ยังคงเป็นประเด็นสุดฮอตเป็น Talk Of The Town
กับเรื่องที่ นายกฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เคย "สัพยอก" นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ "30 บาทรักษาทุกโรค" ของรัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร” ในอดีตว่า เป็นนโยบายประชานิยมที่รังแต่สร้างภาระให้กับงบประมาณประเทศ และรังแต่จะทำให้โรงพยาบาลรัฐเจ๊งระเนระนาด เพราะรักษาแบบหว่านแหไปเสียทุกโรค
แต่วันวาน หลังสหประชาชาติและนานาชาติให้การยกย่องนโยบายดังกล่าวว่า เป็น "โมเดลต้นแบบ" ที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานกันถ้วนหน้า นายกรัฐมนตรีกลับลำโอ่ผลสำเร็จของนโยบายดังกล่าว ราวกับเป็นผลงาน “ชิ้นโบแดง” ของรัฐบาลตนเอง โดยไม่คิดจะให้ “เครดิต” รัฐบาลที่ริเริ่มนโยบายดังกล่าวแม้แต่น้อย
หากเป็นภาษาศาสตร์คงต้องบอกว่า "เกินกว่าฟรอยด์ (ซิกมุนด์ ฟรอยด์) จะจินตนาการจริงๆ ไอ้ที่เคยก่นด่าถล่มนโยบายเขาไว้จมดิน วันนี้กลับ “ชุบมือเปิบ” เคลมเป็นผลงานตนเองซะงั้น! จึงไม่น่าแปลกใจที่โลกโซเชียลจะติด “แฮชแท็ก” ถล่มนายกฯ ”ลุงตู่” จนระอุเป็นปรอทแตก!
........
เช่นเดียวกับเรื่องของรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. มูลค่าลงทุนกว่า 2.24 แสนล้านบาท ที่ รมว.กระทรวงคมนาคม ขีดเส้นตายให้บริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้งและพันธมิตร (CPH) ที่ชนะการประมูลสัมปทานโครงการนี้ไปแบบ “ม้วนเดียวจบ” ตั้งแต่ปีมะโว้ จะต้องเข้ามาเซ็นสัญญากับการรถไฟฯ ภายในวันที่ 15 ตุลาคม ศกนี้ หาไม่แล้วอาจถูกขึ้นบัญชีดำฐานเป็นผู้ละทิ้งงานตามระเบียบของทางราชการเอาได้
“รองนายกฯ อนุทิน (นายอนุทิน ชาญวีระกุล) เห็นว่า โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ มีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุน จึงหวังว่าวันที่ 15 ต.ค. 62 จะมีการลงนามสัญญาโครงการนี้ เพราะเรามีเงื่อนไขเวลาในการยืนราคาถึงวันที่ 7 พ.ย. หากไม่ดำเนินการรัฐจะต้องรับผิดชอบ ส่วนอะไรที่อยู่ในระเบียบข้อกฎหมาย และ RFP ที่รัฐต้องดำเนินการ รัฐจะดำเนินการให้ไม่ต้องกังวลว่า รัฐจะเอาเปรียบหรือมีการเลือกปฏิบัติ” ถ้อยแถลงของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ต่อสื่อมวลชนเมื่อวันก่อน
ฟังประกาศติของ รองนายกฯ อนุทิน ชาญวีระกุล และ รมว.คมนาคม ข้างต้นแล้ว ทุกฝ่ายได้แต่สะดุ้งเฮือก นี่รัฐกำลังจะสื่อว่า โครงการนี้รัฐบาลและการรถไฟฯ ถือไพ่เหนือกว่าคู่สัญญาเอกชนกระนั้นหรือ? กำลังจะบอกว่าที่ผ่านมาบริษัทเอกชนโยกโย้ ไม่ยอมลงนามในสัญญาถึงต้องขีดเส้นตายให้ต้องเข้ามาลงนามในสัญญา โดยรัฐหรือการรถไฟฯ จะไม่มีการเจรจาต้าอวยอะไรอีกแล้วกระนั้นหรือ?
ทั้งที่ข้อเท็จจริงนั้น ทุกฝ่ายต่างรู้อยู่เต็มอก มีโครงการสัมปทานใดที่มีเงื่อนไขสัมปทานดีที่สุดใน 3 โลก เทียบเท่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่ว่านี้ เพราะนอกจากเอกชนจะได้สัมปทานรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่ากว่า 2.24 แสนล้านบาทแล้ว ภาครัฐโดยการรถไฟฯ ยังต้องจัดหาเม็ดเงินสนับสนุนโครงการ 1.17 แสนล้านบาท ในระหว่างการก่อสร้างให้ด้วยอีก นอกจากนี้ยังได้ที่ดินทำเลทอง 150 ไร่ บริเวณสถานีมักกะสันมูลค่ากว่า 1.2 แสนล้าน ทั้งยังได้โครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ มูลค่า 2.5 หมื่นล้าน แถมพกไปด้วยอีก
เงื่อนไขที่เรียกได้ว่า “เกิดอีก 10 ชาติก็หาไม่ได้แล้วในสามโลก” เช่นนี้มีหรือที่บริษัทเอกชนจะอิดออดไม่รับไม้ต่อ
แต่มูลเหตุที่ทำให้การรถไฟฯ ไม่สามารถ “ปิดดีล” โครงการนี้ลงไปได้ ต้องยักตื้นติดกึกยักลึกติดกักมาแรมปีก็เพราะเงื่อนไขทางการเงินและข้อเสนอ “นอกกรอบ RFP” หรือเงื่อนไขทีโออาร์ที่ถูกสอดไส้เป็นบัญชีห่างว่าวแนบท้าย จนทำเอาคนรถไฟที่รับหน้าเสื่อเจรจาต้องโม่แป้งกันหลายสิบระลอก
เพราะบทเรียนจากโครงการสัมปทานงานรัฐกี่โครงการต่อกี่โครงการใต้ปีกกระทรวงคมนาคมที่ล้วนต้องจบลงด้วยค่าโง่สูบรัฐและประชาชนคนไทยจน “บักโกรก” นั้น ทุกฝ่ายต่างรู้แก่ใจกันดี ทุกโครงการก็ล้วนเกิดมาจาก ”ใบสั่ง” เร่งรัดโครงการแบบหน้ามืดตามัวและดั้นเมฆจะ “เอา...” ให้ได้นี่แหล่ะ แถมการรถไฟฯ นั้นก็เพิ่งจะผ่านบทเรียนจากกรณี “ค่าโง่โฮปเวลล์”2.5 หมื่นล้านบาท ที่จนป่านนี้ยังปิดบัญชีไม่ลง ยังไม่รู้จะบากหน้าหาเม็ดเงินจากที่ไหนมาจ่ายบริษัทเอกชนคู่สัญญาตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด จนต้องหาทางประวิงเวลาและซื้อเวลากันหน้ามืดอยู่เวลานี้
......
