ไม่ต้องคาดไม่ต้องเดา ก็เปิดถ้วยแทงถูก
กับคำตอบโครงการประมูลให้เอกชนเข้ารับสิทธิ์ ดำเนินการร้านค้าปลอดอากร (Duty free) 4 สนามบินและสิทธิ์บริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ที่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ยังคงประกาศเดินหน้าเปิดประมูลไปตาม ”ไทม์ไลน์” ที่วางไว้
กำหนดเปิดขายซองข้อเสนอทีโออาร์ 19 มีนาคม-1 เมษายน ชี้แจงเงื่อนไขประมูลวันที่ 2 เมษายน และเปิดให้เอกชนเข้ายื่นข้อเสนอวันที่ 10 เมษายน และเปิดซองข้อเสนอราคาได้ผู้ชนะประมูลแบบ ”ม้วนเดียวจบ” ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 ก่อนสัญญาเดิมจะสิ้นสุดลงวันที้ 27 กันยายน 2563
“ปิดดีล”ล่วงหน้าไม่มากไม่มายแค่ 1 ปี 6 เดือน !
แม้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯจะมีคำสั่งให้กระทรวงคมนาคม และ ทอท.ทบทวนการดำเนินโครงการดังกล่าวและหาทางปรับปรุงรูปแบบการให้สัมปทานให้เกิดความโปร่งใสไม่ก่อให้เกิดการผูกขาด โดยให้คำนึงถึงข้อท้วงติงของสังคมและทุกภาคส่วน
แต่ นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง กลับออกมาประกาศ ”สวนหมัด” ยืนยันจะดำเนินการไปตามไทม์ไลน์ที่วางไว้ พร้อมยืนยัน ทั้งสองโครงการดังกล่าวไม่เข้าข่ายโครงการที่ต้องดำเนินการตาม พรบ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 (พรบ.พีพีพีใหม่) ที่เพิ่งประกาศใช้
“การนำพื้นที่หรือทรัพย์สินบางส่วนของ ทอท. ออกมาให้เอกชนประมูลนั้น ไม่เข้าข่ายที่จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข พ.ร.บ.ร่วมลงทุนปี 2562 แต่อย่างใด เนื่องจาก พ.ร.บ.ร่วมทุนฯดังกล่าว จะบังคับเกี่ยวกับการลงทุนในกิจการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น อาทิ การก่อสร้างรถไฟ การสร้างเขื่อน การสร้างถนน การสร้างทางด่วน เป็นต้น แม้สนามบินจะถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ หากไม่มีดิวตี้ฟรี ก็ไม่กระทบต่อการให้บริการของสนามบิน เครื่องบินยังบินขึ้นลงได้ตามปกติ เพราะฉะนั้น ก็ไม่เข้าข่ายเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพราะไม่ได้กระทบต่อการบริการของสนามบิน มีหรือไม่มีดิวตี้ฟรี สนามบินก็ให้บริการได้”
ขณะที่ นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ยืนยันว่า ก่อนที่จะเปิดประกาศเชิญชวนให้เอกชนเข้ามาดำเนินการในร้านค้าปลอดอากร ใน 4 สนามบิน และ ร้านค้าเชิงพาณิชย์ ในสนามบินสุวรรณภูมิ นั้น ทอท.ได้ศึกษาอย่างรอบด้านแล้ว ซึ่งทั้ง 2 โครงการ ไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมลงทุนปี 2562 และได้ดำเนินการตามมติ ครม. ที่ต้องตั้งคณะกรรมการกลางอย่างครบถ้วนแล้ว
อย่างที่ ”แก่ง หินเพิง” ฟันธงไปก่อนหน้าโครงการนี้มีการวางหมากดำเนินการกันเอาไว้ยิ่งกว่า ”เปิดถ้วยแทง” ใครหรือจะสอดมือเข้ามาเป็น ”ไอ้เข้ขวางคลอง” ได้
แม้แต่การยกร่างแก้ไข “พรบ.ร่วมทุนปี 62” หรือ พีพีพีใหม่ ที่มีเนื้อหาให้แยกโครงการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ หรือโครงการที่ใช้ทรัพย์สินของหน่วยงานรัฐจะทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน แต่หากเป็นการดำเนินการในกิจการเชิงพาณิชย์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะแล้ว ล้วน “ไม่เข้าข่าย” ที่ต้องดำเนินการตาม พรบ.ร่วมทุนใหม่ปี 2562 ฉบับนี้
ทั้งหมดล้วนอยู่ในสายตาของปลัดกระทรวงการคลังที่สวมหมวกประธานบอร์ด AOT ที่มีหรือจะพลาดตกม้าตายเอาได้
“แก่ง หินเพิง” ถึงฟันธงตั้งแต่ในมุ้งว่าใครจะเข้าวินกินรวบอภิมหาโปรเจ็กต์นี้ ยิ่งกว่า “เปิดถ้วยแทง”!
ยิ่งเมื่อย้อนรอยไปดูรายชื่อ ”สปอนเซอร์ใหญ่” โต๊ะจีน พปชร.ในวันนั้นที่คณะกรรมการ ปปช.ผ่าออกน้ำออกทะเลไปสอบประเด็นไหนไปก็ไม่รู้ ทุกฝ่ายจะถึง “บางอ้อ” นายทุนใหญ่ที่ใจป้ำเหมารวด 6 โต๊ะ 18 ล้าน ปรากฏชื่อหรา ชนิดไม่ต้องสาธยายกันมาก...เจ็บคอ!