บรรดากิจการยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย ทุกรายล้วนต้องเริ่มสร้างตัวจากรายเล็กรายน้อย หรือ เอสเอ็มอี มาก่อนทั้งนั้น..
ในโอกาสที่เจ้าสัว “ธนินท์ เจียรวนนท์” วัย 80 ปี ออกมาถ่ายทอดประสบการณ์เคล็ดลับสร้างอาณาจักรเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี ซึ่ง “ในอีกสองปีข้างหน้า หรือปี 2564 ก็จะครบ 100 ปี”
โดยปัจจุบัน “มีรายได้รวมทั้งกลุ่มทำได้ปีละเกือบ 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 2 ล้านล้านบาท”
สำหรับ “วิชาเศรษฐี” ในการสร้างตัว จากกิจการร้านขายเมล็ดพันธุ์พืช ขยายไปทำธุรกิจอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ แปรรูปเป็นอาหารครบวงจร รุกเกี่ยวเนื่องไปช่องทางจำหน่ายในธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง กระโดดไปทำอาหารสมอง ธุรกิจโทรคมนาคม ธุรกิจสื่อ แนวทางพัฒนากระบวนท่าฝ่าวิกฤตสารพัดรูปแบบ
ช่วง 5 ทศวรรษที่เจ้าสัวธนินท์เป็นคนนำทัพ เช่นวิกฤตลดค่าเงินบาทปี 2527 ลอยตัวค่าเงินบาทปี 2540 ผลกระทบทางการเมืองเปลี่ยนอำนาจ วิกฤตจากต่างประเทศ ถือเป็นประสบการณ์ที่ควรศึกษา
เรามาดู “หลักคิดที่ซีพี” ใช้พาองค์กรให้เติบโต จากทั้งมุมมองของ “เจ้าสัวธนินท์” เอง และมุมมองของสื่อต่างประเทศ
โดยในส่วนประสบการณ์ที่เจ้าสัวธนินท์ ถ่ายทอดด้วยตนเอง สรุปยอดความคิดออกมาในชื่อหนังสือ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว”
นั่นคือ..“อย่าสำลักความสำเร็จนาน”
และเมื่อโดนถามว่า..แล้วความล้มเหลว ควรเสียใจนานแค่ไหน? เจ้าสัวธนินท์ตอบว่า “เสียใจได้แค่วันเดียว”เช่นกัน
ขณะที่มุมมองจากสื่อต่างประเทศมองแปลออกมาในหนังสือชื่อ “ธนินท์ เจียรวนนท์ ความคิด ความเชื่อ และ ปรัชญา พลิกโฉมธุรกิจครอบครัวในเอเชีย สู่ธุรกิจระดับโลก”
ทั้งนี้เมื่อย้อนไปยุคเริ่มต้นที่ซีพียังเป็นธุรกิจครอบครัวเป็นรายย่อย หรือ เอสเอ็มอี
ความสามัคคี ถือเป็นเรื่องสำคัญ ถึงกับมี “กฎเหล็ก” เพื่อรักษาความสามัคคีปรองดองของครอบครัว คือ
1. ลูกชายที่แต่งงานแล้ว ต้องออกจากบ้าน กฎข้อนี้เป็นกฎที่สืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อ มีไว้ป้องกันข้อขัดแย้งระหว่างพี่น้อง เพราะลูกชายที่แต่งงานแล้วยังอยู่บ้านใหญ่ต่อไป ย่อมมีโอกาสเกิดการกระทบเรื่องส่วนตัว ที่จะลามไปเรื่องครอบครัวได้
2. ห้ามมิให้ผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นภรรยา สะใภ้ บุตรสาว เข้ามาเกี่ยวข้องกับธุรกิจครอบครัว ถ้าต่างคนต่างเอาคนของตนเองเข้ามา โอกาสที่คนเก่งๆ จะเข้ามาก็มีน้อยลง และพี่น้องถึงจะทะเลาะกันอย่างไรก็ยังเป็นพี่น้อง แต่ถ้ามีภรรยาเข้ามาเกี่ยวข้อง พี่น้องก็อาจจะแตกกันได้
