วินาทีนี้..ดอกเบี้ยแพง-บาทแข็ง
หมากแก้ที่รัฐบาลต้องบอกทุกความจริง!
อาการเข็ดขยาดของทางการไทย กับภาพสะท้อน “ดอกเบี้ยแพง - เงินบาทแข็งค่า” จากปมเงินดอลลาร์ไหลทะลักเข้าไทย จนส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจทุกมิติ ฉะนั้น “หมากแก้” ที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำมาใช้ ต้องเป็นไปในแบบการสื่อสารให้คนไทยได้รับรู้หมดเปลือกและทั่วกัน
นโยบาย “อเมริกัน เฟิร์สท์ : American First” ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กลายเป็น “ตัวปัญหา” และสร้างสงครามการค้าไม่เฉพาะกับคู่แข่งสำคัญ อย่าง...จีน เพราะแม้แต่กลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) กลุ่มประเทศอเมริกากลางยันอเมริกาใต้ หลายชาติในเอเชีย รวมถึงไทย ต่างโดนหางเลขจากนโยบายของ ปธน.ทรัมป์ ทั้งสิ้น
การดำเนินนโยบาย “ตรงกันข้าม” กับทิศทางเดิมของรัฐบาลสหรัฐฯก่อนหน้านี้ ไม่เพียงฉุดการค้าเสรีของเวทีโลกให้หยุดชะงัก หากยังทำลายระบบเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับโลก ลงไประดับทวีป และระดับประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯเอง
และเพราะผลพวงจากนโยบาย “อเมริกัน เฟิร์สท์” ที่...ผลประโยชน์ของสหรัฐฯจะต้องมาก่อนนั้น ส่งผลทำให้การค้าในเวทีโลกเริ่มสั่นคลอน กระทบระบบเศรษฐกิจในภาคส่วนต่างๆ ทั้งกับตลาดเงิน ตลาดทุน การส่งออกและนำเข้า รวมถึงอัตราดอกเบี้ยและค่าเงินสกุลสำคัญๆ ของโลก
ทฤษฎี “ผลตอบแทนย่อมไหลจากที่ต่ำไปหาที่สูง” กล่าวคือ ที่ใดให้ผลตอบแทนจากการลงทุนสูงและความเสี่ยงไม่มากนัก ย่อมเป็น “แดนสวรรค์ของนักลงทุนทั่วโลก”
ในยามที่อัตราดอกเบี้ยของไทยยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ท่ามกลางความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ หลังพบตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็น...ดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลมาต่อเนื่องในรอบหลายปี และการที่ประเทศไทยมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ สูงติดอันดับต้นๆ ของโลก เมื่อผสานกับความเข้มแข็งของค่าเงินบาทของประเทศไทย ยิ่งทำให้เงินทุนจากทั่วโลก ไหลเข้ามาแสวงหาผลกำไรจากการลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น
อย่างน้อย...ก็มาแวะพัก เพื่อหลบลมร้อนแห่งสงครามการค้าระหว่าง 2 มหาอำนาจ “สหรัฐฯ-จีน”
เมื่อมีเงินทุนในรูปของเงินสกุลดอลลลาร์ ไหลเข้าประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะมาด้วยวัตถุประสงค์ใด แต่นั่น...ยิ่งตอกย้ำและทำให้ค่าเงินบาทของไทย ยิ่งแข็งโป๊ก! มากขึ้นไปอีก
ผลกระทบที่มีตามมา ก็คือ...การส่งออกของประเทศไทย ที่ได้รับผลพวงจากพิษสงครามการค้าฯอยู่แล้ว ยิ่งดูจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น นั่นเพราะ...ค่าเงินบาทที่แข็ง ทำให้ราคาสินค้าไทยในตลาดโลกแพงตามไปด้วย ไม่เพียงแค่นั้น...รายได้จากการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะฝั่งจีนและฟากตะวันตก รวมถึงจากที่อื่นๆ ต่างพลอยได้รับผลกระทบตามกันมา กล่าวคือ เมื่อเงินบาทแข็งค่ามากยิ่งขึ้น ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาท่องเที่ยวและระหว่างพักอาศัยในประเทศไทย ย่อมแพงขึ้นไปเงาตามตัว
สถานการณ์เช่นนี้ ย่อมสร้างปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมาก..