ประเด็นที่ผู้ปฏิบัติงานและฝ่ายบริหารรถไฟฯ ตลอดจนหลายภาคส่วนดาหน้าออกมาคัดง้างการประเคนโครงการสัมปทานนี้ไปให้กลุ่มทุนยักษ์นั้น ก็เพราะหวั่นกกรงว่า ท้ายที่สุดแล้ว โครงการนี้จะลงเอยด้วยการที่การรถไฟฯ อาจต้องเสียค่าโง่เจริญรอยตาม “ค่าโง่โฮปเวลล์” อีก
ด้วยการรถไฟฯนั้น ขาดประสบการณ์บริหารโครงการสัมปทานในลักษณะสัญญา “พีพีพี” จะมีก็แต่เป็นนายเขามาโดยตลอด รู้จักแต่การ “เซ็งลี้” ให้เช่าที่ดินรถไฟฯ หรือประมูลจัดซื้อ จัดจ้างทั่วไป ไม่เคยต้องมาบริหารจัดการในลักษณะโครงการร่วมลงทุนแบบรัฐ-เอกชนที่มีสถานะทัดเทียมกันแบบมาก่อน
ขนาดโครงการโฮปเวลล์สัญญาเดียว ที่ไม่ได้มีความสลับซับซ้อนอะไร การรถไฟฯ ยังปล่อยให้โครงการต้องจบลงด้วยค่าโง่นับหมื่นล้าน ที่จนป่านนี้ยังคลำทางไม่ออก แล้วนับประสาอะไรกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่ผนวกเอา 3 อภิมหาโครงการยักษ์รวมเข้าไว้ด้วยกัน
แถมยังมีรายการหมกเม็ดที่ยังเคลียร์หน้าเสื่อไม่แล้วเสร็จ โดยเฉพาะกรณีการส่งมอบที่ดินในแนวรถไฟความเร็วสูงกว่า 4,300 ไร่ การรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคของหน่วยงานอื่น ๆ อีกนับสิบหน่วยงานที่ยังไม่ได้เคลียร์หน้าเสื่อ รวมทั้งกรอบงบประมาณเงินชดเชยอุดหนุนโครงการที่รัฐและการรถไฟฯจะต้องบากหน้าไปหามา
“แม้แต่สำนักงานอัยการสูงสุดยังตั้งข้อสังเกตแนบท้ายร่างสัญญาที่จะลงนามกันว่า การรถไฟฯ จะต้องพึงระมัดระวังการบริหารสัญญา และโดยเฉพาะประเด็นในเรื่องของการเคลียร์หน้าเสื่อที่ดินที่ต้องส่งมอบคู่สัญญาเอกชน หาไม่เช่นนั้นอาจทำให้รัฐต้องถูกเอกชนฟ้องร้องจนกลบายเป็นค่าโง่เอาอีก”
จึงไม่แน่ใจว่าประกาศิตของรองนายกฯ อนุทิน ชาญวีระกุล และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ข้างต้นนั้น มี “วาระซ่อนเร้น” เพื่อการใดกันแน่?
เคลียร์หน้าเสื่อ “ค่าโง่โฮปเวลล์” 2.5 หมื่นล้านให้สะเด็ดน้ำก่อนจะดีไหม ฯพณฯ ท่านศักดิ์สยาม ชิดชอบ ที่เคารพ! ก่อนจะระอุค่าโง่ระลอกใหม่ให้คนไทยได้ดูต่างหน้า แบบที่นักการเมือง “เหลือขอบางคน” ทิ้งเอาไว้ในเวลานี้
เพราะจนป่านนี้ กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ยังไม่เคยตอบคำถามให้ประชาชนคนไทยได้กระจ่างเลยว่า ใครกันที่กระเตงแนวทางการบอกเลิกสัญญาสัมปทานสุดอัปยศในครั้งนั้น จนทำให้ประเทศชาติและประชาชนคนไทยต้องมา “แบกรับค่าโง่” นับหมื่นล้านบาทเช่นนี้
ลากตัวคนเหล่านั้นมารับผิดชอบอุจจาระที่ทิ้งเอาไว้ให้คนได้ดูต่างหน้าให้ได้เสียก่อนจะดีไหม... ก่อนจะไประอุ "ค่าโง่"ระลอกใหม่ขึ้นมาอีก!!!
โดย..แก่งหินเพิง