กฎเหล็กข้อที่ 3. รู้จักให้อภัยพี่น้อง สร้างความกลมเกลียว แม้วางกฎ 2 ข้อแรกไว้ป้องกัน แต่การทำธุรกิจระหว่างพี่น้อง ย่อมต้องมีความเห็นขัดแย้ง หรือกระทั่งเรื่องส่วนตัว จึงต้องมีกฎข้อนี้ไว้เพื่อรักษาความเป็นปึกแผ่นให้ครอบครัวและธุรกิจ
กฎข้อนี้สำคัญมาก ยิ่งเราดึงมืออาชีพเข้ามาทำงาน แน่นอนว่าต้องกระทบกับสถานะของคนในครอบครัว ถ้าพี่น้องไม่มีการให้อภัยกันบ้านก็แตก ต้องเข้าใจว่าเราทำเพื่อระบบ ไม่ใช่เพื่อส่วนตัวหรือเพื่ออำนาจ แต่ทำเพื่อส่วนรวม
และ 4. ไม่เห็นแก่ตัว อดทนเสียสละเพื่อพี่น้องและครอบครัว จะทำอะไรพี่น้องต้องได้ด้วย ครอบครัวต้องได้ ส่วนตัวเราได้เป็นอันดับสาม อย่าคิดว่าในพี่น้องที่มีกันอยู่สี่คน เมื่อเราทำมากได้มา 100 เราควรจะได้ 70 พี่น้องอีกสามคนได้คนละ 10 แต่ต้องคิดว่า เราต้องทำให้ได้ 400 เพื่อจะได้แบ่งให้ได้คนละ 100 เท่านี้เราก็ได้มากกว่า 70 แล้ว
เจ้าสัวธนินท์บอกว่า หลักคิดนี้ นำมาซึ่งหลักขององค์กรเครือซีพี ต้องยึดหลัก 3 ประโยชน์ คือ..“ต้องให้ประเทศชาติได้ประโยชน์, ประชาชนได้ประโยชน์ แล้วบริษัทถึงได้ประโยชน์”
..ความเห็นแก่ตัวเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ถ้าไม่มีจิตใจตรงนี้ เราจะกลุ้มใจ ชีวิตไม่มีความสุข อายุสั้น เงินได้มาก็ไม่เป็นสุข พี่น้องด่า สังคมด่า แล้วเราก็ใช้ไม่หมด เอาไปให้ลูกหลาน ทางลูกหลานก็ผลาญ เสียอนาคต ถ้ารู้จักให้ พี่น้องก็จะรักจะเคารพ มีความสุขมากกว่ามีเงินมากเสียอีก ต้องรู้จักเสียเปรียบให้เป็น อย่าไปเอาเปรียบ..
ด้านมุมมองของสื่อต่างประเทศ วิลเลียม เมลเลอร์ ผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่รู้จักซีพีเมื่อครั้งไปทำข่าวที่ประเทศจีนเมื่อ 25 ปีก่อน และทำข่าวในประเทศแถบเอเชียรวมทั้งในไทย มองความสำเร็จของธนินท์มาจากหลัก 5 ประการที่นำมาใช้คือ..
1. ค่านิยม
2. วิสัยทัศน์
3. นวัตกรรมและเทคโนโลยี
4. การสร้างพันธมิตรธุรกิจ
และ 5. ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาบุคลากร
โดยค่านิยมของซีพีมี 6 เรื่อง คือ “สามประโยชน์ ทำเร็วและมีคุณภาพ ทำเรื่องยากเป็นเรื่องง่าย ยอมรับการเปลี่ยนแปลง สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ซื่อสัตย์และมีคุณธรรม”
ภาพรวมทั้งหมดคงเห็นได้ว่า เมื่อกิจการยังเล็กหรือเอสเอ็มอีต้องคิดอย่างไร เมื่อองค์กรใหญ่ขึ้นต้องประยุกต์ขึ้นมาเป็นแบบไหน ถึงทำให้กิจการเจริญไกลระดับโลก มีรายได้รวมปีละล้านล้านบาท
โดย..คนฝั่งธนฯ