แล้วยิ่งแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลก ถูกฉุดให้ต่ำลง อันเป็นผลพวงจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศปรับลดเป็นครั้งที่ 3 ของปีนี้ ยิ่งทำให้ช่องว่างของอัตราดอกเบี้ย “ถ่าง” ออกไปทุกขณะ
ธนาคารกลางของประเทศใด...ยังคง “นิ่งเฉย” ต่อปฏิกิริยาการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด และธนาคารกลางอื่นๆ ทั่วโลก ย่อมมีความเสี่ยงที่จะต้องแบกรับปัญหา “เงินทุนไหลเข้า” เพื่อแสวงหาผลกำไรจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย และทำให้ค่าเงินของประเทศนั้นๆ “แข็งตัว” เหมือนที่ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาเช่นนี้อยู่
ล่าสุด คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จำเป็นจะต้องดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาดอกเบี้ยแพง และนั่นทำให้ผลการประชุม กนง. เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยมติของคณะกรรมการฯที่มีออกมา 5 : 2 เห็นชอบให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% เหลือ 1.50-1.75% นั้น
นัยว่า...น่าจะพอช่วยลดปัญหาเงินทุนไหลเข้าไทยได้บ้าง แต่ทว่าเหตุผลที่ กนง. โดยนายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. ในฐานะเลขานุการ กนง. ระบุเอาไว้ คือ การตัดสินใจครั้งนี้ กนง. ประเมินแล้วเห็นว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ และต่ำกว่าศักยภาพมากขึ้น จากการส่งออกที่ลดลง ส่งผลกระทบต่อภาวะการจ้างงาน และอุปสงค์ภายในประเทศ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ และภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลาย เนื่องจากเสถียรภาพระบบการเงินได้รับการดูแลไปแล้วบางส่วน อย่างไรก็ตาม กนง.เชื่อว่ายังคงมีปัจจัยเสี่ยงให้ต้องติดตามต่อไป
“กรรมการส่วนใหญ่เชื่อว่า หาก กนง.ดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น น่าจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมาย ดังนั้น เสียงส่วนใหญ่จึงเห็นควรให้ลดอัดดอกเบี้ยนโยบายลงระหว่างการประชุมครั้งนี้ สำหรับกรรมการ 2 ท่านที่มีความเห็นต่างออกไป เนื่องจากเชื่อว่า ในภาวะปัจจุบันที่นโยบายการเงินอยู่ในระดับผ่อนคลายอยู่แล้ว การลดอัตราดอกเบี้ยอาจไม่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มได้มากนัก เมื่อเทียบกับความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินที่อาจเพิ่มสูงขึ้น” เลขานุการ กนง. ระบุ และย้ำว่า กนง. จำเป็นต้องรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัดเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ท่าทีของ กนง.ต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมา 0.25% ดูแล้ว...ไม่น่าจะแก้ไขปัญหาของระบบเศรษฐกิจและค่าเงินบาทที่แข็งตัว จนส่งผลกระทบต่อหลายปัจจัยทางเศรษฐกิจ และนั่นจึงเป็นสาเหตุทำให้ ธปท. ภายใต้การนำของ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. ที่ออกมาระบุถึงแนวทางในการสกัดและยับยั้งไม่ให้ค่าเงินบาทของไทย “แข็งตัว” มากไปกว่านี้
โดยเขาให้เหตุผลว่า ทั้ง ธปท.และ กนง. ต่างเป็นกังวลใจกับการแข็งค่าของเงินบาท และกำลังพิจารณา 3 มาตรการเพื่อแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่า โดยมาตรการกลุ่มแรก คาดว่าจะออกมาใน 1-2 เดือนข้างหน้า นั่นคือ “การทำให้เงินตราต่างประเทศที่ไหลเข้าและไหลออกเกิดความสมดุลมากขึ้น”
