ภาษีที่เก็บจากชาวบ้านแล้วจัดสรรเป็นงบประมาณประชานิยม กระตุ้นคนระดับกลางให้ออกไปชิมช้อปใช้ไปท่องเที่ยวไปกิน ต่อเนื่องจากมาตรการอัดฉีดรากหญ้าผ่านบัตรประชารัฐ นโยบายเสพติดดังกล่าว เกิดประสิทธิภาพ กว่าใช้งบไปกับโครงการสร้างความสามารถแข่งขันประเทศแค่ไหน ในเมื่องบประมาณแต่ละปีมีน้อย ต้องใช้สอยให้ได้ประสิทธิผลที่สุด โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจโลกชะลอตัว กระทบไทยหดตัวหนัก ความเหมาะสมการใช้งบจึงมีความสำคัญมากข้อถกเถียงการใช้งบประมาณเพื่อหวังผลระยะสั้น เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลใช้งบประมาณอัดฉีดกลุ่มรากหญ้า ผ่านบัตรประชารัฐ เพราะเชื่อว่าถ้าใส่เงินลงไปกลุ่มรายได้น้อยคนกลุ่มนี้จะใช้จ่ายทันทีดันให้เศรษฐกิจหมุน หรือล่าสุดกระตุ้นกลุ่มคนระดับกลางโครงการชิมช้อปใช้ แจกเงินผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์หรืออีวอลลเลต คนที่ลงทะเบียนรายละหนึ่งพันบาท และคืนเงินให้ 4,500 บาทหรือ 15% ของการใช้จ่ายเงินท่องเที่ยวกินใช้ตามเงื่อนไข ซึ่งเร่งให้ต้องเริ่มใช้กลางเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยรัฐบาลอ้างเหตุใช้งบกระตุ้นสั้น เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจครึ่งปีหดตัวแรงมาก รายได้หลักส่งออกติดลบขณะที่การใช้งบประมาณเพื่อหวังผลระยะยาว วางรากฐานประเทศให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ รองรับแรงกระทบเศรษฐกิจโลกผันผวน อย่างการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โครงการเพิ่มความสามารถแข่งขันของประเทศ..อาทิ ระบบบริหารจัดการน้ำไม่ให้น้ำท่วมและเกิดภัยแล้ง เพราะไทยมีจุดแข็งด้านอาหาร ถ้ามีระบบชลประทานดีจะสร้างผลผลิตเกษตรได้ทั่วประเทศ งบประมาณด้านการศึกษา งบวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีในโลกสมัยใหม่..สิ่งนี้ทางการเมืองไม่นิยมจัดสรรงบประมาณให้ เนื่องจากเห็นผลไม่เร็วทันไปใช้หาเสียงเลือกตั้งครั้งหน้าความเห็นต่างดังกล่าว กูรูเศรษฐกิจระดับอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ทัศนะว่า การจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสม ต้องมีวินัยการคลัง ถ้าฐานะการคลังเข้มแข็ง สิ่งนี้ก็จะช่วยให้นโยบายการเงิน ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติดูแล สามารถผ่อนคลายได้มากขึ้น..หากมาตรการคลังกับมาตรการการเงิน มีการแทรกแซงอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช้อำนาจการเมืองมากดดันบีบบังคับ สิ่งนี้จะสร้างภูมิคุ้มกันให้เศรษฐกิจได้มากสำหรับหลักการรักษาวินัยการคลังโดยพื้นฐาน คือ ”รัฐบาลต้องไม่ใช้จ่ายเกินตัว” ถ้าจะใช้ ก็ต้องหารายได้มาให้พียงพอกับการใช้จ่าย ถ้าจะก่อหนี้ ต้องก่อหนี้แบบพอควร สามารถบริหารให้ไม่เป็นภาระต่องบประมาณ ไปเบียดบังจนไม่เหลืองบไปลงทุนพัฒนาประเทศด้านอื่นอย่างเช่นหนี้ของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจที่รัฐไปค้ำ รวมกันไม่ควรเกิน 40-50% ของรายได้ประชาชาติ โดยดูฐานะทางการเงิน สถานการณ์การเมือง สถานการณ์โลกประกอบ หากช่วงไหนดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล หนี้รัฐบาลอาจสูงขึ้นบ้างได้ ส่วนภาระชำระเงินต้นและดอกเบี้ยต่อยอดงบประมาณรายจ่าย ไม่ควรเกิน 20-25% ของงบรายจ่าย ส่วนเรื่องการก่อหนี้ต่างประเทศ รัฐบาลจะต้องไม่ก่อหนี้จนภาระชำระหนี้แต่ละปีสูงกว่า 9% ของรายได้จากการส่งออกและบริการ ในบัญชีเดินสะพัดด้านงบประมาณรายจ่าย มีกฎเกณฑ์กำหนดงบประมาณรายจ่ายประจำ จะสูงกว่างบประมาณรายรับไม่ได้ คือ..รัฐบาลจะไปกู้มากินไมได้ ถ้าจะกู้ต้องกู้มาเพื่อชดเชยงบลงทุนเท่านั้น เป็นการบังคับให้รัฐบาลต้องหารายได้มาให้พอกับความจำเป็นในการจ่าย ขณะที่ในแง่ความมั่นคงทางการเงินการคลัง จะดูดุลบัญชีเดินสะพัด ดุลบัญชีเงินทุน และดุลงบประมาณว่า จะต้องไม่ควรขาดดุล 2 ดุลพร้อมกันและเป็นเวลานาน เพราะเป็นสัญญาณร้ายภาพรวมพื้นฐานของวินัยการคลังดังกล่าว บางส่วนมีกฎหมาย มีข้อบังคับกำหนดไว้ หรือบางเรื่องเป็นข้อผูกพันกับเจ้าหนี้ต่างประเทศ ถ้าประเทศไทย ยังต้องกู้เงินต่างประเทศอยู่ก็ต้องสร้างความเชื่อมั่น โดยวินัยการคลัง มีความหมายมากกว่าแค่ดูเรื่องรายรับรายจ่าย ไม่ให้รัฐบาลใช้เกินตัว แต่ต้องดูการกู้ยืม การระดมเงิน การบริหารหนี้ การถ่วงดุลระหว่างกระทรวงให้ดำเนินตามนโยบาย ซึ่งผู้บริหารการคลัง ต้องกล้าออกมาเตือนสติผู้มีอำนาจ และสาธารณชน หากสิ่งนั้นกระทบเสถียรภาพทางการคลังดังนั้น การเติบโตของประเทศจะยั่งยืนได้ นโยบายที่รัฐควรใช้ จึงต้องสร้างสมดุลมาตรการการคลัง การเงิน จัดลำดับโครงการใช้งบประมาณ กระตุ้นสั้นกับสร้างประสิทธิภาพระยะยาวคู่ขนาน เพื่อส่วนรวมอย่างไม่มีวาระแฝงเร้นเท่านี้ก็ลงตัว!โดย..คนฝั่งธนฯ