เลย 00.01 นาฬิกาของวันใหม่...ระบบจะเปิดให้คนไทย 1 ล้านคนแรก (กำหนดไว้ไม่เกินวันละ 1 ล้านคน) ได้ทำการลงทะเบียน
คนที่มีความรู้และเข้าในระบบการลงทะเบียนออนไลน์ สามารถช่วยลงทะเบียนให้กับคนอื่นๆ ได้ เพียงแต่คนอื่นๆ คนนั้น จะต้อง
1.เป็นคนสัญชาติไทย
2.มีบัตรประชาชน
3.มีสมาร์ทโฟนพร้อมอินเตอร์เน็ต (เพราะจะมีการส่งรหัสลับเฉพาะบุคคล กลับมายังสมาร์ทโฟนของเจ้าตัว ที่ได้แจ้งลงทะเบียนเอาไว้)
จากนั้น...เราก็มาร่วมเป็น 10 ล้านคนไทย ที่ได้ใช้เงินจากภาษีแผ่นดิน วงเงิน 1,000 บาท และสิทธิ์รับคืนเงิน 15% (รวมกันไม่เกิน 4,500 บาท) จากรัฐบาล...เพื่อการท่องเที่ยวผ่านมาตรการ “ชิมช้อปใช้” ไปด้วยกัน!!!.