ทั้งนี้ เพราะความเข้มแข็งด้านการเงินระหว่างประเทศของไทยมีเพิ่มมากขึ้น “จำเป็นจะต้องเปิดเสรีให้นักลงทุนไทย ทั้งรายบุคคลและนักลงทุนสถาบัน นำเงินไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น” ขณะเดียวกัน ยังต้องออกมาตรการที่ให้ผู้ประกอบการส่งออกสามารถพักเงินในต่างประเทศได้ โดยยอมให้มีรายได้จากสกุลเงินต่างประเทศ และไม่จำเป็นต้องโอนเงินกลับมาไว้ในประเทศไทย
นอกจากนี้ ธปท.ยังเปิดให้ผู้ประกอบการได้เข้ามาทำธุรกิจด้านเงินตราต่างประเทศและการโอนเงินข้ามประเทศมากขึ้น เพื่อช่วยลดต้นทุนการโอนเงินการทำธุรกรรมในประเทศ
สำหรับชุดมาตรการกลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 3 นั้น ผู้ว่าการ ธปท. ระบุว่า จะเน้นการดูแลเม็ดเงินไหลเข้าไหลออก โดยเฉพาะทองคำ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาเงินไหลเข้าไหลออกด้านของทองคำได้เข้ามาสร้างแรงกดดันในเรื่องของค่าเงินบาทแข็งตัวมากขึ้น โดยธปท.จะเข้าไปดูในเรื่องนี้ เพื่อลดแรงกระแทก และไม่ให้มีผลกระทบต่อค่าเงินบาท อย่างไรก็ดี ไม่ใช่วิธีการจำกัด หรือควบคุมการซื้อขายทองคำ
รวมถึงการดูเชิงโครงสร้างการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด โดยการออกมาตรการลดการเกินดุลบัญชีสะพัด ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน อาทิ ภาครัฐที่มีหลายโครงการขนาดใหญ่ หากเดินตามแผนที่วางไว้ได้เร็วก็จะส่งผลให้การนำเข้าสินค้าเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เช่น 5G สมาร์ทซิตี้ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี การลงทุนเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องนำเข้าอุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นอุปกรณ์สำคัญ ซึ่งสามารถใช้โอกาสในภาวะเช่นนี้ส่งเสริมให้เกิดการนำเข้า เพื่อวางรากฐานของเศรษฐกิจดิจิทัล และหากทำมาตรการดังกล่าวที่ว่ามานี้จะทำให้ลดแรงกดดันของค่าเงินบาทได้มากขึ้น
รวมถึงมาตรการอื่นๆ ที่จะมีตามมาในอนาคตอันใกล้ เป้าหมายก็เพื่อ...สกัดกั้นไม่ให้มีแต่เงินสกุลต่างประเทศ ไหลเข้ามาในประเทศไทยเพียงฝั่งเดียว รวมถึงไม่ต้องการจะเห็นเงินบาทที่แข็งค่ามากเกิน เพราะมันจะส่งผลกระทบตามมา อย่างที่ “สำนักข่าวเนตรทิพย์ ออนไลน์” เขียนอธิบายในตอนต้น
ถึงตรงนี้...เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย ต่างตกที่นั่งคล้ายๆ กัน กล่าวคือ อยู่ภาวะ “เสี่ยง” ที่ไม่ต่างกันนัก เพียงแต่เศรษฐกิจโลก มันยิ่งใหญ่และมากเกินกว่าที่รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้าไปควบคุมดูแลได้
สิ่งที่ทำได้คือ การดูแลตัวเองทั้งระบบ ตั้งแต่ระดับจุลภาคและระดับมหาภาค ขอเพียงแค่...รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง ที่กำกับดูแลนโยบายการคลัง และ ธปท. ที่คอยดูแลนโยบายด้านการเงิน จะคิดอ่านและผลักดันมาตรการใดๆ ออกมานั้น
ต้องบอกให้คนไทยและภาคธุรกิจไทย...ได้รับรู้ทั่วกัน อีกทั้งยังต้องหาทางสื่อสารหรือบอกให้คนไทยได้รับรู้ข้อมูลกันแบบครบถ้วนในทุกมิติ อย่าได้ “กั๊กข้อมูล” หรือเบียดบังการกระทำอันเป็นภาพลวงตาเด็ดขาด!
เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว...ผลเสียของความล้มเหลวในระบบเศรษฐกิจ ตั้งแต่ระดับรากหญ้า จนถึงระดับแก่นอันเป็น “เสาหลัก” ของภาคธุรกิจไทย ย่อมส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย กระทั่ง ทำลายทุกอย่าง แม้กระทั่ง...ความเข้มแข็งของรัฐบาลเอง