คงเป็นเพราะเห็นการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และกระทรวงคมนาคมตีปี๊บผลงานชิ้นโบแดงในการ “ปิดดีล” โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มูลค่า 2.24 แสนล้านบาท ที่การรถไฟฯ จะลงนามในสัญญากับบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง และพันธมิตร (CPH) ในวันที่ 25 ตุลาคมศกนี้หรืออย่างไรไม่ทราบ
วันวาน "คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ" หรือ กสทช. เลยคิดจะ "แย่งซีน" อวดผลงานชิ้นโบแดงไปกับเขาด้วย จึงออกมาตีปี๊บผลงานล่าสุดในการปรับปรุงลดอัตราค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรศัพท์ที่เป็น "อัตราเดียว" (Single Rate) ทั้งในส่วนของเลขหมายโทรศัพท์ประจำที่ และบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่บอร์ด กสทช. เพิ่งอนุมัติกันออกไป และเตรียมบรรจุไว้ในร่างประกาศ กสทช. ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคมใหม่ที่จะนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะภายในเดือนตุลาคมนี้
หากพิจารณากันอย่างผิวเผิน ทุกฝ่ายย่อมเข้าใจว่า การปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมเลขหมายใหม่ดังกล่าว น่าจะเป็นแนวทางในการสร้างความเป็นธรรมและทัดเทียมให้แก่ผู้ประกอบการโทรคมนาคมทั้งระบบ เพราะที่ผ่านมา การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรศัพท์ของแต่ละโอเปอเรเตอร์ แต่ละค่าย (หรือแม้แต่ค่ายเดียวกัน) ก็มีความแตกต่างกันลิบลับ
บางล็อตต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเลขหมายเพียง 1 บาท/เลขหมาย/เดือน บางล็อตต้องจ่าย 2 บาทต่อเลขหมายต่อเดือน ทำให้อัตราค่าธรรมเนียมบริการเลขหมายแต่ละค่ายแตกต่างกัน เฉลี่ยตั้งแต่ 1.38 บาท ไล่ไปจนถึง 1.93 บาทต่อเลขหมาย/เดือน เมื่อ กสทช. จะ “ล้างไพ่” กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมเลขหมายทั้งระบบให้เป็นมาตรฐานตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความทัดเทียมและเป็นธรรมกับทุกค่าย ก็น่าจะเออออห่อหมกเห็นดีเห็นงามไปด้วย
แต่เมื่อคลี่ลงไปดูไส้ในของแผนปรับปรุงค่าธรรมเนียมเลขหมายที่ว่า กลับพบว่า มีรายการ “หมกเม็ด” เอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มทุนสื่อสารบางค่ายเท่านั้น โดยที่ประชาชนคนไทยโดยทั่วไปได้แต่นั่งทำตาปริบๆ แถมผู้ประกอบการบางราย โดยเฉพาะบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) รัฐวิสาหกิจของรัฐเองที่ปกติก็ "หืดจับ" หายใจไม่ทั่วท้องกับตลาดโทรคมนาคมที่แข่งกันดุเดือดอยู่แล้ว แต่ผลพวงจากการปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมเลขหมายใหม่ดังกล่าว กลับทำให้ กสท ต้องแบกรับภาระจ่ายค่าธรรมเนียมเลขหมายเพิ่มขึ้นซะงั้น
ส่วนบริษัทสื่อสารโทรคมนาคมที่รับ “ส้มหล่น” ได้อานิสงส์จากการปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมเลขหมายใหม่ไปเต็มๆ ชนิดไม่มีวัวปนเลย กลับเป็นบริษัทสื่อสารในกลุ่มทุนยักษ์ที่ได้ชื่อว่า “กินรวบ” ทุกธุรกิจในประเทศไทยไปแล้วนั่นแหล่ะ
และล่าสุดรัฐบาลและการรถไฟฯ ก็กำลังเร่งสร้างผลงานประเคนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินไปให้อยู่ในเวลานี้นั่นแหละ
ทั้งที่ก่อนหน้านี้ บริษัทสื่อสารรายนี้ ก็ปาดหน้าวงการดอดไปทำสัญญาทางการตลาดกับหน่วยงานรัฐชิงเปิดให้บริการมือถือระบบ 3 จี และ 4 จี ไปก่อนใครร่วมปี โดยที่ กสทช. ได้แต่นั่งทำตาปริบๆ หลักเกณฑ์และกฎหมายที่มีอยู่ในมือต่างเอื้อมไม่ถึง แถมยังได้รับการเอื้ออาทรจาก กสทช. ในการให้บริการโอนย้ายเลขหมาย ย้ายค่ายและเปิดซิมเปิดเบอร์ใหม่ ทั้งที่ตามประกาศ กสทช. จะต้องดำเนินการตามระบบ “ซิมอัปลักษณ์” เอ้ย! “ซิมอัตลักษณ์ 2 แชะ” ต้องแสดงตัวตนผู้ขอเปิดซิมการ์ดใหม่มาตั้งแต่ปีมะโว้
แต่ค่ายมือถือเจ้านี้ก็กลับได้รับการยกเว้นมาเป็นแรมปี จนเรื่องมาแดงโฉ่จากมิจฉาชีพที่ฉวยโอกาสหลอกเอาบัตรประชาชนผู้คนหลายพื้นที่ไปเปิดซิมการ์ดใหม่เอาเบอร์ไปก่ออาชญากรรมจนสนั่นเมืองนั่นแหละ กสทช. ถึงงัวเงียลุกขึ้นมาปราม แต่ก็ไม่มีการลงโทษอะไรใดๆ
มาหนนี้ ก็นัยว่า ผลพวงจากการปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมเลขหมายก็ทำให้บริษัท เรียลมูฟ จำกัด ในกลุ่มทรูที่มีเลขหมายใหม่ที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในอัตรา 2 บาท อยู่ถึง 50 ล้านเลขหมาย หรือกว่า 70% ของเลขหมายที่มีได้รับอานิสงส์จาการปรับปรุงค่าธรรมเนียมครั้งนี้ โดยสามารถลดค่าธรรมเนียมจากที่ต้องจ่ายเดือนละกว่า 105 ล้านบาท หรือเฉลี่ยเลขหมายละ 1.93 บาท/เลขหมาย/เดือน ลงมาเหลือแค่ 88.5 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 1.62 บาท/เลขหมาย/เดือน ขณะที่ค่ายอื่น ๆ นั้นได้อานิสงส์ส่วนลดค่าธรรมเนียมเลขหมายที่ว่านี้ แค่ 0.02 บาทต่อเลขหมายเท่านั้น ก็แทบจะไม่มีผลอะไรจากการปรับปรุงค่าธรรมเนียมเลขหมายใหม่ที่ว่านี้
ส่วนประชาชนคนไทยโดยทั่วไปจะได้อานิสงส์อะไรจากการที่ กสทช. ปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมที่ว่านี้ ไม่ต้องไปสรรหาคำตอบให้เสียเวลาหรอกครับ ไม่ถูกกระซวกไส้ให้ต้องจ่ายเพิ่มก็ดีถมถืดไปแล้ว
โดย..แก่งหินเพิง